xs
xsm
sm
md
lg

ญาติเหยื่อค้ามนุษย์จ่อฟ้อง ตั้ง”ศอ.ยฐ.”ช่วยโรฮีนจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บูรณาการ 3 เหล่าทัพ ผนึกกำลังตั้งศูนย์ ศอ.ยฐ. ช่วยเหลือมนุษยธรรมโรฮีนจา-รองรับต่างชาติร่วมปฏิบัติการ เลขาสมช. เชื่อประชุม 29 พ.ค. มีคำตอบแน่ "บิ๊กตู่"เตรียมเสนอโมเดลช่วยเหลือชาวโรฮีนจา กับที่ประชุมร่วม 17 ประเทศ พนักงานสอบสวน อัยการ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม และตัวเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์โรฮีนจา เตรียมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ขณะที่ผู้ต้องหาเครือข่ายค้ามนุษย์ในสงขลา และสตูล เข้ามอบตัวอีก 2 คน

เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้ (26พ.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศ และ พล.อ.สุจินต์ เอี่ยมปี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย หรือ ศอ.ยฐ. (Operation Center For Patrol and Humanitarian Assistance to lrregular Migrants in the Indian Ocean (OCPHAM)โดยมี พล.อ.วรพงษ์ ทำหน้าที่ ผอ.ศอ.ยฐ. โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

พล.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาของผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค และระดับโลก รัฐบาลมีความห่วงใยด้านในด้านมนุษยธรรมของผู้โยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรี มีนโยบายและคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมไปดูแลว่าจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้กองบัญชาการกองทัพไทยจัดตั้งศูนย์ ศอ.ยฐ. ขึ้นมา โดยเราได้ใช้โครงสร้างศูนย์บัญชาทางทหารของเหล่าทัพเป็นศูนย์อำนวยการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

พล.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ศอ.ยฐ. มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงกรณีการร้องขอในการร่วมดำเนินการของมิตรประเทศ เราก็จะเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการของมิตรประเทศด้วย สิ่งสำคัญใน ศอ.ยฐ. จะมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) หรือ ศูนย์อำนวยการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกองทัพเรือ โดยจะมีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในทะเลอันดามัน จะมีการส่งกำลังพลรวมถึงทรัพยากรไปลอยล้ำในทะเลเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ทั้งอาหาร น้ำ ด้านการแพทย์ หากพบเจอเรือผู้อพยพ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ พร้อมทั้งประสานงานไปยังประเทศมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เพื่อกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางไป ตามที่ประเทศมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการร่วมกัน เพราะต้องเข้าใจว่า ผู้อพยพไม่ต้องการที่จะเข้ามาประเทศไทย เพียงแต่ลงเรือ และมาลำบากตรงบริเวณน่านน้ำของไทย เราจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

"รมว.กลาโหมได้ลงนามในคำสั่ง เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยกองทัพเรือมีการลาดตระเวนอยู่แล้วในกรอบปกติ และจะมีการลาดตระเวนทางเรือ และทางอากาศ ในกรอบของ ศอ.ยฐ.ด้วย และในส่วนของกองทัพอากาศ ก็จะมีการลาดตระเวนตามปกติ และจะมีการปฏิบัติการทางอากาศในพื้นที่ทะเลอันดามัน โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ด้วยเช่นกัน โดยระยะเวลาในการปฏิบัติงาน จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะจบภารกิจ โดยขั้นต้นทางหน่วยปฏิบัติการของ 3 เหล่าทัพ ได้วางแผนไว้ 2 สัปดาห์ สำหรับงบประมาณในการใช้จ่ายเบื้องต้นจะใช้งบประมาณประจำปีสำรองเบิกจ่ายไปก่อน ก่อนที่จะไปเบิกจ่ายในงบประมาณส่วนกลาง" พล.อ.วรพงษ์ ระบุ

พล.อ.วรพงษ์ กล่าวยืนยันถึงสาเหตุที่มีการจัดตั้ง ศอ.ยฐ. ไมได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทางสหรัฐอเมริกา ขอนำอากาศยานเข้ามาบินสำรวจเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในน่านน้ำของประเทศไทย

เมื่อถามว่ามีประเทศไหนหรือไม่ที่จะมาขอใช้พื้นที่ในการบินลาดตระเวนร่วมกับเราหรือไม่ พล.อ.วรพงษ์ กล่าว่า ก่อนหน้านี้มีทางสหรัฐอเมริกาได้ขอมาใช้ในการนำเครื่องบินออกลาดตระเวน เราอยู่ระหว่างพิจารณา

