นายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอโมเดลช่วยเหลือชาวโรฮีนจาในที่ประชุมว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งศูนย์ช่วยเหลือต้นแบบ เครื่องบินลาดตระเวน - ฐานเรือลอยน้ำ แจงเน้นความปลอดภัย ดูแลมนุษยธรรม แต่บังคับกลับประเทศต้นทางไม่ได้ ชี้ ทะเลาะกันไม่ได้ อาเซียนยึดหลักไม่ยุ่งกิจการกันและกัน โวยประโคมข่าวไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาไม่ได้ อีกด้านเผยกำลังสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ ตรวจสอบสมาคมที่เกี่ยวข้องว่าถูกกฎหมายหรือไม่ อัดพวกนักเลือกตั้งที่เลือกมาชอบบ้านเมืองสกปรก มีบ่อน - มีซ่อง นักเหรอ
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประชุมว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ว่า ได้สั่งการไปหมดแล้วในทุกเรื่อง ทั้งยังได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ย้ำว่า นโยบายของเราชัดเจนโดยประการแรก คือ ต้องให้ชาวโรฮีนจารับทราบภาระของเราในเรื่องของการดูแล โดยมีตั้งแต่การตั้งศูนย์อพยพที่พักพิงในอดีต ซึ่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ดูแลอยู่ และให้งบประมาณเรามาก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว
นอกจากนี้ ชาวโรฮีนจายังมีลูกหลานออกมาอีก เราก็ต้องให้หากินอยู่ในนั้น มีการฝึกอาชีพให้ เพราะถ้าปล่อยออกมาโดยเสรีก็จะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเราทำตามมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาโดยตลอด 20 - 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วว่า เมื่อเขาพร้อมเราก็จะส่งกลับ ปัญหาอยู่ที่ว่าตามกติกาของยูเอ็นนั้น การจะเอาคนไปอยู่ไหนต้องอยู่ที่การสมัครใจของเขาเอง ซึ่งคนเหล่านี้ได้บอกว่ายังไม่สมัครใจจึงทำให้เป็นเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 พ.ค. เราจะมีการเสนอการตั้งศูนย์ช่วยเหลือต้นแบบ ทั้งเครื่องบินลาดตระเวน และฐานเรือลอยน้ำ นอกจากนี้ ยังต้องดูถึงความเป็นไปได้ในการเสนองบประมาณจากยูเอ็น โดยต้องดูถึงค่าใช้จ่ายของเราทั้งค่าน้ำมัน และเครื่องบิน เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการดูแลชาวโรฮีนจาที่ถูกควบคุม
“เวลามาแล้วเป็นอย่างนี้หมด จึงต้องระวัง แต่ไม่ใช่เราไม่เห็นชีวิตว่ามีคุณค่า มาตรการกับโรฮีนจา คือ เอาความปลอดภัยของเขาเป็นหลักไว้ก่อน โดยตอนนี้ได้จัดเรือลอยลำ และเครื่องบินลาดตระเวนแต่ก็ยังไม่พบ มันเป็นหน้าที่ของทุกประเทศในการดูแลชาวมนุษยชาติ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปประชุมกับใคร เวลาเขาเชิญก็ไม่ต้องไป มันไม่ใช่ เราต้องรับพันธสัญญาเหล่านี้มาแล้วจะดูแลอย่างไร รัฐบาลต้องชัดเจน ถ้าเจอเรือในเขตรอยต่อ หรือเขตเสรีต้องถามเขาว่าจะไปไหน สมัครใจหรือไม่ ถ้าสมัครใจแล้วจะบังคับให้ขึ้นฝั่งไทยมันก็ไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดระเบียบชาวโรฮีนจาก่อนไปยังประเทศปลายทาง ยืนยันว่าเรามีเรือไปดูแลในเรื่องมนุษยธรรม โดยมีทั้งยาและน้ำมันต่างๆ นั่นคือ การอำนวยความสะดวกแต่ไม่ได้ขึ้นฝั่งเรา แต่ที่จะต้องบังคับให้มาขึ้นฝั่งเราคือผู้ป่วยใกล้ตาย เพราะผิดกติกาโลก เราจะปล่อยให้คนตายต่อหน้าไม่ได้ ก็ไม่ได้มีมากมาย และจะไม่มีการแยกครอบครัวผู้ป่วยที่นำมารักษา อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาสมัครใจไปที่อื่น ไม่กลับมายังประเทศต้นทาง เราก็บังคับไม่ได้ แม้แต่ยูเอ็นก็บังคับไม่ได้ ส่วนประเทศอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ที่มีศูนย์พักพิงชั่วคราวถือเป็นการรองรับระยะที่ 1 แต่กฎหมายเราทำไม่ได้ โดยเมื่อเราควบคุมตัว เราก็ต้องส่งเข้าไปศูนย์พักพิงชั่วคราวของประเทศเขา วันนี้ประเทศปลายทางได้ขอความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณจากยูเอ็น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการคุยกันในวันที่ 29 พ.ค. ด้วย โดยเรายืนยันว่าอยู่ในขั้นของการอำนวยความสะดวก และดูแลตามหลักมนุษยธรรม ดำเนินการตามหลักกฎหมาย ส่วนต้นทางสาเหตุที่ต้องมีการอพยพนั้นยูเอ็นต้องดูเอง โดยให้การช่วยเหลือเขาที่ต้นทางจะได้ไม่ต้องออกมานอกพื้นที่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราจะทะเลาะกัน โยนกันไปกันมาไม่ได้ ประเทศอาเซียนต้องจำไว้ว่า พูดอะไรออกมาต้องระมัดระวัง เพราะอาเซียนมีหลักการอยู่แล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการของกันและกัน ทั้งนี้ ต้องมีการหารือร่วม แต่ก็มีเหตุมีผลของแต่ละประเทศ ซึ่งยูเอ็นต้องเข้ามาดูว่าจะช่วยอย่างไร วันนี้ถ้ายิ่งพูดก็ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น อาเซียนก็จะแตกกันอีก ซึ่งประเทศต้นทางก็ไม่ได้รับรู้อะไร โดยจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยถ้ามัวแต่ตีกันด้วยข้อมูลข่าวสาร ตนจึงพยายามไม่พูดอะไรที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกเรื่อง ทั้ง ไอยูยู ประมง ค้ามนุษย์ แต่ยืนยันว่า มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ ซึ่งเราต้องแก้ไขและรับผิดชอบ ก็ขอให้ช่วยกันเพราะสิ่งเหล่านี้เกิดมายาวนาน ถ้าตนพูดไปก็จะไปพาดพิงรัฐบาลอื่นอีก
“เรือที่ถูกจับมาเราก็เอากลับมาได้เรื่อยๆ ถ้าเอาแต่ประโคมข่าวไปเรื่อยๆ จะแก้ปัญหาได้ไหม ถามว่าคุณไปทำผิดกฎหมายเขาหรือเปล่า ถ้าทำแล้วโดนจับแล้วผมจะไปเอาออกมาได้อย่างไร ถ้าเอาแต่ประโคมไปมาก็โดนจับไปทั้งหมด ไประเบิดทิ้งอยู่นั้นแหละ ตรงนั้นคือสิ่งที่เป็นอันตรายของเรา ไม่ใช่เราไม่ดูแลแต่เป็นกฏหมายของเขา เหมือนใครมาบ้านเราทำผิดกฎหมายแล้วเรายอมไหม แยกกันให้ออกหน่อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชาวโรฮีนจาในประเทศไทยนั้น