xs
xsm
sm
md
lg

“สรรเสริญ” ย้ำรัฐบาลไม่รับโรฮีนจาตั้งรกรากในไทย ระบุเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล ย้ำไทยไม่มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเข้ามาตั้งรกรากในประเทศ ตามแนวคิดของบางองค์กร ชี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ยินดีให้ความช่วยเหลือตามหลักการขั้นพื้นฐานด้านมนุษยธรรม เตรียมกรอบการประชุมร่วม 15 ชาติ แก้ปัญหา การย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจุดยืนชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ของ ชาวโรฮีนจา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นเหยื่อในวงจรการค้ามนุษย์ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกชาติจึงจะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้ โดยประเทศไทยยินดีให้ความช่วยเหลือตามหลักการขั้นพื้นฐานด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อหลักฎหมายของไทยและความมั่นคงภายในประเทศซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องและดูแลประชาชนคนไทยเช่นกัน

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยดูแลผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายตามหลักมนุษยธรรมเสมอมา อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า ผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายของไทย จำเป็นต้องถูกควบคุมตัวดำเนินคดี และส่งกลับต้นทางหรือประเทศที่ 3 ต่อไป ตามความสมัครใจของผู้ลักลอบ ไม่มีนโยบายให้ตั้งรกรากในประเทศไทย”

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า แนวคิดจากบางองค์กรที่เสนอให้ประเทศไทยเปิดชายแดนรับผู้หลบหนีข้ามแดนเหล่านี้เข้ามา แล้วจัดหาที่อยู่ ดูแลเรื่องจัดหางานให้ทำ เป็นแนวคิดที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายของไทย รวมทั้งอาจกระทบกับปัญหาความมั่นคงของประเทศไทย

“ต้องไม่ลืมว่า บุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้ลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ข้อเสนอเช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วิธีการแก้ไขปัญหาที่ สมเหตุสมผลคือ องค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่บรรเทาทุกข์จำเป็นต้องเข้าไปจัดระเบียบ และดูแลคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ในประเทศต้นทาง ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและหลบหนีมายังประเทศอื่นๆ อีก”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพฯโดยในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะเชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 15 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม บังคลาเทศ

รวมทั้งเชิญประเทศผู้สังเกตการณ์ อาทิ สหรัฐฯ ตลอดจนผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เข้าร่วมด้วยโดยในที่ประชุม จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองเกี่ยวกับสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล และอาจจะมีการบังคับใช้กฎหมายร่วมกันเพื่อทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติรวมถึงขอความร่วมมือช่วยกันใน การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยขบวนการค้ามนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น