** ทร. ส่งรล.อ่างทองเข้าพื้นที่

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. กล่าวว่า ทางกองทัพเรือ จะใช้กำลังหลักจากทัพเรือภาคที่ 3 ทั้งหมด และใช้เรือหลวงอ่างทอง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตนได้สั่งการให้ออกมาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมาถึงในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงบ่าย ทั้งนี้เรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือระบายกำลังพลขนาดใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับรองรับเฮลิคอปเตอร์ ที่ออกปฏิบัติการทางทะเลได้ดี นอกจากนี้จะใช้เรือในทัพเรือภาค 3 จำนวน 8 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และ มีดอร์เนีย 2 ลำ ซึ่งสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยคาดว่าจะตัวฐานบริเวณเกาะสิมิลัน ต่อจากประเทศพม่าด้านบน ซึ่งเน้นบริเวณน่านน้ำในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ คงจะไม่ออกไปในเขตทะเลหลวง

** ทอ.ใช้กริพเพนสนับสนุนปฏิบัติการ

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทมหารอากาศ กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพอากาศได้รับคำสั่งจากศูนย์บัญชาการทางทหารให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีพล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่หลักคือ บูรณาการการเฝ้าตรวจ จัดอากาศยาน ซึ่งจะมีอากาศยานของทางกองทัพเรือ ภาค 3 และของกองทัพอากาศเอง โดยการดำเนินการได้เริ่มขึ้นแล้ว มีการออกคำสั่งทางยุทธการ เพื่อให้เครื่องบินของกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เฝ้าตรวจการถึงเวลา 19.00 น . ทุกวัน เบื้องต้นกำหนดภารกิจไว้ 2 สัปดาห์ แต่ทางกองทัพอากาศได้วางแผนดังกล่าวไว้เดือนเศษเป็นอย่างน้อย การออกลาดตระเวนทางอากาศ ก็จะต้องก็จะออกถึง 200 ไมล์ทะเล ตั้งแต่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล

นอกจากนี้ ในส่วนของกองทัพอากาศจะมีภารกิจอีกส่วนหนึ่ง คือ การกำกับดูแลการปฏิบัติการทางอากาศ กรณีองค์กรระหว่างประเทศ หรือ มิตรประเทศ ขอใช้พื้นที่ แล้วได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ ก็จะมาอยู่ภายใต้ การกำกับของ ศอ.ยฐ.ทอ. ตามที่กระทรวงกลาโหมได้สั่งการมา

ทางกองทัพอากาศใช้ทั้ง 2 หน่วยบิน ซึ่งกริพเพน มี 8 ลำ หาก ศอ.ยฐ. เราสามารถใช้ได้ทั้ง 2 หน่วยบิน คือ 7021 และ 7022 ซึ่งเป็นหน่วยยุทธวิธีการป้องกันประเทศ

พล.อ.สุจินต์ เอี่ยมปี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน. กล่าวว่า มีกำลังดูแลในพื้นที่ชายแดน ในการปฏิบัติหากผ่านจากน่านน้ำขึ้นมาบนบก ทางหน่วยรักษากฎหมายทุกหน่วย ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามาดูแล ในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา หลังจากนั้นจะส่งไปที่สำงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ที่อยู่ในพื้นที่ ทำการดูแลเพื่อช่วยให้เดินทางไปยังปลายทางที่ชาวโรฮีนจาต้องการเดินทางไป ซึ่งขณะนี้ทางเราก็ได้มีการดูแลอยู่จำนวนหนึ่ง จำนวน 779 คน ค่าอาหาร 75 บาท/วัน/คน เราได้มีการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทั้งหมดว่า มีการหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่อีกหรือไม่ ถ้าพบก็จะนำออกมาดูแล

**ประชุม 29 พ.ค.มีคำตอบแน่

นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึง การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่า เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในการดูแลชาวโรฮีนจาร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อจะหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว เพราะปัญหามีมาก

เลขาธิการสมช. กล่าวยอมรับว่า ชาวโรฮีนจาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากคอกซ์ บาซาร์ ในบังกลาเทศ โดยที่ คอกซ์ บาร์ซาร์ เองมีค่ายอพยพที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ไปสร้างเอาไว้ ซึ่งทางยูเอ็นเอชซีอาร์ ก็ต้องนำเสนอ และมีแนวทางกลับเข้าไปพัฒนาพื้นที่ต้นทาง แต่ยังไม่แน่ใจว่า คำตอบในวันที่ 29 พ.ค.จะออกมาในแนวทางนี้หรือไม่


ส่วนจำนวนชาวโรฮีนจาที่มาจากคอกซ์ บาร์ซาร์ตนไม่สามารถระบุจำนวนได้ แต่เชื่อว่า ยังมีชาวโรฮีนจา ที่มาจากที่นั่นลอยลำอยู่กลางทะเล อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าว องค์กรระหว่างประเทศมีส่วนสำคัญที่จะมาดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือ เพราะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นประเทศปลายทาง

