xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ แจง รธน.ที่อุบลฯ แนะดูเจตนาก่อนประชามติ-ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เวทีให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดที่ 10 ที่อุบลฯ กมธ.ยกร่างฯ-สปช.ขอให้ดูที่เจตนารัฐธรรมนูญ มุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่-การเมืองสังคมโปร่งใส-ลดเหลื่อมล้ำ ก่อนตัดสินใจประชามติ ปัดสืบทอดอำนาจ ชี้ถ้าไม่เอาชาติลอยคอไปวันๆ รับ แจงร่างให้ทั่วถึงต้องอย่างน้อย 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ ผลประชุมระดับอำเภอ-จังหวัดมีข้อแนะ โกงโทษหนักแบนตลอดชีพ-หนุนการศึกษาเท่าเทียม

วันนี้ (21 พ.ค.) เวทีการเผยแพร่ให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนระดับจังหวัด 12 จังหวัดทั่วประเทศ ในความรับผิดชอบของนายประชา เตรัฐ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ และ สปช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดขึ้นเป็นจังหวัดที่ 10 ที่หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมีชาวจังหวัดอุบลราชธานี 25 อำเภอ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุบลราชธานีเข้าร่วมฟังรวมประมาณ 3,000 คน มี กมธ.ยกร่างฯ มาเป็นวิทยากร ได้แก่ นายประชา เตรัช, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายคำนูณ สิทธิสมาน, น.ส.สุพัทรา นาคะผิว และนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. นอกจากนี้ยังมี สปช.อุบลฯ นายนิมิต สิทธิไกร สปช.ยโสธร นายเฉลิมชัย เฟื่องทอง มาร่วมงานด้วย

นายบรรเจิดกล่าวว่า ประชาชนจะลงประชามติให้ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ขอให้ไปดูที่สาระ ดูเจตนาที่ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่และเป็นสุข การเมืองที่ใสสะอาด สังคมที่เป็นธรรม และการนำชาติสู่สันติสุข นำชาติที่ตกหล่มมานับ 10 ปีให้ขึ้นจากหล่มได้หรือไม่ ประชาชนจะได้ 4 ข้อ 1. เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม 2. ได้ระบบการเมืองที่เป็นดุลยภาพ 3. ได้หลักการรับรองและคุ้มครองสิทธิ์ตารัฐธรรมนูญ และ 4. สังคมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

“สุดท้ายถ้าร่างนี้ผ่าน สปช.และออกมาทำประชามติ ขอให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจตามสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญว่าเป็นประโยชน์กับท่านหรือไม่” นายบรรเจิดกล่าว

ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในสี่แยกทางแพร่งที่ติดหล่มจมปลักมานาน ต้องมาร่วมตัดสินใจสร้างอนาคตร่วมกัน จากมติ ครม.ที่นายกฯ แถลงว่าจะให้ทำประชามติ หมายความว่าเวทีเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันข้างหน้า ที่ต้องออกเสียงประชามติเพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะต้องมีความชอบธรรม จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ที่จะใช้ และรัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้พลเมืองเป็นใหญ่ โดยเปลี่ยนจากระบบการเมืองแบบผู้แทนมาเป็นแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่เข้าคูหากาบัตรเป็นประชาธิปไตยหนึ่งนาทีก็หมดอำนาจ ขณะที่ยังพยายามทำให้การเมืองใสสะอาดด้วย

ด้าน น.ส.สุภัทรากล่าวว่า ใน 315 มาตราของร่างรัฐธรรมนูญที่อนาคตจะให้คนไทย 47 ล้านคนลงประชามติ แต่มีคนพูดถึงหลักๆ อยู่ที่ราว 20 กว่ามาตราเท่านั้น

ด้านนายคำนูณกล่าวว่า เราถูกโจมตีทุกเช้าค่ำว่าเรากำลังสืบทอดอำนาจให้ใคร ไม่ใช่ เราต้องการสืบทอดการนำชาติสู่สันติสุข ไม่ให้ประเทศไทยกลับไปสู่สภาวะแตกแยกเหมือนเดิม การลงประชามติอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ ถ้าเอาก็ใช้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เอาก็ไม่เป็นไร เราก็กลับไปสู่สภาพเหมือนประเทศที่เป็นเรือไททานิคที่ชนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยคออยู่รอดไปวันๆ รอวันอับปาง

ภายหลังวิทยาจากจาก กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.อธิบายสาระสำคัญและประเด็นเด่นในร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ภาค ผู้เข้าฟังบางส่วนสอบถามการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญให้ทั่วถึงก่อนการลงประชามติ โดยนายประชากล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าถ้าจะให้ทั่วถึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ถ้าให้แค่ 90 วันจะกลายเป็นเหยื่อนักการเมืองที่มีระบบการจัดตั้งที่จะกำหนดว่าเอาไม่เอา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของ สนช.และ ครม.ที่จะให้เวลา เขาจะให้ 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปีก็แล้วแต่

