ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสียหลัก เสียเหลี่ยม กันไปไม่น้อย สำหรับองคาพยพของ คสช. ที่ติดป้ายว่าเป็นยุคปฏิรูป แต่มาถูกแฉเรื่อง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งลูก เมีย เครือญาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ช่วย กินเงินเดือนหลวง
แม้จะไม่มีข้อกฎหมายห้ามไว้ แต่เอาเรื่องจริยธรรม จิตสำนึก มาจับ มันก็ชัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ อย่าอ้างเลยว่า เงินเดือนน้อย ถ้าไปหาคนอื่นมาทำแล้วไม่มีใครรับ เลยต้องตั้งลูก เมีย เพราะคนฟังเขาจะรู้สึกเหยียดหยามหนักเข้าไปอีก
สุดท้ายก็มีสัญญาณสั่งถอยมาจากระดับบนของคสช. โดยผ่านไปทาง วิปสนช. ที่ประชุมกันแล้วออกมาบอกว่า มติวิปเห็นควรว่า ใครที่ตั้งลูก เมีย เครือญาติมาช่วยงาน ขอให้ไปจัดการทำเรื่องลาออกด้วย
ทางสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ก็เช่นกัน เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ออกมาบอกกับสมาชิกเช่นกันว่า หากใครเอาเครือญาติ มาเป็นผู้ช่วย ก็รีบไปจัดการลาออกเสีย เพราะกระแสสังคมรับไม่ได้
อีกเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจว่า สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร ก็คือกรณี อาจารย์ เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะ อนุกรรมาธิการ ร่างบทเฉพาะกาล ออกมาเสนอ ว่า ในบทเฉพาะกาล ควรจะกำหนดเรื่องตัดสิทธิทางการเมืองของพวกแม่น้ำ 5 สาย คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าไม่ได้เข้ามาร่างกติกาเพื่อหวังสืบทอดอำนาจ
ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างฯนั้นไม่มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้แล้วว่า จะต้องเว้นวรรค แต่พวกแม่น้ำอีก 4 สายไม่ได้กำหนดข้อห้ามไว้แต่แรก ทำให้มีเสียงร้องกันระงม โดยเฉพาะพวก สนช. และ สปช.
อย่างเช่น คนระดับรองประธาน สนช. บอกว่าจะมาตัดสิทธิกันตอนนี้ไม่ได้ ทำไมไม่กำหนดไว้แต่แรก จะได้ไม่เข้ามาเป็นสนช. อีกทั้งตำแหน่งนี้ก็เป็นการเข้ามาทำหน้าที่แทน ส.ส.-ส.ว. ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการยกร่างรัฐธรรมนูญเลย ถ้าจะตัดสิทธิกันจริงขอให้รีบสรุปมา จะได้ลาออก
หรืออย่าง สมาชิก สปช. ก็เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสปช. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แค่เสนอความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการปฏิรูปเท่านั้น ถือว่าไม่เป็นธรรม ถ้าจะห้ามจริง ก็ต้องทำให้สุด ต้องตัดสิทธิอดีตส.ส. อดีตส.ว. อดีตรัฐมนตรีทั้งหมดด้วย
เชื่อว่า ความคิดนี้ อาจารย์เจษฎ์ ก็รู้ตั้งแต่ก่อนพูดแล้วว่าคงเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงแม้จะผ่านความเห็นชอบในชั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ถูกตีตกในชั้นการพิจารณาของ สปช. และ คสช. อยู่ดี แต่ก็อยากปล่อยมุกออกมาจี้ใจดำคนกลุ่มนี้ดู ก็ปรากฏว่ามีคนออกมาเต้นกันเป็นพรวน ป่านนี้ อาจารย์เจษฎ์ คงนั่งอมยิ้ม
แต่จะว่าไปแล้ว ความคิดเรื่องตัดสิทธินี้ก็ไม่ไม่น่าจะถูกต้อง หมดจดเสียทีเดียว เพราะต้องไม่ลืมว่า ในบรรดาสมาชิกแม่น้ำทั้ง 4 สายนี้ ก็มีคนดี มีความรู้ ความสามารถ ตั้งใจเข้ามาทำงานอย่างทุ่มเท หวังปฏิรูปประเทศด้วยใจบริสุทธิ์ อยู่ไม่น้อย หากถูกตัดสิทธิ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เสียโอกาสของประเทศชาติ
อีกเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาก และยังไม่หลุดไปจากกระแส คือ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นสภาลากตั้ง ไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
โดยกรรมาธิการยกร่างฯ ได้สรุปเรื่องนี้ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงที่ไปประชุมกันที่พัทยา ว่า ให้มีสมาชิกวุฒิไม่เกิน 200 คน มีวาระ 6 ปี ห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 1 วาระ มาจากเลือกตั้งทางอ้อม 5 ช่องทาง เพื่อให้ได้ ส.ว.มาจากผู้แทนหลากหลายสาขาอาชีพ โดยมาจาก
1. อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเกิน 5 ปี เลือกกันเอง ให้ได้ไม่เกิน 10 คน
2. อดีตข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า อดีตข้าราชการทหาร ตำแหน่ง ปลัดกระทรวง ผบ.สูงสุด หรือ ผบ.เหล่าทัพ อดีตพนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตำแหน่งหัวหน้าองค์กร ทั้ง 3 ประเภทนี้ เลือกกันเองให้ได้ประเภทละไม่เกิน 10 คน
3. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน
4. องค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ (ยกเว้นองค์กรสื่อมวลชน) เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน
5. ให้มีกรรมการสรรหา สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ และ คุณธรรมด้าน การเมือง ความมั่นคงการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จำนวน 200 คน เพื่อส่งให้ สมัชชาพลเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นทุกประเภท ลงคะแนนเลือกให้เหลือ 100 คน และหากวุฒิสมาชิกเหลืออยู่เกิน 85 % หรือ 170 คน ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ หากน้อยกว่านั้น ต้องดำเนินการให้ได้ในส่วนที่ขาดไป ภายใน 180 วัน
ในมุมมองของกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ออกแบบ ส.ว.ไว้อย่างนี้ เพราะได้สรุปบทเรียน จาก ส.ว.ชุดที่ผ่านๆ มา โดยส.ว.ชุดที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น เป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ผลก็คือ เราได้ ส.ว.ที่มีความยึดโยงอยู่กับพรรคการเมือง เพราะผู้ที่จะชนะเลือกตั้งเข้ามาได้ ต้องไปแอบอิงพรรคการเมือง ใช้ระบบหัวคะแนน ซื้อเสียง เมื่อได้เข้ามาแล้วก็ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง ระบบรัฐสภาถูกกินรวบ เพราะพรรคการเมืองคุมได้ทั้งสภาผู้แทน ทั้งวุฒิสภา
วุฒิสภา ที่เป็นสภากลั่นกรองกฎหมายก็ไม่กลั่นกรอง เพราะเป็นกฎหมายที่พรรคการเมืองเสนอมา และผ่านสภาผู้แทนมาแล้ว แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง ก็ยอมให้ผ่าน ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลก็ไม่ทำงาน ไม่สามารถถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริต ได้ การแต่งตั้งองค์กรอิสระก็เป็นไปตามใบสั่งนักการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ ยุคนั้นจึงมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุด "สามหนา ห้าห่วง"
ในที่สุด วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดนั้น ก็ได้ฉายาว่า "สภาทาส" ทำงานตามใบสั่งของ ทักษิณ ชินวัตร ที่คุมสภาผู้แทนราษฎร และเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่
พ้นจากยุคสภาทาส มาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ให้มี ส.ว.มาจาก 2 ระบบ คือจากการเลือกตั้ง และแบบสรรหา อย่างละครึ่ง คือ จากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน ที่เหลือเป็นแบบสรรหา รวม 150 คน ปัญหาที่พบคือ การทำงานของ ส.ว.เลือกตั้งกับ ส.ว.สรรหา มีการตั้งแง่กันในเชิงศักดิ์ศรี เหมือนน้ำกับน้ำมัน เข้ากันไม่ได้ การทำงานในภาพรวมจึงเป็นไปในลักษณะจะเอาชนะคะคานกันเองตลอด สุดท้ายงานที่ควรจะเดินหน้าไปได้ก็สะดุด หยุดชะงัก อีกทั้งส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ ยังแอบอิงอยู่กับพรรคการเมือง ทำงานตามใบสั่ง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ที่ประธานวุฒิสภา ซึ่งมาจากส.ว.เลือกตั้ง ดำเนินการประชุมแบบตั้งธงไว้ล่วงหน้า ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้อภิปราย พยายามรวบรัดไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ จนเรื่องลุกลาม เป็นประเด็นให้ต้องยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ดังนั้น เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กรรมาธิการยกร่างฯ จึง ออกแบบมาให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง โดยเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับ ส.ว.ยุค รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50
แน่นอนว่ากติกานี้ย่อมไม่ถูกใจนักเลือกตั้ง จึงยกประเด็นว่า ส.ว.ชุดนี้ ไม่ยึดโยงกับประชาชน การเลือกตั้งโดยอ้อมที่กำหนดสเปกมานั้น ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการแต่งตั้ง เพราะในช่วงที่ให้แต่ละกลุ่มเลือกกันเองนั้น ก็จะหนีไม่พ้นการล็อบบี้ การบล็อกโหวต ตามที่ผู้ถือครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ต้องการ เพื่อเป็นฐานรองรับการสืบทอดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกรรมาธิการยกร่างฯ เขียนรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จแล้ว ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน คือต้องส่งให้ที่ประชุม สปช. พิจารณา ว่าจะให้ความเห็นชอบ หรือแก้ไขส่วนใด ยังต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช. อีก
จึงพอจะเห็นภาพในอนาคตได้ว่า หากรัฐธรรมนูญไปกระทบกับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ เห็นทีจะผ่านยาก แต่ถ้าแก้ไขจนผ่านด่านเหล่านี้มาได้แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงการทำประชามติ
เพราะถึงที่สุดแล้ว อย่าได้คาดหวังว่า คสช. จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจในสิ่งที่ คสช. เห็นว่าดีแล้ว เหมาะสมแล้ว