ผบ.ทร. เผย อียูยังติงกฎหมายทำประมงผิดกฎหมายของไทยกว้างไป ไม่มีความชัดเจน ต้องเร่งปรับปรุงให้ครอบคลุม ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา แต่พอใจกรอบการปฏิบัติงานของไทย ส่วนปัญหาชาวโรฮีนจา ไทยดูแลตามกรอบมนุษยธรรม เชื่อผู้อพยพไม่อยากเข้าไทย ปัดตอบทำประชามติร่าง รธน. ให้รอที่ประชุมร่วม ครม.- คสช. วันนี้
พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของ ศปมผ. ว่า ขณะนี้เราทำตามนโยบายรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน จากการประชุม 2 ครั้ง ที่ผ่านมา แนวทางในการดำเนินการส่วนใหญ่ที่หารือกันคือเรื่องของกฎหมายต้องมีรายละเอียดที่เพียงพอ เนื่องจากกฎหมายที่เพิ่งออกไปเกี่ยวกับเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมายยังเป็นกฎหมายที่มีลักษณะกว้าง ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทางสหยุโรป (อียู) ก็ต้องการให้ไทยออกกฎหมายครอบคลุมและมีความชัดเจน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งกองทัพเรือ กรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะดูในภาพรวมของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราจะพยายามทำกฎหมายให้เสร็จ และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวเดียวกัน แต่การพิจารณากฎหมายต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนการปฏิบัติในภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนจะมีการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาช่วยแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากขั้นตอนการดำเนินงานไม่ทันเวลานั้น พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า ตอนนี้ยัง เพราะหลังจากที่อียูเดินทางมาดูการดำเนินงานแก้ไขปัญหาประมงที่ผิดกฎหมายของไทยแล้วก็ต้องกลับไปประชุมว่าการปฏิบัติของไทยเป็นสากลหรือไม่
ทั้งนี้ ตนเห็นว่า อียูมีความพอใจในกรอบการปฏิบัติของไทย แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนในการดำเนินการ ซึ่งตนคิดว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายประกอบกับการปฏิบัติของเราแล้วคิดว่าไม่น่ามีปัญหา อีกทั้งทางสมาคมประมงก็ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจจับร่วมกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี จากที่หารือในที่ประชุมทุกคนเข้าใจว่าต้องช่วยกัน ในส่วนของภาครัฐจะทำเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงคือสมาคมประมง ส่วนเรือประมงที่ไม่ยอมมาลงทะเบียนนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็มีมาตรการตรวจเรือเข้าและออก พร้อมทั้งมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทำงานร่วมกันกับกรมประมง กรมเจ้าท่าและกรมศุลากากรจะดำเนินการตรวจเรือทั้งหมด ในส่วนของระบบติดตามเรือวีเอ็มเอสมีขั้นตอนที่จะต้องติดตั้งบนเรือทุกลำนั้น ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 5 เดือน โดยภาคธุรกิจให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
สำหรับการแก้ปัญหาชาวโรฮีนจานั้น พล.ร.อ.ไกรสร กล่าวว่า ไทยต้องดำเนินการในภาพรวมของประเทศ ตนรับนโยบายจากรัฐบาล และทำในหน้าที่ว่าหากเจอเรือของชาวโรฮีนจานอกน่านน้ำไทยจะต้องทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้ให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หากพบเจอชาวโรฮีนจาไม่มีอาหารและน้ำก็ต้องช่วยเหลือ แต่ถ้าเจอนอกน่านน้ำก็ปล่อยเขาไป
ทั้งนี้ ต้องเข้าในว่านอกน่านน้ำไทยเป็นทะเลเสรี เขาสามารถจะไปที่ไหนก็ได้ แต่หากใกล้เข้ามาในน่านน้ำไทย ทางกองทัพเรือก็จะแจ้งเตือนก่อน เพราะถ้าเข้ามาแล้วจะผิดกฎหมาย และต้องถูกควบคุมตัวทั้งหมด อย่างไรก็ตนเชื่อว่าชาวโรฮีนจาไม่อยากเข้ามาประเทศไทย เพราะเข้ามาก็ถูกจับ เนื่องจากถือว่าเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
พล.ร.อ.ไกรสร ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติว่า ต้องรอมติจากที่ประชุมร่วม ครม. และคสช. ก่อน เนื่องจากต้องหารือในภาพรวม ซึ่งในที่ประชุมยังต้องมีการพูดคุยกันอีกมาก