xs
xsm
sm
md
lg

UN ต่อสายนายกฯ แก้โรฮีนจา หนุนคุย 15 ชาติ รบ.เผยรวบชาวพม่าตัวการสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐ เผย เลขาฯ UN ต่อสายตรง “ประยุทธ์” ถกแก้โรฮีนจา หนุนจัดประชุม 15 ชาติหาทางออก ชี้ ปัญหาการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ต้องแก้ที่ต้นทาง รับไทยช่วยเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม พร้อมลุยทลายแก๊งใช้เพื่อนมนุษย์เป็นสินค้า เผยรวบตัวการสำคัญ “นายอันวา” ชาวโรฮีนจา สัญชาติพม่า ได้แล้ว เตรียมออกหมายจับอีก 61 หมาย

วันนี้ (17 พ.ค.) พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ในฐานะทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ เวลาประมาณ 10.00 น ตามเวลาในประเทศไทย นาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้โทรศัพท์ถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามและแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การอพยพของชาวโรฮีนจาที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น โดยแสดงความเห็นว่า คนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และมีสิทธิขั้นพื้นฐาน (Human Basic Rights) ในการใช้ดำรงชีวิต ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์เช่นกัน และได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าตรวจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึบการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดูแลบริเวณน่านน้ำไทย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจพบเรือชาวโรฮีนจา ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้นถึงสภาพเรือ ความเป็นอยู่ พร้อมสอบถามความต้องการและเจตนารมณ์ของคนเหล่านี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และตามความสมัครใจของคนเหล่านั้นเช่นกรณีล่าสุดเจ้าหน้าที่ไทยได้รับการร้องขอให้ช่วยเรื่องการซ่อมเรือ พร้อมทั้งขอสนับสนุนช่วยเหลือเรื่องอาหารและ น้ำเพื่อบริโภค - อุปโภค ยารักษาโรค และน้ำมันเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจของคนเหล่านั้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่า การทำงานของหน่วยเฉพาะกิจเป็นไปตามขั้นตอนโดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นลำดับแรก จากนั้นจะสอบถามความสมัครใจของชาวโรฮีนจา ทั้งนี้ การปฏิบัติของไทยนอกจากจะอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรมแล้วยังเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล กฎหมายทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ทุกประเทศต่างก็มีกฎหมายของตนในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น การดำเนินการใดๆ จะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย ขณะที่เลขาธิการสหประชาติ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและสอบถามถึงการประชุมวาระพิเศษเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย พร้อมกันนี้ ได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นความริเริ่มที่สำคัญของไทยในการแสวงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อธิบายว่ารัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความเร่งด่วนในเรื่องนี้และเห็นว่าการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสหประชาติที่ต้องมีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือ

โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน เน้นการพัฒนาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยหวังให้คนเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเห็นว่าการประชุมร่วมของ 15 ประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ค. นี้ น่าจะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เพื่อแสวงหาแนวทางและข้อสรุปของการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญกว่านั้น เวทีนี้จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการแสดงความรับผิดชอบต่อมวลมนุษยชาติ

ในตอนท้ายของการพูดคุยดังกล่าวนายกรัฐมนตรียังได้ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติช่วยทำความเข้าใจกับองค์กรต่างๆ ให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเน้นความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมตามหลักมนุษยธรรมบนพื้นฐานของกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความข้ดแยังทางการเมือง ซึ่งเลขาธิการสหประชาติ กล่าวพร้อมสนับสนุนแนวความคิดนี้และพร้อมร่วมมือเพื่อให้การประชุมของ 15 ประเทศ ประสบผลสำเร็จรวมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยและอาเซียนด้วย

