เลขาธิการยูเอ็น ต่อสายตรงถึงนายกฯ หารือแนวทางแก้ปัญหา พร้อมหนุนจัดประชุม 15 ประเทศ แก้ปัญหา“โรฮีนจา”อพยพ ขณะที่รัฐบาลไทย ย้ำต้องแก้ที่ต้นทาง พร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ลุยทลายแก๊งใช้ค้ามนุษย์ เผยรวบตัวการสำคัญ "นายอันวา" ชาวโรฮิงญา สัญชาติพม่าได้แล้ว ผบ.ทบ. ยัน ไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิง ชี้เป็นพื้นที่ควบคุมอยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจ รอประเทศอื่นรับช่วงต่อ ด้านกต.ส่งเทียบเชิญ 17 ปท.หารือแก้ปัญหา โฆษกตร.เผยมี 2 ผู้ต้องหาค้ามนุษย์เข้ามอบตัว ระบุ "โกโต้ง" ยังกบดานในไทย คาดจับได้เร็วๆนี้ ขณะที่กระแสข่าวการอพยพโรฮีนจายังมีต่อเนื่อง เดินหน้าอายัดทรัพย์แล้วกว่า 300 ล้านบาท ด้าน ตร.ไล่ล่าขบวนการค้ามนุษย์ ออกหมายจับเพิ่มอีก 1 ราย นักการเมืองท้องถิ่นมีเอี่ยวถูกตั้งกก.สอบ
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ในฐานะทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 พ.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย นาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรศัพท์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เพื่อสอบถามและ แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอพยพของชาวโรฮีนจา ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น โดยแสดงความเห็นว่า คนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)และมีสิทธิขั้นพื้นฐาน (Human Basic Rights)ในการใช้ดำรงชีวิต ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์เช่นกัน และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าตรวจ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึบการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อดูแลบริเวณน่านน้ำไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการตรวจพบเรือชาวโรฮีนจา ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้น ถึงสภาพเรือ ความเป็นอยู่ พร้อมสอบถามความต้องการ และเจตนารมณ์ของคนเหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และตามความสมัครใจของคนเหล่านั้น เช่น กรณีล่าสุดเจ้าหน้าที่ไทยได้รับการร้องขอให้ช่วยเรื่องการซ่อมเรือ พร้อมทั้งขอสนับสนุนช่วยเหลือ เรื่องอาหาร และ น้ำเพื่อบริโภค-อุปโภค ยารักษาโรค และน้ำมัน เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ตามความสมัครใจของคนเหล่านั้น
นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่า การทำงานของหน่วยเฉพาะกิจ เป็นไปตามขั้นตอน โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เป็นลำดับแรก จากนั้นจะสอบถามความสมัครใจของชาวโรฮีนจา ทั้งนี้ การปฏิบัติของไทยนอกจากจะอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ทุกประเทศต่างก็มีกฎหมายของตน ในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น การดำเนินการใดๆจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย
ขณะที่ เลขาธิการสหประชาติ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย และสอบถามถึงการประชุมวาระพิเศษ เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมว่า เป็นความริเริ่มที่สำคัญของไทยในการแสวงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายว่า รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้ และเห็นว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ และทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสหประชาติ ที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน เน้นการพัฒนาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยหวังให้คนเหล่านี้ สามารถดำรงชีวิตได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเห็นว่า การประชุมร่วมของ 15 ประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. นี้ น่าจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เพื่อแสวงหาแนวทางและข้อสรุปของการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญกว่านั้น เวทีนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการแสดงความรับผิดชอบต่อมวลมนุษยชาติ
