xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ได้เบาะแส “โกโต้ง” ผู้ต้องหาค้าโรฮีนจา กบดานในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร.
โฆษก ตร. เผยวันนี้จะมีผู้ต้องหาเครือข่ายค้ามนุษย์โรฮีนจาติดต่อขอเข้ามอบตัวอีก 2 ราย ชี้เป็นผู้ต้องหาระดับกลาง ทำหน้าที่ขนส่งชาวโรฮีนจาไปพื้นที่ต่างๆ ระบุ “โกโต้ง” ยังกบดานในประเทศไทย คาดจับได้เร็วๆ นี้

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ว่า ล่าสุด พนักงานสอบสวนได้ขอศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เพิ่มเติมอีก 1 คน รวมทั้งสิ้นตอนนี้มีผู้ต้องหาร่วมขบวนการที่ถูกออกหมายจับเป็น 62 คน สามารถจับกุมตัวได้ 28 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการเข้ามามอบตัว 17 ราย นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมตัวได้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ต้องหาที่ออกหมายจับเพิ่มเติมรายล่าสุดนั้นเป็นผู้ต้องหาระดับกลาง เป็นลูกน้องของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการขนส่งชาวโรฮีนจาไปยังพื้นที่ปลายทางต่างๆ โดยในวันนี้จะมีผู้ต้องหาตามหมายจับติดต่อขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมอีก 2 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ส่วนการติดตามจับกุมตัว นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล ผู้ต้องหารายใหญ่ในขบวนการนี้ ล่าสุด จากทางการข่าวยังไม่พบว่ามีการหลบหนีออกไปต่างประเทศตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเจ้าตัวยังคงหลบหนีอยู่ภายในประเทศไทย และคาดว่าเร็วๆนี้จะสามารถติดตามจับกุมมาได้แน่นอน

เมื่อถามถึงแนวทางในการดำเนินการกับชาวโรฮีนจาที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการต่อชาวโรฮีนจานั้น เจ้าหน้าที่จะแยกออกเป็นกลุ่มๆซึ่งจะมีมาตรการในการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป อาทิ กลุ่มชาวโรฮีนจาที่ตั้งใจหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ และกลุ่มที่เข้ามาทำงานภายในประเทศไทยแล้ว ถ้าหากพบว่ามีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายก็จะไม่มีความผิด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะเน้นไปที่การขนส่งชาวโรฮีนจาจำนวนมากผ่านทางเรือที่ลอยลำมากลางทะเลในน่านน้ำไทยเป็นหลัก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ที่กำลังเร่งปราบปรามอยู่ในขณะนี้

“ส่วนการจัดการคงไม่ใช่เป็นการให้คนกลุ่มนี้เข้ามาขอลี้ภัย เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะให้คนกลุ่มนี้ขอลี้ภัยหรือสร้างค่ายพักพิงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชาวโรฮีนจาที่อยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ไทยมีอยู่ประมาณ 300 คน ในจำนวนนี้เป็นเหยื่อที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงมาถึง 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”

พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าว และว่า นอกจากการวางกำลังเฝ้าระวังตรวจตราการเคลื่อนไหวของขบวนการค้ามนุษย์และเรือขนส่งชาวโรฮีนจาตลอดแนวชาวฝั่งอันดามันตั้งแต่ จ.ระนอง ลงมาจนถึงแนวชายแดนประเทศมาเลเซียแล้ว ก็ยังได้มีการวางแนวทางการสืบสวนเชิงลึกเกี่ยวกับขบวนการดังกล่าว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ให้ตำรวจภูธรภาค 9 ลงพื้นที่ตามแนวชายฝั่งเพื่อทำงานด้านมวลชน มีการพูดคุยสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับเรือขนส่งชาวโรฮีนจาของขบวนการค้ามนุษย์เพิ่มเติมเพื่อเก็บเป็นเบาะแสข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน รวมไปถึงการตรวจสอบเฝ้าระวังเรือเล็กและเรือใหญ่ที่อาจมีการนำชาวโรฮีนจามาขึ้นฝั่งอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น