ด้าน พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้อมูลในสังคมและสื่อค่อนข้างสับสน จึงขออธิบายโดยสรุปถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญร่วมกันในระดับภูมิภาคกล่าวคือ มีการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย โดยมาทางเรือจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหวังจะเดินทางไปประเทศที่สาม ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนเดินทางมาโดยสมัครใจ และบางส่วนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งไม่ว่าจะมาด้วยสาเหตุใด ล้วนถือเป็นผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายของประเทศไทย ในการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นโดยไม่ปกติ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศต้นทางที่มีการเคลื่อนย้ายออกมา ซึ่งถือเป็นการแก้ที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อเช้านี้ และท่านเลขายูเอ็น ได้แสดงความเห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาของไทย สำหรับประเทศไทย เรามีจุดยืนชัดเจนในการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ที่ผ่านมา เมื่อมีเรือในลักษณะนี้เข้ามาในเขตน่านน้ำรอยต่อระหว่างประเทศ ทหารเรือจะมีชุดลาดตระเวนออกเพื่อสอบถามความต้องการการช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการน้ำ อาหาร และขอช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์บนเรือ เพื่อให้สามารถเดินทางต่อได้ ซึ่งเราได้ให้ความช่วยเหลือตามประสงค์” สำหรับผู้เคลื่อนย้ายบางส่วน พบว่า จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งทางการไทยมีนโยบายชัดเจนในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ยอมให้ใช้ประเทศไทย เป็นทางผ่าน จุดแวะพัก ของขบวนการนี้ และติดตามจับกุมลงโทษสถานหนักในกรณีที่พบว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวพันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด

“ข้อมูลล่าสุด จนถึง วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ทางเจ้าหน้าที่ เข้าตรวจพบผู้ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายเหล่านี้จำนวน 312 คน พบว่า เป็นเหยื่อการคัามนุษย์ 63 คน และได้ ออกหมายจับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ 61 หมาย ประกอบด้วย นักการเมืองท้องถิ่น 5 คน ปกครองท้องถิ่น 3 คน ตำรวจ 2 คน และผู้กระทำความผิดอื่นอีก 51 คน โดยในจำนวนนี้ ได้จับตัวแล้ว 27 คน รวมทั้ง นายอันวา ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า เป็นคนสัญชาติพม่า เป็นชาวโรฮีนจา มิใช่คนไทยตามที่สื่อออกข่าว”

พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่ถูกออกหมายจับแล้วยังหลบหนีอีก 34 คน ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดสกัดในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 75 จุด และจะเร่งจับกุมให้ได้เร็วที่สุดนอกเหนือจากการติดตามจับกุมแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยึดและอายัดทรัพย์ของบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ รวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท “ทั้งนี้ การติดตามทลายขบวนการค้ามนุษย์ มีจุดเริ่มต้นจากคดีเรียกค่าไถ่ ชาวโรฮีนจา ใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่การขยายผลในคดีนี้ จนออกหมายจับจำนวนกว่า 61 หมาย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกวาดล้างขบวนการดังกล่าว ไม่ให้ใช้ไทยเป็นทางผ่าน หรือจุดพักใดๆ ทั้งสิ้น”


บิ๊กโด่งยันไม่ตั้งศูนย์พักพิง เลขาฯUNถก15ปท.แก้โรฮีนจา โกโต้งกบดานในไทย-เดินหน้ายึดทรัพย์
บิ๊กโด่งยันไม่ตั้งศูนย์พักพิง เลขาฯUNถก15ปท.แก้โรฮีนจา โกโต้งกบดานในไทย-เดินหน้ายึดทรัพย์
เลขาธิการยูเอ็น ต่อสายตรงถึงนายกฯ หารือแนวทางแก้ปัญหา พร้อมหนุนจัดประชุม 15 ประเทศ แก้ปัญหา“โรฮีนจา”อพยพ ขณะที่รัฐบาลไทย ย้ำต้องแก้ที่ต้นทาง พร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ลุยทลายแก๊งใช้ค้ามนุษย์ เผยรวบตัวการสำคัญ นายอันวา ชาวโรฮิงญา สัญชาติพม่าได้แล้ว ผบ.ทบ. ยัน ไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิง ชี้เป็นพื้นที่ควบคุมอยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจ รอประเทศอื่นรับช่วงต่อ ด้านกต.ส่งเทียบเชิญ 17 ปท.หารือแก้ปัญหา โฆษกตร.เผยมี 2 ผู้ต้องหาค้ามนุษย์เข้ามอบตัว ระบุ โกโต้ง ยังกบดานในไทย คาดจับได้เร็วๆนี้ ขณะที่กระแสข่าวการอพยพโรฮีนจายังมีต่อเนื่อง เดินหน้าอายัดทรัพย์แล้วกว่า 300 ล้านบาท ด้าน ตร.ไล่ล่าขบวนการค้ามนุษย์ ออกหมายจับเพิ่มอีก 1 ราย นักการเมืองท้องถิ่นมีเอี่ยวถูกตั้งกก.สอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น