เอเอฟพี - มาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศล่าสุดวันนี้ (20 พ.ค.) จะไม่ผลักดันเรือผู้อพยพชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศออกจากน่านน้ำอีกต่อไป นับเป็นการคลี่คลายวิกฤตผู้อพยพทางเรือครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่พม่าซึ่งเป็นประเทศต้นทางก็มีท่าทีอ่อนลง และรับปากที่จะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพเหล่านี้
ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถูกองค์กรระหว่างประเทศติเตียนอย่างรุนแรงที่ไม่รับเรือประมงซึ่งมีชาวมุสลิมโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศโดยสารมานับร้อยๆ ขึ้นฝั่ง ทั้งที่ผู้อพยพเหล่านี้อยู่ในสภาพอ่อนระโหยและขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำดื่ม
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (20) อานีฟะห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศหลังจากร่วมพูดคุยกับ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยว่า “การลากจูงและขับไล่ผู้อพยพทางเรือจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป... เราตกลงจะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่พวกเขา โดยมีเงื่อนไขว่านานาชาติจะต้องมีกระบวนการส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศต้นทาง หรือส่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นภายใน 1 ปี”
ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ยังไม่ระบุว่าไทยจะยึดถือนโยบายเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซียหรือไม่ เนื่องจากต้องปรึกษากับทางรัฐบาลเสียก่อน อานีฟะห์แถลง
ในช่วง 10 วันที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศเกือบ 3,000 คนว่ายน้ำมาขึ้นฝั่ง หรือได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพของทั้ง 3 ประเทศ หลังจากที่ไทยมีมาตรการกวาดล้างเครือข่ายค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้นายหน้าบางรายตัดสินใจทิ้งผู้อพยพเอาไว้กลางทะเล
รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียอ้างข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองซึ่งประเมินว่า น่าจะยังมีผู้อพยพทางเรือติดค้างอยู่กลางทะเลอีกประมาณ 7,000 คน และล่าสุดวันนี้ (20) ก็มีชาวประมงท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ 433 คนซึ่งติดอยู่บนเรือสภาพจวนพังที่นอกชายฝั่งอินโดนีเซียในสภาพหิวโหยอย่างหนัก
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพียืนยันว่า เรือที่พบเป็นลำเดียวกับที่ล่องไปมาระหว่างน่านน้ำไทยและมาเลเซียในช่วงไม่กี่วันมานี้ ซึ่งภาพของผู้ลี้ภัยที่อัดแน่นมาเต็มลำเรือได้สร้างความสะเทือนใจต่อคนทั่วโลก
“ผู้อพยพเหล่านั้นร่างกายอ่อนแอ หลายคนกำลังป่วย พวกเขาบอกผมว่า เพื่อนที่มาด้วยกันหิวตายไปหลายคนแล้ว” เตอูกู นยัก อิดรุส ชาวประมงท้องถิ่นที่เข้าช่วยเหลือชาวโรฮีนจาจากลุ่มนี้ให้สัมภาษณ์
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยเพิ่มเติมว่า ในบรรดาผู้อพยพที่ได้รับความช่วยเหลือวันนี้ (20) มีผู้หญิง 26 คน และเด็กอีก 30 คน
สื่อพม่าได้เผยแพร่คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศวันนี้ (20) ว่ารัฐบาลพม่ามีความกังวลต่อปัญหาผู้อพยพทางเรือไม่ต่างจากนานาชาติ และ “พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่ทุกข์ทรมานอยู่กลางทะเล”
ถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็นท่าทีประนีประนอมอย่างชัดเจนที่สุดจากทางการพม่าซึ่งมองชาวมุสลิมโรฮีนจาว่าเป็นพวกหลบหนีเข้าเมืองจากบังกลาเทศ และปฏิเสธที่จะรับผิดชอบชีวิตของคนเหล่านี้
รัฐบาลพม่าถูกกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติชาวโรฮีนจาซึ่งเผชิญการกดขี่ข่มเหงจากชาวพุทธในพม่าจนต้องล่องเรือลี้ภัยมากลางทะเลปีละหลายพันคน โดยส่วนใหญ่หวังจะไปตั้งหลักปักฐานในมาเลเซียซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่นับถืออิสลามเช่นเดียวกับพวกเขา
ทอม มาลิโนว์สกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า พม่าจำเป็นต้องปรับนโยบายที่มีต่อชาวมุสลิมโรฮีนจาในประเทศ โดยปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่น “พลเมืองซึ่งมีศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน” มิเช่นนั้นกรุงเนปิดอว์ก็ไม่อาจสร้างความสัมพันธ์อันดีและเป็นปกติกับประชาคมโลกได้
อานีฟะห์ และ มาร์ซูดี ระบุในคำแถลงร่วมว่า ปัญหาคลื่นผู้อพยพจากอ่าวเบงกอลจะต้องแก้ไขที่ “ต้นตอ” ทว่าไม่ได้ชื่อประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมแนะให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ประเทศจัดประชุมฉุกเฉิน เพื่อหาทางออกแก่วิกฤตการณ์ครั้งนี้