อุบลราชธานี - ชาวอุบลราชธานีวอนเจ้าหน้าที่รัฐซื่อสัตย์ สุจริต บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ขอกระจายอำนาจการจัดการเลือกตั้ง นักการเมืองโกงตัดสิทธิลงเลือกตั้งตลอดชีวิต พร้อมชงตั้งสภาวิชาชีพสื่อดูแลกันเองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการได้จัดเวทีการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัด ร่วมกับนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคประชาสังคม
โดยการประชุมครั้งนี้มีการนำข้อมูลจากการจัดเวทีทั้ง 25 อำเภอมาร่วมสรุปเสนอให้รัฐบาลนำไปใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนนโยบายให้ตรงตามความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น โดยมีกลุ่มตัวอย่างจากการจัดเวทีจำนวน1,488 คน ซึ่งสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชน 18 ด้าน
แต่คณะทำงานได้คัดกรองเหลือ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การปกครองท้องถิ่น ด้านสังคมชุมชนเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสุดท้ายด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ซึ่งแต่ละประเด็นได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนใจแต่ละประเด็นได้เสนอความเห็น และได้ข้อสรุปพอว่ากลุ่มการเมืองต้องการให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบและการตัดสินใจที่รวดเร็วเป็นธรรม ให้มีองค์กรระดับจังหวัดมีอำนาจเต็มในการจัดการปัญหาหรือเป็นกลุ่มจังหวัดเข้ามาร่วมในกระบวนการ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
นอกจากนั้น เสนอให้มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเสนอให้นับคะแนนการเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้ง เพื่อตัดปัญหาการทุจริตโกงคะแนน
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านเสนอให้มีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปีเพื่อป้องกันการผูกขาด พร้อมเสนอให้ยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลทุกแห่งทั่วประเทศ พร้อมเห็นว่า อปท.มีระบบงานที่ซ้ำซ้อน และขอให้คืนงบประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นงบพัฒนาให้กับจังหวัด
และให้บัญญัติมาตรการลงโทษนักการเมืองทุจริต โดยให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต พร้อมให้มีการตั้งศาลคอร์รัปชัน เพื่อป้องกันปัญหาการแทรกแซงจากทางการเมือง
ด้านการศึกษา ให้มีการกระจายอำนาจ ลดอำนาจเขตการศึกษาให้เล็กลง บางส่วนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดตั้งศูนย์เด็กอัจฉริยะ พร้อมทั้งให้จัดสรรงบประมาณ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรชั้นปฐมวัยถึง 12 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้มีการเรียนรู้ได้เร็วและเป็นพื้นฐานการเรียนการสอนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
ด้านสื่อมวลชน ศิลปะ วัฒนธรรม ต้องการให้ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งระดับภูมิภาคและระดับชาติ เพื่อตรวจสอบดูแลสื่อด้วยกันเอง พร้อมเสนอให้ผู้ทำหน้าที่พิธีกรสื่อสถานีโทรทัศน์ระมัดระวังเรื่องการแต่งกายและการใช้ภาษา ส่วนเรื่องศิลปวัฒนธรรมเน้นสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยที่ยั่งยืน
ด้านการศาสนา เสนอให้มีกฎหมายตรวจสอบทรัพย์สินทั้งของวัดและผู้ครองสมณเพศด้านพลังงานและแรงงาน ให้รัฐบาลกำหนดกฎหมายและทิศทางพลังงานแห่งชาติ เพื่อสร้างองค์กรกลุ่มพลังงานสอดคล้องกับความต้องการและต้นทุนที่เป็นจริง
สำหรับเรื่องแรงงาน ให้กำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานตามสภาพความเป็นจริงในแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นการผ่อนคลายปัญหาจากนายจ้าง ด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิตามโรงพยาบาลชุมชน พร้อมให้ความสำคัญการสร้างเสริมสุขภาพ โดยจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ
สุดท้ายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต นำกฎหมายที่มีมาบังคับใช้โดยเคร่งครัดและเสมอภาคกับประชาชนทุกระดับ
หลังการสรุปข้อมูลจากเวทีปฏิรูปของจังหวัดอุบลราชธานี นายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี ยืนยันจะนำเสียงสะท้อนจากประชาชนทุกประเด็นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไปตามคำนิยามที่ว่า “สปช.ต้องฟังเสียงประชาชน และประชาชนต้องได้ยินเสียง สปช.” จึงจะนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน