ASTVผู้จัดการรายวัน-"บิ๊กตู่"อารมณ์ดี หลัง ครม.-คสช. มีข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่งสัญญาณชัด การเมืองหมดสิทธิ์รณรงค์ชี้นำการลงประชามติ กมธ.ยกร่างฯ ชี้การเปิดทางคนถูกตัดสิทธิเลือกตั้งนั่ง สนช. ได้ เป็นการเปิดพื้นที่เข้าสู่การเมือง คาดส่งร่างให้ สปช. 21 ส.ค. ลงมติ 4 ก.ย.นี้ ด้าน กกต. เคาะ 10 ม.ค.59 เป็นวันลงประชามติ "มาร์ค"ระบุถาม "บิ๊กตู่" อยู่ต่อ 2 ปี วุ่นวายแน่ "วิษณุ"รับปลดล็อคคุณสมบัติ เปิดทาง "สมคิด"รวมถึงคนอื่นๆ มีโอกาสเข้ามาทำงาน
จากกรณีที่ประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ พ่วงมาด้วย อาทิ แก้คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. และ ครม. จากเดิม ที่เขียนว่า ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แก้เป็น ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สามารถพ่วงคำถามอื่นได้ด้วย รวมทั้ง กรณี สปช. ลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ยุบ สปช. ทันที แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คนขึ้นมาแทน เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก เป็นต้น
เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นประธานเปิดงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2558 "รวมพลังพลิกฟื้นผืนป่า ป่าไม้มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน" รวมทั้งไปที่ จ.ระยอง เพื่อดูงานบริหารจัดการน้ำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกระแสเรียกร้องของประชาชนบางส่วนที่ต้องการให้อยู่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนเลือกตั้งอย่างอารมณ์ดี ว่า ปัญหาวันนี้มีอยู่เยอะ ในเวลาที่จำกัด ตนพูดมาก ก็ไม่ค่อยอยากจะฟังกัน พอจะอธิบาย ก็จะถามแค่ว่าวันนี้จะอยู่ต่อหรือไม่ สนใจอยู่แค่นี้ วันนี้ที่ตนอยู่ ต้องดีขึ้น และทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ ถ้าอยากจะเลือกตั้ง ก็ไปเลือกคนที่ทำแบบนี้ ท่านต้องเข็มแข็ง มีกฎหมายอะไร ในรัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร ก็ไปว่ามา ให้คนใหม่ทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้ถ้าขอสื่อได้จะขอให้หยุดเปิดพื้นที่ทางการเมืองไปเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่าไปเปิดเวทีให้การเมืองที่มันบิดเบี้ยว บิดเบือน หรือคนที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะจะมาต่อต้านการทำงานของตน ก็จะทำให้ตนหงุดหงิด และมีปัญหาเพิ่มเติม วันนี้ไม่ควรมาพูดอะไรอีกแล้ว และตนยังไม่ได้ใช้อำนาจเลย แล้วมาบอกว่าใช้อำนาจ ใช้รัฐประหาร ใช้การควบคุม ตนไปควบคุมใครสักคนหรือไม่
เมื่อถามว่า วันนี้ฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านเริ่มมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ลองทำไปเรื่อยๆ สิ บอกไปแล้วว่าตนใจดีแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น ให้โอกาสแค่ไม่เท่าไรหรอก ถ้าจะลอง ก็ลองดู และเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่เสียงดังใส่สื่อ ก็ไม่ได้เคืองสื่อ ถ้าจะเคือง ก็เคืองก่อนหน้านี้ไปนานแล้ว ไม่เคยเคือง จะเคืองได้อย่างไร ตนไม่เคยอารมณ์เสีย แต่อยู่ที่ว่าอารมณ์จะดีมาก ดีน้อย ส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีตลอด เรารู้จักกัน โกรธกันไม่ได้หรอก
** ปิดทางพรรคการเมืองเคลื่อนไหว
เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าที่ผ่านมา เป็นภาพยนตร์ตัวอย่าง หลังจากนี้จะเป็นของจริงแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตัวจริงหมายถึงความดุเดือดใช้กฎหมาย ตนให้โอกาสเขาในการปรับปรุงตัวเอง ให้เข้าใจ เรียนรู้อะไรอย่างไร ผิดถูกไปว่ากันตามกฎหมาย ตนขอแค่นี้เขายังให้ไม่ได้เลย
เมื่อถามว่า รู้สึกดีหรือไม่ ที่ประชาชนมองทหารเป็นพระเอก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อมีพระเอกต้องมีผู้ช่วยพระเอก มีดาวร้าย หนังมันถึงจะสนุก วันนี้พระเอกมีหลายคน แต่ผู้ร้ายมีเยอะ และผู้ร้ายชอบเป็นผู้ร้าย เพราะไม่ได้กอดนางเอก