**"อภิสิทธิ์"ชมรัฐบาลวางบทบาทเหมาะสม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่รัฐบาลตั้งศูนย์ลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพโรฮีนจา ว่า ขอสนับสนุนรัฐบาล และยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ รวมทั้งสนับสนุนที่รัฐบาลแสดงออกให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของภูมิภาคที่ต้องร่วมกันแก้ไข ขณะเดียวกันสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งในการทำความเข้าใจกับประชาคมโลก และประเทศที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเวลา 13.45 น.วานนี้ ( 26 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการประชุมว่าด้วยการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.นี้ว่า ได้สั่งการไปหมดแล้วในทุกเรื่อง ทั้งยังได้คุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ย้ำว่า นโยบายของเราชัดเจนโดยประการแรกคือ ต้องให้ชาวโรฮีนจา รับทราบภาระของเราในเรื่องของการดูแล โดยมีตั้งแต่การตั้งศูนย์อพยพที่พักพิงในอดีต ซึ่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ดูแลอยู่ และให้งบประมาณเรามา ก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว

โดยเราทำตามมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาโดยตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 พ.ค. เราจะเสนอการตั้งศูนย์ช่วยเหลือต้นแบบ ทั้งเครื่องบินลาดตระเวน และ ฐานเรือลอยน้ำ นอกจากนี้ยังต้องดูถึงความเป็นไปได้ในการเสนองบประมาณจากยูเอ็น

ขณะเดียวกันต้องมีการจัดระเบียบชาวโรฮีนจาก่อนไปยังประเทศปลายทาง ยืนยันว่า เรามีเรือไปดูแลในเรื่องมนุษยธรรม โดยมีทั้งยาและน้ำมันต่างๆ นั่นคือการอำนวยความสะดวก แต่ไม่ได้ขึ้นฝั่งเรา อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาสมัครใจไปที่อื่นไม่กลับมายังประเทศต้นทาง เราก็บังคับไม่ได้ แม้แต่ยูเอ็น ก็บังคับไม่ได้

ส่วนประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่มีศูนย์พักพิงชั่วคราว ถือเป็นการรองรับระยะที่ 1 แต่กฎหมายเราทำไม่ได้ โดยเมื่อเราควบคุมตัว เราก็ต้องส่งเข้าไปศูนย์พักพิงชั่วคราวของประเทศเขา วันนี้ประเทศปลายทางได้ขอความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณจากยูเอ็น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการคุยกันในวันที่ 29 พ.ค.ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อาเซียนมีหลักการอยู่แล้วว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการของกันและกัน วันนี้ถ้ายิ่งพูดก็ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น อาเซียนก็จะแตกกันอีก ซึ่งประเทศต้นทางก็ไม่ได้รับรู้อะไร โดยจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย

** ซัดรัฐบาลที่ผ่านมาปล่อยปละละเลย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชาวโรฮีนจาในประเทศไทยนั้น กำลังสอบสวนอยู่ว่า เกี่ยวข้องหรืออยู่ในกระบวนการอย่างไร เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ก็มีชาวโรฮีนจาอยู่ด้วย สมาคมเหล่านี้มีการประโคมข่าวกันหรือไม่ เพราะปัญหาเกิดมาเป็น 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาการเมืองในไทยด้วย ก็เป็นมุมมองในเรื่องความมั่นคงอีกด้าน แต่จะไม่เอาประชาชน และชาวโรฮีนจาเป็นตัวประกัน โดยต้องสาวให้ครบว่าข่าวบางข่าวออกมาได้อย่างไร แล้วสมาคมเหล่านั้นมาอย่างไร ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้อง เมื่ออยู่ในไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายของไทย

" มันทำความผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทุกเรื่องผมมารื้อ แล้วควรได้รับคำตำหนิอย่างนี้หรือเปล่า หรือจะปล่อยให้มันคลุมเครืออย่างนี้ มีเงินใช้สบายใจทุกที่ จะเป็นโสเภณี ขอทาน ก็ได้ ผมพูดแรงหน่อยนะ แต่นั้นคือสิ่งที่หายไป วันนี้ผมไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้มันบิดเบือน แน่นอนมันต้องมีผลกระทบ ท่านจะอยู่อย่างนั้นต่อไปหรือ แล้ววันหน้าใครจะมีเที่ยวประเทศไทยถ้ามันสกปรก มีทั้งบ่อน ทั้งซ่อง เยอะแยะไปหมด ชอบอย่างนั้นหรือไง ถ้าชอบก็บอกมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

