xs
xsm
sm
md
lg

พม่าแถลงพร้อมช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ แต่ยื้อขอพิสูจน์สัญชาติโรฮีนจาก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงต่างประเทศพม่า ออกแถลงการณ์ว่า พม่ารู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาผู้อพยพทางเรือ เช่นเดียวกับประชาคมโลก และพม่าพร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องทนทุกข์อยู่ในทะเล หลังจากที่สหประชาชาติเตือนว่า มีผู้อพยพหลายพันคน รวมทั้งชนกลุ่มน้อยไร้รัฐอย่างชาวโรฮีนจาตกค้างอยู่ในเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งพม่า

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้หารือทวิภาคีกับนายตัน จ่อ รมช.ต่างประเทศพม่า ซึ่งคาดว่ามีประเด็นหลักคือกรณีผู้อพยพชาวโรฮีนจา ทั้งนี้ ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น นายตัน จ่อ ให้สัมภาษณ์ว่า พม่ากำลังพิจารณาจะส่งผู้แทนมาร่วมประชุมระดับผู้ปฏิบัติหรือเจ้าหน้าที่อาวุโส ว่าด้วยเรื่องโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศไทย ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ภายหลังที่ได้หนังสือเชิญจากไทยแล้ว ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่าผู้แทนจากหลายประเทศและองค์กรสหประชาชาติให้ตอบรับเข้าร่วมประชุม ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้หารือพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหานี้ เพราะพม่าเห็นว่าจำเป็นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ทั้งนี้เมียนมาพร้อมจะรับคนเหล่านี้กลับประเทศหรือไม่นั้น รมช.ต่างประเทศพม่า กล่าวว่า ต้องพิสูจน์สัญชาติให้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้มาจากพม่าจริงหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นชาวพม่าจริง ก็เป็นไปได้ที่พม่าจะพิจารณารับกลับประเทศ สิ่งที่ทุกฝ่ายเข้าใจชัดเจนคือคนที่เดินทางออกมานั้นต้องการเดินทางไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้หากพวกที่อยู่ในทะเลประสบปัญหาในน่านน้ำของพม่า เราก็จำเป็นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพราะเป็นพันธกรณีของทุกประเทศ

ด้านนายดอน กล่าวว่า ขณะนี้มี 17 ประเทศ และ 3 องค์กรระหว่างประเทศที่ตอบรับจะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ รวมถึงพม่าและบังกลาเทศ โดยการประชุมนี้จะมองในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ยังลอยเรืออยู่ในทะเล ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สำหรับผู้ที่ขึ้นฝั่งแล้วจะได้รับการดูแลให้ที่พักพิงชั่วคราว ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว จะมุ่งไปที่ผู้ที่ยังไม่ได้เดินทางออกมาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เดินทางออกมาอีก โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข มิฉะนั้นจะเกิดการไหลบ่าของผู้คนออกมาอีก

เมื่อถามว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศว่าพร้อมให้ที่พักพิงชั่วคราว แต่ดูเหมือนไทยจะยังสงวนท่าที นายดอน กล่าวว่า ไม่ใช่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้บอกแล้วว่าไทยได้ให้การดูแลคนเหล่านี้มาตลอด และใช้กฎหมายภายในประเทศดูแลในลักษณะของเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ต่างจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านระบุว่าจะรับดูแลเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปีก่อนจะให้ออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น