เมื่อถามว่า หากต้องมีการทำประชามติ หน่วยงานใดจะเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองจะรณรงค์ให้เลือกอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าจะรณรงค์ให้คนออกมาทำประชามตินั้นได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนในการทำประชามติเสียก่อนถึงจะรณรงค์ได้ ซึ่งจะกำหนดเนื้อหา 1-2-3-4-5 จะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ อย่ามาว่าตนลอยตัวไม่ได้ ส่วนในมุมของต่างประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายสถานการณ์ในประเทศไทย ผ่านช่องทางทางการทูตมาโดยตลอด พร้อมทำเอกสาร ขณะเดียวกัน เวลาตนให้สัมภาษณ์แล้วสื่อไทยนำเสนอข่าวต่างชาติก็รับรู้ข้อมูล โดยที่ไม่ต้องมา วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่าง รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ก็ช่วยกันทำงาน
** "เทียนฉาย" นัดสปช.หารือ15 มิ.ย.นี้
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ส่วนตัว ไม่คิดว่าจะเสนอคำถามไปให้ ครม. คสช. แต่ต้องดูความคิดเห็นของสมาชิก สปช. ท่านอื่นก่อนว่ามีใครจะเสนอหรือไม่ ทั้งนี้ การที่ตนนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.นั้น ก็เพื่อปรึกษาหารือ และวางกรอบการทำงาน คงไม่มีการพูดคุย หรือนำประเด็นจะเสนอ หรือไม่เสนอ เรื่องตั้งคำถามเพิ่มเติมในประชามติ
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมร่วมครม. และคสช. สรุปมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2557 ซึ่งมีผลต่อการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช. นับแต่วันลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเหตุนี้ สปช. จึงมีภารกิจสำคัญยิ่งที่จะต้องส่งมอบแผนปฏิรูปต่อ ครม. ภายในวันที่ 4 ก.ย.2558
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง กรณี แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุให้ สปช. และ สนช. สามารถทำคำถามเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาได้ว่า ยังเร็วที่จะหารือในเรื่องนี้ อย่าพึ่งไปคิด คำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้นเลย ตนคิดว่า หน้าที่ของสนช. ตอนนี้คือ คำขอแก้ไขของ ครม. คสช. มีประเด็นใดที่ต้องซักถามสอบถามบ้าง ซึ่ง สนช. มีสิทธิขอแก้ไขได้หากมีความจำเป็น แต่ ครม. คสช. ก็ต้องยอมให้แก้ด้วย ถ้าจะมาถามเรื่องนี้ ก็ต้องรอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งวันนี้ คสช. ยังไม่ส่งร่างมาถึงมือตนเลย
**เปิดช่องให้ผู้ถูกตัดสิทธิเข้าสู่การเมือง
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ 2557 ในประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะของ สนช. จากเดิมที่ห้ามบุคคลที่เคยถูกถอนสิทธิเลือกตั้งไปเป็นห้ามบุคคลที่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เข้ามาเป็น สนช. ว่า ตนมองว่ามีนัยยะ คือ เพื่อเป็นการสร้างกลไกที่ให้บุคคลที่ถูกถอดสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็น สนช.ได้ และเป็นการเปิดช่องให้บุคคลขยับเข้าสู่ภาคการเมืองได้มากขึ้น เพราะมีการผ่อนปรน ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการส่งสัญญาณต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในการกำหนดคุณสมบัติในส่วนของคนที่เคยถูกถอดถอน โดยไม่ใช่เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการต่อรอง แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย
ส่วนการปรับแก้เรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะทำให้ขัดต่อ มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ 2557 หรือไม่นั้น เห็นว่า ไม่ขัด เพราะหลักการในกฎหมาย คือ จะไม่ลงโทษย้อนหลัง เมื่อบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้รับโทษจนแล้วเสร็จ ก็ไม่ควรที่จะได้รับการลงโทษซ้ำอีก