****ญาติเหยื่อโรฮินจาจ่อฟ้อง

วานนี้ (26 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีเครือข่ายค้ามนุษย์โรฮีนจาในพื้นที่ภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าทั้งการสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาและการสอบสวนรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อสรุปสำนวนการสอบสวนให้ทันภายในมิ.ย.นี้ โดยในส่วนของแนวทางการสอบสวนขณะนี้ได้สอบผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ทั้ง 46 คนเสร็จแล้ว ส่วนพยานได้สอบไปแล้วกว่า 100 ปากส่วนเหยื่อการค้ามนุษย์มีอยู่ 64 คนขณะนี้การสอบสวนใกล้แล้วเสร็จเหลือเพียง 9 ปากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คดีนี้นอกจากการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาทั้งการค้ามนุษย์รวมทั้งข้อหาอาชญากรข้ามชาติแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่าย คือ พนักงานสอบสวน อัยการ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคม และตัวเหยื่อ จะร่วมกันหารือเพื่อกำหนดความเสียหายของเหยื่อซึ่งสามารถชดใช้เป็นตัวเงินได้ โดยให้อัยการเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ต้องหาในคดีนี้ เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณา

ส่วนความคืบหน้าการสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหานั้น พล.ต.ต.พุทธิชาติ เอกฉันท์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า ยังไม่มีการออกหมายจับหรือจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติมโดยยังอยู่ที่ 77 หมายจับ ควบคุมตัว 46 คน และมี 31 คนที่ยังหลบหนี ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าผู้ต้องหาคนสำคัญที่อยู่ในเครือข่ายของนายปิยวัฒน์ พงษ์ไทย หรือโกหย่ง ใน จ.ระนอง ที่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามอบตัวนั้นยังไม่มีแต่อย่างใด

ส่วนที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ล่าสุดได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการคดีโรฮีนจาขึ้นมาอีก 1 แห่ง นอกเหนือจากที่ สภ.หาดใหญ่ เพื่อดูภาพรวมของคดีทั้งหมด และทาง พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อสรุปภาพรวมของคดีทั้งหมดในแต่ละวัน ทั้งการออกหมายจับ การจับกุมผู้ต้องหา การปฏิบัติงานตามแผนยุทธการปิดปลายทาง เพื่อให้ทั้งงานด้านคดี และงานด้านมวลชนเกี่ยวกับปัญหาค้ามนุษย์สามารถเดินหน้าควบคู่กันไป

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการคลี่คลายปัญหาค้ามนุษย์โรฮีนจา ซึ่งมีการจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ทั้งหมดแล้ว ทาง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เดินหน้างานด้านมวลชนในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งต้นทางและปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ จ.ระนอง สตูล และสงขลา เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชนให้เข้ามาเป็นแนวร่วมในการแจ้งเบาะแส หรือเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีมวลชนที่เข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่แล้วกว่า 6,846 คน เพราะส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะชาวโรฮีนจาขึ้นอีก

**มอบตัวอีก 2 ผู้ต้องหาค้ามนุษย์โรฮีนจา

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการติดตามตามจับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายค้ามนุษย์ ซึ่งยังมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอีก 31 คนจากที่ถูกออกหมายจับ 77 คนว่า ได้มีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวเพิ่มเติมอีก 2 คนคือนายดีน เหมมันต์ อายุ 65 ปี เครือข่ายค้ามนุษย์ใน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กลุ่มของนายบรรจง ปองผล หรือโกจง นายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ และนายหมาดสะอาด ใจดี อายุ 49 ปี เครือข่ายค้ามนุษย์ใน จ.สตูล กลุ่มของนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง

โดยทั้ง 2 คนได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้าและถูกแจ้ง 3 ข้อหาคือสมคบและร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำการอันเป็นการค้ามนุษย์ ร่วมกันช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและร่วมกันเรียกค่าไถ่ แต่ยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไว้สอบสวนเพิ่มเติม ส่งผลให้ขณะนี้ยอดผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้แล้วทั้งสิ้น 48 คนยังเหลืออีก 29 คน ที่ยังอยู่ระหว่างการติดตามจับกุม

**มาเลเซียตั้งด้านติดชายแดนไทยคุมเข้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า วานนี้ตำรวจมาเลเซียได้ตั้งจุดเฉพาะกิจขึ้นที่บ้านวังเกลียน รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ห่างจากชายแดนบ้านวังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล เพียง 600 เมตร หลังจากทางการตรวจพบแคมป์พักพิงของเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่จำนวน 28 แห่ง ซึ่งมีอุปกรณ์ เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ เพิงพักชั่วคราวที่สามารถจุคนได้แหล่งละไม่น้อยกว่า 200 คน

พร้อมกันนี้ ยังพบหลุมฝังศพ 139 หลุม โดยได้มีการนำคณะสื่อในมาเลเซียขึ้นตรวจสอบบางจุดเท่านั้น ก่อนจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมเทือกเขาบ้านวังเกลียนทั้งหมดตรวจสอบอย่างละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น