ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พม่ากล่าวในวันพุธนี้ว่า พร้อมเต็มที่ที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ และช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพทางเรือ อันเป็นการแสดงท่าทีออมชอม และเห็นอกเห็นใจมากที่สุด ขณะที่เพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้พบหารือกันเกี่ยวกับวิกฤตการณ์คนอพยพทางน้ำที่กำลังเป็นปัญหาบีบคั้นทั้งภูมิภาค ท่าทีของพม่าในวันนี้เป็นความต่อเนื่องจากการประชุมเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่จัดขึ้นในกรุงเนปีดอ เมื่อวันจันทร์ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวของพม่า ได้ยอมรับรู้ “ความห่วงใย” เกี่ยวกับปัญหานี้่
กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งที่มีเนื้อสาระสำคัญ 5 ข้อ ความยาวหนึ่งหน้ากระดาษ ตีพิมพ์เผยแพร่ในหน้า 1 หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวางจำหน่ายวันพุธ 20 พ.ค.นี้่ ตอกย้ำ “ความห่วงใย” ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศของพม่า เกี่ยวกับปัญหาคนอพยพในทะเลอันดามันกับช่องแคบมะละกา และได้ติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิด และยังแสดงความห่วงใยต่อ “ความทนทุกข์ และชะตากรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์”
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ระบุในคำแถลงด้วยจุดยืนเดิมว่า คนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อของการลักลอบขนคน และการอพยพอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาค
ในท่ามกลางความกดดันจากประเทศเพื่อนบ้าน กับประชาคมโลก แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าได้ปัดปฏิเสธมาตลอด ไม่ยอมรับว่าปัญหาผู้อพยพชาวมุสลิมชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาของพม่า ทั้งยังกล่าวโทษเป็นความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ของประเทศทางผ่านอย่างไทย หรือประเทศปลายทางใหญ่ คือ มาเลเซีย กับอินโดนีเซียอีกด้วย
คำแถลงของพม่าในวันพุธนี้อ้างว่า ได้ทำงานอยู่เบื้องหลังตลอดมาในการหาทางป้องกันการลักลอบ และการอพยพอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการลาดตระเวนในน่านน้ำของตนเป็นประจำ ทั้งทางเรือ และทางอากาศ เพื่อป้องปรามมิให้มีการเดินทางผ่าน แต่หากเกิดมีขึ้นก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ล่วงล้ำ รวมทั้งอำนวยความปลอดภัยให้แก่บุคคลเหล่านั้นขณะอยู่ในทะเล
“ปัจจุบันได้มีการดำเนินหลายมาตรการเพื่อป้องกันการลักลอบขนคน และการอพยพโยกย้ายอย่างผิดกฎหมายในขอบเขตทั่วประเทศ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่างก็กำลังดำเนินการอย่างขยันขันแข็ง ในการป้องกันการอพยพผิดกฎหมายทางทะเล” กระทรวงการต่างประเทศในกรุงเนปีดอระบุในข้อหนึ่งของคำแถลง
“พม่าได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อบรรดาประเทศในภูมิภาค ผ่านกลไกระดับภูมิภาค รวมทั้งกระบวนการข้อตกลงบาหลี (Bali Process) เกี่ยวกับการลักลอบขนประชาชน การค้าบุคคล และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง พม่าเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ บนพื้นฐานมนุษยธรรม เพื่อขจัดความทุกข์ยากของเหยื่อของการลักลอบ” คำแถลงระบุ
การออกตัวของพม่าครั้งนี้ยังมีขึ้น ในขณะที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศว่า ปัจจุบันมีผู้อพยพทางเรืออีกราว 2,000 คน รวมทั้งผู้หญิง และเด็กๆ จำนวนมากอยู่บนเรือที่ลอยลำอยู่ในน่านน้ำของพม่า นอกฝั่งรัฐระไค มาเป็นเวลากว่า 40 วันแล้ว ท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ความหิวโหย และร่างกายขาดน้ำ
ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญากับชาวบังกลาเทศเกือบ 3,000 คน ที่อพยพไปทางเรืออย่างเป็นขบวนการ ไปถึงฝั่งอินโดนีเซีย กับมาเลเซียแล้ว กับอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในประเทศไทย ทั้ง 3 ประเทศประกาศจะไม่ยอมรับคนพลัดถิ่นผิดกฎหมายเหล่านั้นอย่างเด็ดขาด และได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก่อนจะผลักดันออกจากฝั่งหรือเขตน่านน้ำของตน ขณะแสวงหาความร่วมมือจากประเทศต้นทาง ซึ่งรวมทั้งพม่าในการแก้ปัญหานี้.