**หารือทำประชามติให้"บิ๊กตู่" อยู่ต่อ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เชื่อว่าสังคมจะยอมรับได้ ต่อการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของ สนช. และรัฐมนตรี หากบุคคลที่เข้ามาเป็น สนช. และรัฐมนตรี ไม่ใช่บุคคลที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย หากคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้รับการลงโทษมาแล้ว 5 ปี กฎหมายก็ไม่ควรลงโทษเขาซ้ำอีก
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการเปิดให้ทำประชามติ ที่เปิดให้ทำมากกว่าหนึ่งคำถามนั้น ตนมีแนวคิดที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม สปช.ให้พิจรณา โดยนำข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง นำเสนอ โดยตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 57 ที่มีการแก้ไขกำหนดวาระ สปช. สิ้นสุดทันที หลังจากวันลงมติรับหรือ ไม่รับร่าง ดังนั้น ในกระบวนการนำเสนอประเด็นคำถามประชามติ จะต้องทำก่อนวันลงมติ ร่างรัฐธรรมนูญ
** ส่งร่างให้สปช. 21ส.ค.ลงมติ 4 ก.ย.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ว่า หลังจากนี้คงต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีผลบังคับใช้ต่อ กมธ.ยกร่างฯ อย่างไร จะมีการขยายเวลาการทำงานหรือไม่ โดยขณะนี้ กมธ.จะพิจารณาทั้งร่างรัฐธรรมนูญให้ครบทุกหมวด และทบทวนเป็นรายมาตรา จะนำความเห็นของแต่ละกลุ่มมาประกอบการพิจาณาเป็นหลัก และพิจารณาในเรื่องสำคัญก่อน อาทิ ที่มา ส.ว.- ส.ส. ระบบโอเพ่นลิสต์ และกลุ่มการเมือง
อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายเวลาให้กับ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะมีเวลาพิจารณามากขึ้นในการทบทวนร่างฯ และหาก กมธ.ได้เวลาการทำงานเพิ่ม ร่างสุดท้ายที่จะส่งให้ สปช. ก็จะเป็นวันที่ 21 ส.ค. และลงมติรับร่างฯ ได้ ในวันที่ 4 ก.ย. ส่วน สปช. จะอภิปรายก่อนลงมติได้หรือไม่ อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
** กกต.เคาะ10 ม.ค.59 ลงประชามติ
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ทาง กกต.ได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว หาก สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 16 ก.ย. ทาง สปช. จะต้องส่งต้นฉบับของร่างรัฐธรรมนูญ มาให้ กกต. จากนั้น วันที่ 30 ก.ย. กกต. จะต้องจัดหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 19 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 80 ครัวเรือน ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน หรือภายในวันที่ 15 พ.ย. ก่อนทยอยแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา เพื่อที่จะตัดสินใจลงประชามติให้ครบทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 30 พ.ย. โดยกำหนดวันลงประชามติไว้เบื้องต้น ในวันที่ 10 ม.ค.2559 โดยงบประมาณที่ใช้ในการทำประชามติ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ส่วนจะต้องมีการแก้ไขประกาศ หรือคำสั่ง คสช. เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศในการทำประชามติด้วยหรือไม่นั้น คงต้องรอให้ทาง คสช. เป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม แต่หากเห็นว่ามีส่วนใดที่ขัดต่อการทำหน้าที่ของ กกต. ก็อาจจะเสนอขอให้ คสช. แก้ไขประกาศดังกล่าวได้ ซึ่งคาดว่าพอใกล้ถึงเวลา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จะดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเห็นการทำประชามติที่สงบเรียบร้อย เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการปลุกระดม หรือชี้นำ ซึ่งหากบุคคลใดชี้นำ หรือปลุกระดม ก็จะมีความผิดตามกฎหมายได้
