xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขออภัย...ไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิงโรฮีนจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยืนยันชัดเจนเป็นที่สุดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วว่าจะไม่มีการตั้ง ศูนย์พักพิงชาวโรฮีนจา ขึ้นบนแผ่นดินไทยอย่างเด็ดขาด แต่จะเป็นประเทศต้นแบบในการตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำและลาดตะเวนทางอากาศชี้เป้าหมายให้การช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมและส่งต่อประเทศปลายทางหรือกลับคืนประเทศต้นทางแทน

“ผมยืนยันมาเป็นร้อยครั้งแล้วว่า จะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงขึ้นในประเทศไทย หลังจากได้หารือกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย หากผู้อพยพไม่สมัครใจจะเดินทางกลับประเทศต้นทาง หลังดำเนินการทางกฎหมาย จะต้องส่งตัวไปยังศูนย์พักพิงระยะที่หนึ่งใน 2 ประเทศดังกล่าว โดยยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ...”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา หลังประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ก่อนการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุม วันที่ 29 พ.ค. 2558

นั่นเป็นการแสดงจุดยืนและท่าทีเมื่อตั้งหลักได้หลังเผชิญแรงกดดันจากรอบด้านทั้งภายในและต่างประเทศ งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้การบ้านสองกระทรวงหลักคือ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปอธิบายต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเรื่องแนวทางช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮีนจาว่าไทยได้ดำเนินการอย่างไร แต่ก่อนอื่นใดยูเอ็นก็ต้องตระหนักรู้ว่าไทยได้จัดตั้งศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามในประเทศมานานแล้ว ถ้าจะให้รับมาเป็นภาระอีกคงไม่ไหว อีกอย่างผู้อพยพชาวโรฮีนจาไม่ได้หนีภัยสงครามและประเทศไทยไม่ใช่จุดหมายปลายทาง

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ศูนย์ ใน 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยของพม่าที่หนีปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและภัยสงคราม ซึ่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2556 ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนแล้วประมาณ 82,000 คน และกำลังขอลงทะเบียนอีก 13,000 คน แต่ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ประมาณการว่ามีจำนวน 120,000 คน ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของยูเอ็นเอสซีอาร์ ส่วนรัฐบาลไทยให้การดูแลความปลอดภัย ขณะที่งบดูแลขั้นพื้นฐาน เช่น ยา อาหาร มาจากองค์กรพัฒนาเอกชน

สำหรับผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้น รัฐบาลไทยไม่มีการให้ความช่วยเหลือและดูแลโดยตรงเพราะถือเป็นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม มีชาวโรฮีนจาปะปนอยู่ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย

พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า หน้าที่ของประเทศไทยในฐานะประเทศกลางทาง จะมีแค่ 4 อย่าง คือ อำนวยความสะดวก แก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ดูแลเรื่องมนุษยธรรม และดำเนินการหากทำผิดกฎหมายของไทย ประเทศต้นทางจะต้องแก้ไขอย่างไร ต้องมีการหารือกัน ถ้าชาวโรฮีนจามีปัญหาความยากจน ยูเอ็นก็ต้องไปหาวิธีทำให้เขามีอยู่มีกินจะได้ไม่มีการอพยพอีก และประเทศปลายทาง ระยะแรก 2 ประเทศในอาเซียนคือมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็รับไป ส่วนระยะต่อไปจะส่งไปยังประเทศใดต่อยังต้องหารือกันอีก

ส่วนปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ขยายความชัดเจนว่า หากพบเจอผู้เรือผู้อพยพลอยลำกลางทะเลก็ต้องให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ทั้งเรื่องอาหาร ยา และน้ำมัน เป็นการอำนวยความสะดวก แต่ไม่สามารถบังคับให้ผู้อพยพเหล่านั้นมาขึ้นฝั่งในประเทศไทยได้หากเขาไม่ต้องการ

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหากจำเป็นต้องนำเข้ามารักษาในประเทศไทย กติกาสากลก็ระบุว่าจะต้องนำมาพร้อมกันทั้งครอบครัว ไปแยกเขาไม่ได้ เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็ต้องทำตามกฎหมายไทยเรื่องลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ควบคุมตัว ส่งฟ้องศาล และส่งกลับประเทศต้นทาง แต่หากชาวโรฮินจาไม่สมัครใจกลับประเทศต้นทางก็ไม่สามารถบังคับได้

เป็นความชัดเจนของผู้นำประเทศไทยก่อนที่จะเปิดประชุมใหญ่เพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค.นั้น อันที่จริงแล้วเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญระดับปฏิบัติการเท่านั้น ไม่ใช่การประชุมในระดับรัฐมนตรีหรือผู้นำของประเทศ ดังนั้นจึงคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า จะไม่มีรูปธรรมในเชิงนโยบายใดๆ ออกมา มากสุดอาจมีเพียงข้อเสนอที่ออกมาดูสวยงามแต่จะยังไม่มีผลใดๆ ออกมา จนกว่าผู้นำของแต่ละประเทศจะได้พิจารณาและตัดสินใจ

สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยในฐานะเจ้าภาพเสนอให้มีการถกในที่ประชุมในคราวนี้ คือ

หนึ่ง การเร่งหาทางช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นในมหาสมุทรอินเดียอีกประมาณ 7,000 คนที่ยังลอยลำอยู่ในทะเลเป็นการเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย ประกาศแนวทางรวมทั้งได้ดำเนินการช่วยเหลือไปก่อนหน้านี้แล้ว

สอง การเข้าไปแก้ไขปัญหาต้นเหตุในประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ที่ประชุมอาจจะเสนอแนวทางได้ แต่การดำเนินการจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าประเทศต้นทางไม่ยินยอม และดังที่ทราบกันว่าพม่าไม่เคยยินยอมมาโดยตลอด และไม่มีสัญญาณบ่งชี้อะไรว่าจะมายอมกันในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพฯ

เอาแค่ว่าจะมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาชาวโรฮีนจาที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พ.ค. 2558 ทางพม่าก็มีการเคลื่อนไหวกันแล้ว โดยสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ว่า ชาวพุทธชาตินิยมหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงในนครย่างกุ้ง เพื่อต่อต้านแรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้พม่าจัดการกับปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของชาวมุสลิมโรฮีนจาจำนวนมากและให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ยังติดค้างอยู่กลางทะเล โดยผู้ชุมนุมประท้วงที่รวมทั้งพระสงฆ์ ร้องตะโกนอย่างโกรธแค้นว่า “อย่าดูถูกประเทศของเรา” และ “ไม่มีโรฮิงญาในพม่า” “1.3 ล้านคนนี้ไม่ได้มาจากประเทศของเรา เราไม่ยอมรับว่ามีเชื้อชาติโรฮิงญาที่นี่” หลายคนที่ร่วมประท้วงยังสวมเสื้อยืดที่เขียนข้อความว่า “มนุษย์เรือไม่ใช่พม่า หยุดโทษพม่า”เดินขบวนกันในย่านใจกลางเมืองอีกด้วย

และ สาม การแสวงหาทางแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยเน้นเรื่องการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ว่าตามความจริงก็เป็นเรื่องที่หยิบยกขึ้นมาหารือกันได้เรื่อยๆ แต่คาดหวังคำตอบอะไรไม่ค่อยได้

ถ้าไม่เชื่อก็ลองมาทบทวนความจำกันอีกครั้ง กล่าวคือ ประเทศไทยเคยเจอปัญหาโรฮิงญาคล้ายๆ กันนี้ ครั้งหนึ่งในปี 2552 เมื่อทหารเรือไทยลากเรือผู้อพยพไปปล่อยกลางทะเลหลวง รัฐบาลในเวลานั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก จึงพยายามเตะลูกออกไปเวทีใหญ่ โดยเอาเรื่องนี้ไปพูดในเวทีที่เรียกกันว่า Bali Process on People Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime ซึ่งเป็นเวทีประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มจัดตั้งตั้งแต่ปี 2545 มีสมาชิก 45 ราย ทั้งประเทศและองค์กรระหว่างประเทศด้านการอพยพโยกย้ายถิ่นและอาชญากรรมข้ามชาติ ไทย พม่า บังคลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อยู่ในนั้นครบ

เวทีดังกล่าว พูดกันทุกเรื่องที่ควรพูดเกี่ยวกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นแบบโรฮีนจานี้ไว้จนสิ้น เวทีนี้มีการประชุมประจำหลายระดับตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีไปจนถึงคณะทำงานแบบเฉพาะกิจ การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งล่าสุด (นับเป็นครั้งที่ 5) เกิดขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ปี 2556 และการประชุมระดับคณะทำงานล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา ที่เวลลิงตัน นิวซีแลนด์ มีเจ้าหน้าที่ของไทยร่วมด้วย

แต่ไม่ว่าการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่กำลังเป็นปัญหาหนักอกชาติอาเซียน จะออกมาเป็นเช่นใด นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวก่อนวันประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 29 พ.ค. 2558 เป็นการตั้งการ์ดรอไว้แล้วว่า “....จะไม่ปล่อยให้เป็นเวทีเพื่อกดดัน โจมตี หรือชี้นิ้วว่าใครถูกใครผิด”


กำลังโหลดความคิดเห็น