กำลังสอบสวนอยู่ว่าเกี่ยวข้อง หรืออยู่ในกระบวนการอย่างไร เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ก็มีชาวโรฮีนจาอยู่ด้วย สมาคมเหล่านี้มีการประโคมข่าวกันหรือไม่ เพราะปัญหาเกิดมาเป็น 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาการเมืองในไทยด้วย ก็เป็นมุมมองในเรื่องความมั่นคงอีกด้าน แต่จะไม่เอาประชาชนและชาวโรฮีนจาเป็นตัวประกัน โดยต้องสาวให้ครบว่าข่าวบางข่าวออกมาได้อย่างไร แล้วสมาคมเหล่านั้นมาอย่างไร ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้องเมื่ออยู่ในไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายของไทย โดยเราต้องหาความชัดเจนให้ได้ ไม่ใช่ไปลงโทษ เดี๋ยวสื่อไปเขียนว่าตนไปรังเกเขาอีก ที่ผ่านมาสมาคมที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮีนจามีการให้ข่าวอย่างไร ก็ต้องมาช่วยบอกว่ารู้อะไร จากที่ไหน ก็ต้องมาช่วยเรา
“มันทำความผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทุกเรื่องผมมารื้อ แล้วควรได้รับคำตำหนิอย่างนี้หรือเปล่า หรือจะปล่อยให้มันคลุมเครืออย่างนี้ มีเงินใช้สบายใจทุกที่ จะเป็นโสเภนี ขอทาน ก็ได้ ผมพูดแรงหน่อยนะ แต่นั้นคือสิ่งที่หายไป นั้นคือเศรษฐกิจที่ท่านต้องการ จะค้าขายตรงไหนแกะกะทางเท้าตรงไหนก็ได้ พอผมทำก็ติเตียนเดือดร้อน หาว่าทำลายคนจน แล้วไอ้คนที่ทำลายคนจนโดยที่ไม่รู้ตัว คือ การปล่อยปละละเลย แทนที่จะทำแบบที่ผมทำคือสร้างความเข้มแข็งให้ทุกคนมีรายได้ที่ยั่งยืน กลับปล่อยปละละเลยมันไป นั่งคือสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมด ผมก็ไม่รู้ว่าท่านเลือกอย่างนั้นกันมาเอง ประชาธิปไตยไม่ใช่หรอ วันนี้ผมไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้มันบิดเบือน แน่นอนมันต้องมีผลกระทบ ท่านจะอยู่อย่างนั้นต่อไปหรือ แล้ววันหน้าใครจะมีเที่ยวประเทศไทยถ้ามันสกปรก มีทั้งบ่อน ทั้งซ่อง เยอะแยะไปหมด ชอบอย่างนั้นหรือไง ถ้าชอบก็บอกมา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจตก ซึ่งมันต้องตกแน่นอน เพราะเศรษฐกิจโลกก็ตก อะไรที่เขาว่าดีก็ฟังบ้าง ตนพูดให้ตายก็ไม่ฟังแล้วเอามาตีกันอยู่นั้น แล้วท่านต้องการอะไรจากประเทศ ต้องการความหวังอะไรจากตน บางคนเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เรื่อง แน่นอนตนต้องหวุดหวิด เพราะเหนื่อยกับการคิดและทำ ไม่ได้ลอยหน้าลอยตาไปที่ไหนทุกวัน 1 ปี เต็มๆ ไม่ได้หยุดคิดซักเวลา ทำงานแบบนี้ยังได้แค่นี้ แล้วทำงานแบบเก่าจะได้แค่ไหน เวลาเลือกตั้งให้ไปถามว่าเขาว่า จะทำแบบที่ตนทำและโครงการที่ตนทำเขาจะทำต่อหรือไม่ ไปถามมาว่านโยบายเขาทำอย่างไร ใช้เงินที่ไหน เป็นอย่างไรใครเกี่ยวข้อง ขอถามว่าที่ทำมา 1 ปี มีอะไรผิดตรงไหน สื่อก็ต้องช่วยชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