ในตอนท้ายของการพูดคุยดังกล่าวนายกรัฐมนตรี ยังได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติ ช่วยทำความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ ให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เน้นความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม ตามหลักมนุษยธรรมบนพื้นฐานของกฏหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความข้ดแยังทางการเมือง ซึ่ง เลขาธิการสหประชาติ กล่าวพร้อมสนับสนุนแนวความคิดนี้ และพร้อมร่วมมือเพื่อให้การประชุมของ 15 ประเทศ ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย และอาเซียนด้วย
**ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้อมูลในสังคมและสื่อ ค่อนข้างสับสนจึงขออธิบายโดยสรุปถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญร่วมกันในระดับภูมิภาค กล่าวคือ มีการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย โดยมาทางเรือจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหวังจะเดินทางไปประเทศที่สาม ซึ่งในจำนวนนี้ บางส่วนเดินทางมาโดยสมัครใจ และบางส่วนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งไม่ว่าจะมาด้วยสาเหตุใด ล้วนถือเป็นผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายของประเทศไทย
"ในการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นโดยไม่ปกติ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศต้นทางที่มีการเคลื่อนย้ายออกมา ซึ่งถือเป็นการแก้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ทั้งนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพกาจัดประชุม ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อเช้าวานนี้ และท่านเลขายูเอ็น ได้แสดงความเห็นด้วย และสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของไทย สำหรับประเทศไทย เรามีจุดยืนชัดเจนในการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ที่ผ่านมาเมื่อมีเรือในลักษณะนี้เข้ามาในเขตน่านน้ำรอยต่อระหว่างประเทศ ทหารเรือจะมีชุดลาดตะเวนออกไป เพื่อสอบถามความต้องการการช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการน้ำ อาหาร และขอช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์บนเรือ เพื่อให้สามารถเดินทางต่อได้ ซึ่งเราได้ให้ความช่วยเหลือตามประสงค์ "
สำหรับผู้เคลื่อนย้ายบางส่วนพบว่าจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งทางการไทย มีนโยบายชัดเจนในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ยอมให้ใช้ประเทศไทย เป็นทางผ่าน จุดแวะพัก ของขบวนการนี้ และติดตามจับกุมลงโทษสถานหนัก ในกรณีที่พบว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวพันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด
"ข้อมูลล่าสุด จนถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ทางเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจพบผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายเหล่านี้ จำนวน 312 คน พบว่าเป็นเหยื่อการคัามนุษย์ 63 คน และได้ออกหมายจับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ 61 หมาย ประกอบด้วยนักการเมืองท้องถิ่น 5 คน ปกครองท้องถิ่น 3 คน ตำรวจ 2 คน และผู้กระทำความผิดอื่นอีก 51 คน โดยในจำนวนนี้ ได้จับตัวแล้ว 27 คน รวมทั้งนายอันวา ซึ่ง จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า เป็นคนสัญชาติพม่า เป็นชาวโรฮีนจา มิใช่คนไทยตามที่สื่อออกข่าว"
ส่วนผู้ที่ถูกออกหมายจับแล้ว ยังหลบหนีอีก 34 คน ขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดสกัดในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 75 จุด และจะเร่งจับกุมให้ได้เร็วที่สุด นอกเหนือจากการติดตามจับกุมแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึด และอายัดทรัพย์ของบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ รวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท
"ทั้งนี้ การติดตามทลายขบวนการค้ามนุษย์ มีจุดเริ่มต้นจากคดีเรียกค่าไถ่ ชาวโรฮีนจา ในอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่การขยายผลในคดีนี้ จนออกหมายจับจำนวนกว่า 61 หมาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะกวาดล้างขบวนการดังกล่าว ไม่ให้ใช้ไทยเป็นทางผ่าน หรือจุดพักใดๆ ทั้งสิ้น " พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
**ยันไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิงโรฮีนจา
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (บ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องการที่จะให้ไทยตั้งศูนย์พักพิงให้กับชาวโรฮีนจา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงไปดูพื้นที่ เพื่อหาจุดที่เหมาะสม เพราะขณะนี้เราพยายามกวดขันให้คนที่หลบซ่อนอยู่ หรือเข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย ออกมา และดูแลให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เรากำลังมองหาสถานที่อยู่ ซึ่งมีแนวคิดอยู่บ้างแล้ว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรง ยังรับไหวอยู่ ก็ถือเป็นหน้าที่ของตำรวจไปก่อน แต่ถ้าหากรับไม่ไหว หรือมีจำนวนมากไป ก็ต้องหาพื้นที่
"ขณะก็มองพื้นที่อยู่บ้างแล้ว แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพื้นที่ใด เราก็พยายามจะดูแลตรงนี้ให้ดีที่สุด ในส่วนของต่างประเทศเองก็น่าจะเห็นถึงความตั้งใจจริงของประเทศไทย ซึ่งต้องเข้าใจว่าเราเป็นประเทศกลางทาง และได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างดีที่สุดแล้ว และเหตุการณ์ก็หมักหมม มานาน และที่ผ่านมาก็มีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ได้เป็นจำนวนมาก และไม่เคยปรากฏในห้วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ในส่วนของต่างประเทศที่จะต้องเข้าใจว่าเราทำเต็มที่แล้ว และก็จะทำให้ดีขึ้นไปอีก ส่วนมาตรการในการดำเนินการของทหารนั้น ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 4 ไปดูแลโดยจัดกำลัง 3 ฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน เข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย ตั้งแต่ จ.สงขลา จ.สตูล ที่คาดว่าจะมีสถานที่พัก หรือสถานที่กักกันต่างๆ ถือเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปดูทุกพื้นที่ เพื่อเคลียร์สถานที่ให้ได้ ผมยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ตั้งศูนย์พักพิง เหมือนกับบริเวณตามแนวชายแดนไทย ที่หลบหนีการสู้รบมา อันนี้ไม่ใช่ แต่เป็นพื้นที่ที่ทางตำรวจต้องควบคุม ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องไปถึงระดับที่องค์กรต่างๆ ต้องเข้ามาดูแล ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องระมัดระวัง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย การเตรียมพื้นที่ให้ความดูแลในระหว่างที่ยังไม่มีประเทศใดรับกลับไปได้ " พล.อ.อุดมเดช กล่าว
**กต.ส่งเทียบเชิญ 17 ปท.ร่วมแก้ปัญหาโรฮีนจา
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์ถึง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดูแลชาวโรฮีนจา ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันแล้วว่าไทยดำเนินนโยบายให้การดูแลผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด และจะไม่มีการผลักดันออกไป
ส่วนข้อเสนอให้ตั้งศูนย์พักพิงนั้น ขอยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะดูแล แต่จะต้องเป็นศูนย์ชั่วคราว เพราะจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ไม่เช่นนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดแก่ผู้ที่ไม่ได้ประสบภัยอย่างแท้จริง ซึ่งอาจใช้โอกาสดังกล่าวในการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือเชิญไปยัง 17 ประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาโรฮีนจาในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ เชื่อว่าทุกประเทศจะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรจากพม่าว่าจะไม่ส่งคนมาร่วมแต่อย่างใด เชื่อว่าเวทีนี้จะมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาโรฮีนจาและปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป
**ตร.ได้เบาะแส"โกโต้ง" ยันกบดานอยู่ในไทย
วานนี้ (17 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ว่า ล่าสุดพนักงานสอบสวนได้ขอศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เพิ่มเติมอีก 1 คน คือ นายดาเหร็ด หมานสะโต๊ะ รวมทั้งสิ้นตอนนี้มีผู้ถูกออกหมายจับ 63 คน สามารถจับกุมตัวได้ 28 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการเข้ามามอบตัว 17 ราย นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมตัวได้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ต้องหาที่ออกหมายจับเพิ่มเติมรายล่าสุดนั้นเป็นผู้ต้องหาระดับกลาง เป็นลูกน้องของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการขนส่งชาวโรฮีนจาไปยังพื้นที่ปลายทางต่างๆ โดยในวันนี้จะมีผู้ต้องหาตามหมายจับติดต่อขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมอีก 2 ราย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้
“ เจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่า นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายก อบจ.สตูล ผู้ต้องหารายใหญ่ในขบวนการนี้ ยังคงหลบหนีอยู่ภายในประเทศไทย และคาดว่าเร็วๆนี้จะสามารถติดตามจับกุมมาได้แน่นอน”
