xs
xsm
sm
md
lg

“บัวแก้ว” เปิดทางสหรัฐฯบินผ่านน่านฟ้าไทย ช่วยสำรวจ “ผู้อพยพ” อย่างมีเงื่อนไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ยอมรับว่าการหารือกับรมต.ต่างประเทศ 2 ประเทศ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สรุปว่าการดำเนินงานของไทยจะต้องมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะในเรื่องFloating platformจะไม่พยายามดึงอาเซียนเข้ามาทั้งหมด และจะไม่กดดันประเทศต้นทางอย่างพม่า และจะไม่นำองค์การอิสลามโลกหรือโอไอซี เข้ามา โดยจะเน้นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์มากกว่า (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กเจี๊ยบ” อนุมัติให้เครื่องบินกองทัพสหรัฐอเมริกา บินผ่านน่านฟ้าไทย แบบมีเงื่อนไขต้องเปิดรายละเอียดเส้นทางบินให้ชัดเจน หลัง “กองทัพอากาศสหรัฐฯ” ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และ ภูเก็ตเป็นฐาน ก่อนบินออกลาดตระเวนสำรวจสถานการณ์ผู้อพยพในทะเล วอน! 17 ประเทศ หารือโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เน้น “ขบวนการค้ามนุษย์” ครม. ถก มะกันขอบินช่วย หวั่นประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เกิดความหวาดระแวง ให้อยู่แค่ 6 เดือน

วันนี้ (26 พ.ค.) มีรายงานว่า พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เห็นชอบกรณีที่สหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และ ภูเก็ต เป็นฐานก่อนบินออกลาดตระเวนสำรวจสถานการณ์ผู้อพยพในทะเล โดย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกลับไปว่าหากสหรัฐฯ ต้องการบินเหนือน่านน้ำไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย โดยใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ นั้นถือเป็นภารกิจที่ดี แต่สหรัฐฯจะต้องเพิ่มรายละเอียดมากกว่านี้ อาทิ เส้นทางบินเพราะการปฏิบัติภารกิจนี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยเฉพาะกิจที่ไทยจัดตั้งขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือจะเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้สหรัฐสนับสนุนส่งเรือร่วมปฏิบัติภารกิจของไทยซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบอย่างเป็นทางการจากสหรัฐตอบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ใน 17 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และประเทศสังเกตการณ์ 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ และ ญี่ปุ่น รวมองค์การะหว่างประเทศ คือ สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในวันที่ 29 พฤษภาคม นี้ ที่โรงแรมอนันตรา เพื่อหาแนวทางแก้ไขการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติอย่างยั่งยืน

โดยการประชุมมี 3 หัวข้อหลัก คือ 1. เร่งแก้ไขปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ประมาณ 7,000 คน 2. ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานในระยะยาว โดยเน้นขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ 3. การเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศต้นทาง โดยไทยจะผลักดันให้เป็นประเด็นที่ทุกประเทศต้องแก้ไข ทั้งประเทศ ต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง โดยเน้นหลักการร่วมแบ่งปันภาระระหว่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศต้นทางและประเทศในภูมิภาค

มีรายงานว่า พม่าได้แจ้งข้อมูลมายังกระทรวงการต่างประเทศว่าจะจัดส่งผู้แทนจากพม่ามาร่วมประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้

พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทย คาดหวังว่า ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะเสนอความพร้อมให้การช่วยเหลือร่วมกับไทย และประเทศอาเซียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโยกย้านถิ่นฐานแบบไม่ปกติมีประสิทธิภาพสูงสุด แม้ว่าขณะนี้ไทยจะได้รับดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในเบื้องต้นแล้ว แต่ก็ยังต้องการให้องค์การระหว่างประเทศและประเทศที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ไข แต่ไทยยืนยันที่จะไม่รับเงินช่วยเหลือโดยตรง โดยขอให้องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ

“เราเป็นเมืองพุทธ เห็นคนจะตายต้องช่วย เราจะไม่รอ เราจะต้องช่วยคนก่อนที่ฤดูมรสุมจะเริ่มขึ้นปลายเดือนนี้ แต่เรารับมาอยู่อีก 3 พันคนไม่ได้ เพราะเรายังมีชาวโรฮิงญาที่เคยรับไว้ที่ค่าย และผู้ลี้ภัยทางสงครามอีกจำนวนมาก จึงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดตรงนี้ด้วย”

นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพไทย ปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ยังลอยเรืออยู่ในทะเล ตามขีดความสามารถและขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยจัดกำลังลาดตระเวณทางอากาศและทางเรือ ตรวจสอบน่านน้ำบริเวณเขตรอยต่อของประเทศไทย เพื่อเป็น “Floating platform” ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค จนกว่ามาเลย์เซียและอินโดนีเซียจะพร้อมรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานไปดูแลต่อตามที่ได้ประกาศไว้

ทั้งนี้ เรือที่ทำหน้าที่ “Floating platform” จะประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ ทีมเจ้าหน้าที่สอบสวนการค้ามนุษย์ และทีมบันทึกประวัติเพื่อคัดแยกและส่งต่อตามกระบวนการคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งนี้หากพบว่ามีผู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าประเทศไทยก็จะปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นโดยยึดหลักมนุษยธรรมก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของไทยทั้งนี้การปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมของประเทศไทยได้เริ่มปฏิบัติการแล้วและจะจบภารกิจเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม

ส่วนการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.ต่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมือสัปดาห์ที่แล้ว ว่าในแถลงการดังกล่าวค่อนข้างมีรายละเอียดในส่วนของการดำเนินงานของไทยจะต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งไทยมีแนวทางการดำเนินการอยู่ในเรื่อง “Floating platform”

“เราจะไม่พยายามดึงอาเซียนเข้ามาทั้งหมด และจะไม่กดดันประเทศต้นทางอย่างพม่า และจะไม่นำองค์การอิสลามโลก หรือ โอไอซี เข้ามา เพราะพม่าจะไม่เข้าร่วม แต่เราชูโรงไปว่าเป็นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์มากกว่า มีทั้งผู้ที่ถูกหลอกและผู้ที่โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ ถ้าเราขจัดขบวนการเหล่านี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี” พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าว

มีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคง ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. ถึงกรณีนี้ ว่า การที่ไทยตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวนนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขอเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ของไทย เพื่อใช้ในการบินสำรวจและช่วยเหลือชาวโรฮีนจาที่ลอยเรือในทะเล แต่ฝ่ายความมั่นคงของไทยมองว่าไทยอยู่ร่วมกับหลายประเทศในโลก จึงต้องสร้างความไว้วางใจให้ประเทศอื่นๆด้วย หากอนุญาตให้สหรัฐฯดำเนินการดังกล่าว อาจทำให้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เกิดความหวาดระแวงว่าจะมีการสำรวจเฉพาะการช่วยเหลือชาวโรฮีนจาเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ดังนั้น ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ประกอบกับความมั่นคง ไทย จึงมีการตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น โดยให้กองทัพไทยเป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้นำร่องในการปฏิบัติการต่างๆ และจะดำเนินการตามกฎ กติกาที่กำหนดว่าถ้ามีการรับผู้อพยพมาในประเทศ จะต้องให้อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น