เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สหรัฐฯ แสดงความกังวลในวันนี้ (13 พ.ค.) ถึงชะตาชีวิตของผู้อพยพหลายร้อยคนที่ถูกกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์ทอดทิ้งไว้บนบกและกลางทะเล โดยเรียกร้องให้กลุ่มชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตดังกล่าว
ชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจาจากพม่าจำนวนมากได้หลบหนีความยากแค้น และการถูกห่มเหงรังแกลงเรือสภาพทรุดโทรมข้ามอ่าวเบงกอลผ่านช่องทางของกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งดำเนินเครือข่ายลักลอบขนคนเข้าเมืองในภูมิภาคอันเฟื่องฟูและสร้างผลกำไรงาม
ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีผู้อพยพที่สิ้นหวังหลายพันคนถูกทอดทิ้งโดยกลุ่มลักลอบขนเข้าเมือง ส่วนหนึ่งอยู่ในค่ายกลางป่าทึบ อีกส่วนหนึ่งอยู่บนเรือกลางทะเล หลังจากที่มีการปราบปรามขบวนการนี้โดยทางการไทย
ผู้อพยพส่วนใหญ่ออกเดินทาง “เนื่องจากสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่พวกเขาเผชิญในประเทศบ้านเกิด หรือหวาดกลัวความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนา” โฆษกหญิงของสถานทูตสหรัฐฯ บอกกับเอเอฟพี
“นี่เป็นความท้าทายในภูมิภาคที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการในภูมิภาค ผ่านความพยายามที่สอดประสานของหลายๆ ประเทศ และเป็นไปตามอนุสัญญาสากล รวมถึงกฎหมายทางทะเล” เธอกล่าวเสริม
ประเทศไทยเรียกร้องให้การประชุมซัมมิตในภูมิภาคครั้งต่อไปในเดือนนี้เพื่อจัดการรับมือกับวิกฤตดังกล่าว แต่ผู้สังเกตการณ์มากมายกลัวว่าการตอบสนองใดๆ ก็ตามอาจมาช้าเกินไปสำหรับผู้ที่ติดอยู่กลางทะเลในเวลานี้
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างจากคำพูดของเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยที่กล่าวในวันนี้ (13) ว่า ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะยังคงผลักดันเรือผู้อพยพกลับสู่ทะเล
“เท่าที่ผมทราบ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่รับผู้อพยพทางเรือ” พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาลไทย บอกกับรอยเตอร์
เขาปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำร้องขอของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อวานนี้ (12) ที่จะให้มีปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยผู้อพยพจำนวนมากที่ติดอยู่กลางทะเลระหว่างไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
กระทรวงมหาดไทยแดนเสือเหลืองก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อคำร้องขอดังกล่าวของยูเอ็นด้วยเช่นกัน
ทางการไทยนั้นกำลังบังคับใช้นโยบายที่ยึดถือมาเนิ่นนานในการผลักดันเรือผู้อพยพกลับออกไป นโยบายดังกล่าวประกอบด้วยการให้อาหาร, น้ำดื่ม, เชื้อเพลิง และความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้อพยพ แต่ยับยั้งไม่ให้พวกเขาขึ้นฝั่ง
ด้านเจ้าหน้าที่อาวุโสทางทะเลของมาเลเซียรายหนึ่ง กล่าวเมื่อวานนี้ (12) หลังจากที่ผู้อพยพกว่า 1,000 คนมาถึงเกาะลังกาวีของมาเลเซียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ว่า เรือลำใดก็ตามที่พยายามจะขึ้นมาฝั่งมาอีก จะถูกส่งกลับไป
“เราไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้ามา” พล.ร.ต.ตัน ก๊อก กวี ผู้บังคับการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลประจำภาคเหนือมาเลเซียกล่าว และเสริมว่า “มันเป็นเรื่องของนโยบาย”
สำหรับทางอินโดนีเซีย มีรายงานว่าเมื่อวันจันทร์ (11) แดนอิเหนาได้มอบอาหาร, น้ำดื่ม และเวชภัณฑ์ให้กับผู้อพยพราว 500 คนบนเรือลำหนึ่งนอกชายฝั่งของจังหวัดอาเจะห์ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนที่จะส่งเรือลำดังกล่าวออกสู่ทะเล เพื่อให้ไปยังมาเลเซีย
กองทัพเรืออินโดนีเซียระบุว่า ผู้โดยสารบนเรือลำดังกล่าวที่พวกเขาส่งต่อไปนั้นต้องการที่จะไปยังแดนเสือเหลือง