**โรฮีนจายังทะลักผ่านไทย
วานนี้ (17 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สื่อหลายสำนักยังคงเกาะติดการอพยพเข้ามาของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาตามแนวน่านน้ำสากลติดกับทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง หลังการข่าวพบว่า มีการทยอยอพยพเดินทางออกนอกที่ตั้งยะไข่อีกหลายพันคน ขณะที่ น.ต.วีระพงษ์ นาคประสิทธิ์ ผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 491 หลีเป๊ะ กองทัพเรือภาคที่ 3 ยืนยันว่า ขณะนี้เรือชาวโรฮีนจาที่พลัดหลงเข้ามา 450 กว่าชีวิต ขณะนี้ได้แล่นเรือลอยลำออกไปในทะเลน่านน้ำสากลไกลกว่า 40 ไมล์ทะเลแล้ว
โดยก่อนผลักดันทางทหารได้คุ้มกันไปส่งยังจุดที่ผู้อพยพต้องการจะไป จนถึงเส้นแบ่งเขตน่านน้ำสากลอย่างปลอดภัย และขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมตลอด ทั้งในด้านป้องกันไม่ให้มีการอพยพผ่านจังหวัดสตูลต่อไปยังประเทศที่สาม รวมทั้งสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์
**ติดหมายจับเครือข่าย“โกโต้ง”ทั่วเมืองสตูล
พร้อมได้ออกปฏิทินหมายจับเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง ติดทุกท้องที่ในการติดตามจับกุมตัว ในขณะที่วันพรุ่งนี้จะเดินทางยึดทรัพย์ นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ บนกาะหลีเป๊ะ หลังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งตะรุเตา (เกาะหลีเป๊ะ) รวม 8 คดีตามที่นายศุภเศรษฐ์ ตามพระหัตถ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้แจ้งความไว้
**พร้อมเดินทางอายัดทรัพย์แล้วกว่า300ล้าน
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้นอกจากการตรวจจุดเสี่ยงที่บ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ปากน้ำ อ.ละงู และจุดเสี่ยง บ้านวังประจัน ต.วังประจัน อ.ควนโดน แล้วยังพบปะมวลชนในพื้นที่ อ.ควนโดน ด้วย โดยมีฝ่ายปกครองอำเภอควนโดน นายอำเภอเข้าร่วมด้วย ซึ่งพบว่าบริเวณโดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน โดยรอบถือว่าเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่ขบวนการค้าคนต่างด้าว ขึ้นไปหลบหนีและอพยพไปยังเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
โดยการติดตามจับกุมโกโต้งในประเทศมาเลเซียนั้นได้มีการประสานการทำงานกับทางการมาเลเซียโดยตลอด ส่วนการจะยึดทรัพย์ของโกโต้งบนเกาะหลีเป๊ะนั้น ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ โปร่งใส หากมีการฟ้องร้องตำรวจต้องรับผิดชอบ ซึ่งในเรื่องนี้มีการทำงานร่วมกับ ปปง.ในการอายัดทรัพย์สินไว้เพื่อตรวจสอบในเบื้องต้นเท่านั้น ขณะนี้ 200-300 ล้านบาท เกี่ยวเนื่องของคดีที่สตูล - หัวไทร -หาดใหญ่ วัฏจักรของมันขณะนี้มีความชัดเจน มีความเชื่อมโยงในส่วนของบุคคล สถานที่ คดีค้างเก่า รวมทั้งความเกี่ยวเนื่องขัดแย้งแย่งลูกค้า ไม่จ่ายหนี้ไปยิงไปฆ่ากันก็มีทั้งหมดโดยมอบหมายให้ รองเอกภพ เป็นผู้ดูแล
**"จอห์นแคร์รี"สายตรง"ธนะศักดิ์"ขอให้ตั้งศูนย์ชั่วคราว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเจฟฟ์ รัธเค โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้โทรศัพท์หารือกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อค่ำวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้อพยพในทะเลอันดามัน รวมทั้งพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวให้กับคนเหล่านี้ โดยสหรัฐได้เรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อรักษาชีวิตของผู้อพยพที่ลอยเรืออยู่ในทะเล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมกับขอบคุณไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่รับผู้อพยพไปแล้วราว 3,000 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมา และขอให้รัฐบาลในภูมิภาคระงับการผลักดันเรือขนผู้อพยพลำใหม่ที่เข้ามาในน่านน้ำ
นายรัธเคกล่าวว่า สหรัฐวางแผนที่จะส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมหารือระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และกำลังอยู่ระหว่างการหารือภายในถึงแนวทางที่สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าจำเป็นต้องได้รับการจัดการด้วยความเหมาะสมและรวดเร็ว และแก้ไขปัญหาผ่านความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อรักษาชีวิตที่เปราะบางของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายพันคน