“ผบ.ทบ.” ยันไทยไม่ได้ผลักไสชาวโรฮีนจาออกกลางทะเล ระบุเราเป็นแค่ทางผ่าน ผู้อพยพต้องการไปประเทศที่ 3 บอกพร้อมดูแลตามหลักมนุษยธรรม หากจะเข้ามาต้องดำเนินการไปตามกฎหมายที่มีอยู่ เหน็บองค์กรต่างชาติและประเทศต่างๆ ที่กดดันให้ไทยรับชาวโรฮีนจาไว้ดูแล จะเอาไปดูแลบ้างก็ยินดี ย้ำฟันแน่หากพบทหารเอี่ยวค้ามนุษย์
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือชาวโรฮีนจาหากมีการเปิดสถานที่พักพิงชั่วคราวว่า สถานที่พักพิงชั่วคราวจะต่างจากศูนย์พักพิงที่เรามีอยู่ 9 ศูนย์ซึ่งตอนนี้ก็เป็นภาระ เพราะเมื่อก่อนนี้ศูนย์พักพิงดังกล่าวอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยประชาชนที่มาอาศัยจะหลบหนีภัยการสู้รบ เพราะในพม่าก็มีชนกลุ่มน้อยที่มีความขัดแย้ง และหาทางยุติไม่ได้ จึงทำมีผู้หลบหนีเข้าที่ไทยหลายแสนคน แต่ตอนนี้ก็ลดระดับลงจากการที่เราได้ดำเนินการร่วมกัน อีกทั้งทางพม่าก็จะรับประชาชนของเขากลับไป นั่นเป็นเรื่องของผู้หนีภัยการสู้รบ
สำหรับกรณีชาวโรฮีนจาเป็นคนละกรณีกัน เพราะเป็นการหลบหนีเข้าเมืองที่ไม่ถูกต้อง และสถานที่ต่างๆ เป็นสถานที่ควบคุมคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนเด็กและสตรี จะเป็นการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยทั้งหมดดำเนินการตามกฎหมายที่เรามีอยู่ แต่ในส่วนของทางทหารเราไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมตัว แต่เราจะดูแลด้านความมั่นคง และถ้าเราพบเห็นคนหลบหนีเข้าเมืองก็จะควบคุมตัว ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันถ้ามีคนหลบหนีเข้ามามาก และสถานที่ควบคุมไม่เพียงพอ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ให้นโยบายในการจัดเตรียมพื้นที่เอาไว้ โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมดูแลได้โดยตรง อย่างไรก็ตามตอนนี้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ยังสามารถดูแลได้อยู่
พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า สำหรับมาตรการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจานั้น ตนขอเน้นย้ำว่า พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ก็ได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติงานด้วย ทั้งหมดจะร่วมกันดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน และขอย้ำว่าไม่มีการผลักดันหรือผลักไสไล่ส่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราเป็นประเทศกลางทางที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของชาวโรฮีนจา หากแต่พวกเขาต้องการไปยังประเทศที่ 3 แต่เมื่อมีคนเคลื่อนย้ายมาทางทะเลนั้น ทางเจ้าหน้าที่เราก็มีการตรวจสอบและเข้าไปดูแลว่ามีปัญหาอะไร มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ถ้าพบว่าเจ็บป่วยก็จะนำเข้ามารักษาพยาบาล ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้วและต้องการเดินทางไปประเทศที่ 3 ทางเราก็ไม่สามารถขัดวัตถุประสงค์พวกเขาได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการเดินทางต่อไปประเทศที่ 3 เราก็จะนำตัวเข้ามาสู่ระบบการควบคุมตัว ในลักษณะคนหลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย โดยการปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ผมขอเรียนว่าประเทศเรายังถูกจับตามองจากองค์กรต่างๆ บางประเทศ ที่อาจไม่เข้าใจ ผมก็ขอชี้แจงให้เข้าใจตามนี้ และถ้าเป็นไปได้ประเทศที่พยายามดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของบุคคลเหล่านี้ ถ้าหากช่วยประเทศไทยได้บ้างก็ดี ก็ขอให้เห็นใจประเทศเราบ้าง เพราะเราแบกรับภาระเยอะมาก ดังนั้นถ้าองค์กรต่างๆ เห็นว่าเราควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน หากท่านเห็นใจคนหลบหนีเข้าเมืองมา และถ้าประเทศท่านมีความพร้อม ท่านก็สามารถรับไปดูแลได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวเป็นปัญหาที่สหประชาชาติผลักดันมาให้ไทยรับผิดชอบ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะผลักดันให้องค์กรเหล่านี้รับผิดชอบเอง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตนทราบว่าได้มีการประชุมของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไปประชุมกันที่ประเทศมาเลเซีย ในกรอบนี้ด้วยว่าจะมีการแก้ไขปัญหากันอย่างไร และในวันที่ 29 พฤษภาคม ก็จะมีการจัดประชุมกับประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวสอบถามก็จะหารือให้ชัดเจน และก็จะเสนอกลับไปยังองค์กรเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เห็นว่าเราจริงจังต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับก็มีการออกคำสั่งต่างๆ ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ตนจะลงโทษอย่างเด็ดขาด เพราะได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.สมยศแล้วว่าไม่ต้องเกรงใจใดๆ ทั้งสิ้น หากพบว่ากำลังพลของทหารเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย และมีส่วนเกี่ยวข้องกับค้ามนุษย์ก็สามารถดำเนินการเต็มที่ เพราะคนดีต้องถูกเชิดชูให้รางวัล ส่วนคนไม่ดีจะต้องไม่ให้มีบทบาท และต้องไม่ให้อยู่ในกองทัพต่อไป ดังนั้นถ้าตำรวจมีพยานหลักฐาน ก็ขอให้ดำเนินการได้อย่างเต็มที่