** "มาร์ค"ห่วงถามนายกฯอยู่ต่อวุ่นแน่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพูดเรื่องการต่ออายุรัฐบาลให้บริหารประเทศต่อไปอีก 2 ปีเพื่อทำการปฏิรูปนั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่ออยู่แล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุม สปช. เพื่อขอความเห็นชอบว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ในเดือนส.ค. จากนั้นจะเริ่มกระบวนการทำประชามติ ประมาณปลายปี 2558 ออกกฎหมายลูก และเตรียมการเลือกตั้ง ก็ใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และผ่านประชามติ โอกาสที่ไม่ผ่านก็มี วันนี้หากไม่ผ่าน ก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะคนคัดค้านมาก ไม่ผ่าน ก็เริ่มต้นกระบวนการใหม่ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีแล้ว
"การไปทำประชามติถามประชาชนว่าอยากให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่ออีก 2 ปีหรือไม่ควรอยู่ คือ การหมายความว่าจะเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้นายกฯ อยู่ต่อ ไปปราศรัยทั่วประเทศใช่หรือไม่ แต่ถ้าบอกว่าไม่ให้ ครั้งนี้ต่างชาติจะออกมาแน่ เพราะเขาจะบอกว่า นอกจากปฏิวัติแล้วยังมาทำประชามติปลอม เพื่อสืบทอดอำนาจอีก ถ้าให้ผมประเมิน อาจจะผ่าน แต่ผ่านด้วยคะแนนแบบ 55-45 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบางภาคไม่เอาด้วย จะปกครองอย่างไร"
** ดักคอจะร่างรัฐธรรมนูญกันแบบไม่รู้จบ
นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่ผ่านการเห็นชอบ การยุบ กมธ.ยกร่างฯ ชุดนี้ และตั้งกรรรมการยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว แต่ว่าการที่จะมาระบุว่า ให้ กมธ.ยกร่างฯ ชุดนี้ จะสามารถดำรงตำแหน่งใน กรรมการยกร่างฯ ชุดใหม่ได้นั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะถือว่า กมธ.ยกร่างฯ ชุดนี้ ล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่ควรจะให้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญต่อไปแม้แต่คนเดียว
"เวลาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เคยคิดกันแบบคุณวิษณุว่าถ้าครั้งนี้ไม่ผ่าน 180 วัน ตั้งใหม่ แล้วถ้าไม่ผ่าน ก็ทำใหม่ อันนี้มันเป็นการร่างรัฐธรรมนูญในสมัยจอมพลถนอมครับ คือร่างกัน 10 ปี ก็ไม่เสร็จ 20 ปี ก็ไม่เสร็จครับ" นายนิพิฏฐ์ กล่าว
***เปิดทาง "สมคิด"เข้ามาทำงาน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในประเด็นแก้ไขยกเลิกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช. จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจึงจะเข้าเป็นสนช.หรือครม.ได้ ภายหลังมีกระแสข่าวว่าการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. เข้ามารับตำแหน่งใน ครม.ว่า ความจริง 1 ใน 7 ประเด็น ที่ได้มีการขอแก้ไขในครั้งนี้ คือแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของคนที่เป็น สนช. ซึ่งเราแก้ตรงนี้เพียงจุดเดียว แต่โดยเทคนิคของกฎหมาย คุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามในส่วนนี้ จะนำไปใช้ในกรณีของการเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เช่น รัฐมนตรี สปช. หรือแม้แต่จะเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ก็สามารถอนุโลมใช้ได้กันหมด
เมื่อถามว่า นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 กับ 109 สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คนที่พ้นกำหนดแล้ว เข้ามาได้ แต่ถ้ามีคนที่ยังอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ ก็ยังติดอยู่ ไม่สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้
เมื่อถามต่อว่า นายสมคิด จะสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยิ่งกว่านายสมคิด ก็ยังมีอีกหลายคน ที่จะเข้ามาได้อีกเยอะ อย่างน้อยที่ตนมองเห็น โอกาสที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาขับเคลื่อน เพราะในส่วนนั้นมีจำนวนถึง 200 คน ที่จะสามารถนำคนเหล่านี้เข้ามาได้ ส่วนใครจะเป็นรัฐมนตรี ตนไม่กล้าคิด จะเอาเข้ามาได้อย่างไร เอาเข้ามาแทนใคร หรือเข้ามาทำอะไร ตนไม่ทราบ และตัวคนเหล่านั้นอาจจะไม่ยอมมาหรืออยากมาก็ได้