ด้านเสียงสะท้อนบางส่วนของผู้เข้าร่วมเวทีผ่านการสัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าว มีทั้งการตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ และที่ยังไม่ได้ตัดสินใจขอดูสาระของร่างรัฐธรรมนูญก่อน เช่น นายทยากร แสนอุบล อายุ 19 ปี นักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 อาชีวศึกษาอุบลราชธานี กล่าวว่า ทราบข่าวกิจกรรมการจัดเวทีครั้งนี้จากทางวิทยุของวิทยาลัย โดยอาจารย์คัดเอานักศึกษาระดับ ปวส.มาเข้าร่วม 400 คน ส่วนตัวได้ติดตามข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติทางอินเทอร์เน็ต สนใจสิทธิด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน ปัญหาการทำร้ายเด็ก เป็นต้น ตนเคยไปเลือกตั้งนายก อบต.มาแล้ว และถ้ามีการลงประชามติวันนี้จะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะถือเป็นสิทธิหน้าที่

ด้านนายปณิพัฒน์ บุตรแก้ว อายุ 27 ปี อาจารย์ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลราชธานี กล่าวว่า ทางผู้บริหารวิทยาลัยมีการพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วส่งต่อมายังหัวหน้าฝ่ายมาคุยกันในสภากาแฟ แต่ยังเป็นลักษณะการเฝ้าดู ยังไม่มีการลงลึกในประเด็นอะไร เพราะไม่ค่อยมีคนกล้าแสดงความคิด ยังกลัวเรื่องความชอบทางการเมืองที่แตกต่างกันอยู่ หากเปรียบเทียบก่อนรัฐประหารกับเวลานี้ ความร้อนแรงของความแตกต่างทางความคิดภายในรั้ววิทยาลัยลดลงมาก ต่างจากแต่ก่อนนี้มีการจับกลุ่มเสวนาทั้งเช้า เที่ยงเย็น โดยอาจารย์จะแยกกลุ่มกันคุย ไม่คุยกับอาจารย์ที่อยู่ต่างกลุ่ม แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาคุยกันบางส่วน

“ถ้ามีการทำประชามติแล้วให้มีเวทีแสดงความคิดเห็น คิดว่าจะมีโอกาสที่จะคุยกันได้ได้และกล้าแสดงออกมาขึ้น เพราะสถานการณ์เริ่มสงบลง มีคนรอที่อยากจะพูดคุย ทั้งในมุมที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่ายังมีความเสี่ยงว่าพูดแล้วจะกลับมาทะเลาะกัน เพราะความเป็นสีของแต่ละฝ่ายยังแรงอยู่” อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลฯ กล่าว

นางสีดา พิทักษา ตัวแทนกลุ่มอาสาพัฒนาสตรี จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ทางกลุ่มตั้งใจมาฟัง 15 คน และทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของทาง อ.ตระการพืชผล เป็นผู้เชิญให้มาเข้าร่วม เราอยากมาฟังดูว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นยังไง สนใจเกือบทุกประเด็น เพราะทราบข่าวว่าจะมีการทำประชามติ มองว่าเป็นข้อแตกต่างระหว่างยุคผู้หญิงเป็น นายกฯ กับยุคทหารบริหารประเทศ อยากรู้ว่ามีความแตกต่างยังไง เบื้องต้นทางกลุ่มยังไม่มีประเด็นอะไรที่ติดใจ

“เรามี 6 เครือข่ายอยู่กันคนละอำเภอ เราคุยกันว่าขอให้อย่างน้อยได้ฟังเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นางสีดากล่าว

สำหรับเวทีเผยแพร่ของ จ.อุบลราชธานีนั้น นอกจากเวทีใหญ่ของกรรมาธิการรับฟังความเห็นแล้ว ก่อนนี้ยังมีการประชุมย่อย 25 อำเภอที่กำหนดผู้ร่วมประกอบด้วยพระภิกษุ กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม. สถาบันศึกษา กศน. และกลุ่มสตรี แม่บ้าน เวทีละประมาณ 80 คน รวม 1,488 คน แล้วรวมตัวแทนอำเภอละ 5 คนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนประชุมระดับจังหวัดอีก 1 เวที 873 คน ซึ่งนอกจากรับฟังความคิดเห็นทั้งข้อเสนอระดับชาติและระดับจังหวัดแล้ว ยังอาสาเป็นเครือข่ายในการเผยแพร่ในอนาคต

ทั้งนี้ เอกสารสรุปผลระดับอำเภอและจังหวัดดังกล่าว มีการประเมินแบบสอบถามโดยมีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้ลงโทษรุนแรงกับผู้ทุจริตคอร์รัปชัน ใช้กฎหมายอย่างจริงจังและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ลงโทษผู้ทุจริตซื้อเสียงอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติได้จริง ผู้ทำผิดให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำ เสนอให้ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนให้เท่าเทียมกันทั้งในเมืองและชนบท ปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีมรดก ที่ดินว่างเปล่า ฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสและชนบท เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น