ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองนายกรัฐมนตรี “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา เผยให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน และดำเนินคดีตามกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง ยันไม่มีผลักดันออกนอกประเทศ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ พร้อมระบุมีการออกหมายจับขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจา 65 หมาย จับได้แล้ว 28 คน
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่กองบัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และสตูล และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบการปฏิบัติงาน ปัญหาข้อขัดข้อง และการรับมือปัญหาการอพยพเข้ามาในน่านน้ำไทย ฝั่งอันดามันของชาวโรฮีนจา ว่า ภารกิจวันนี้เป็นการมาติดตามการแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมี 2 ประเด็นหลัก คือ กลุ่มแรก ที่อพยพผ่านเข้ามาอยู่ในทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือดูแล กับกลุ่มที่ 2 อยู่บนบก ซึ่งมีการลักลอบเข้ามา และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นต้น ขณะนี้ได้มีการออกหมายจับเพิ่มเติม จำนวน 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ รวมตอนนี้มีการออกหมายจับไปแล้ว จำนวน 65 คน มีการจับกุมได้แล้ว 28 คน และที่ยังหลบหนีก็มีบางส่วนอยู่ระหว่างติดต่อเพื่อขอมอบตัว
ส่วนกรณีกลุ่มที่อยู่ในทะเล ทางกองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 3 ได้เข้าไปดูแล และชี้แจงต่อผู้อพยพ ถ้าอยู่นอกน่านน้ำไทยก็จะชี้แจงไปว่า ถ้าเข้ามาจะถูกจับกุมดำเนินคดีโดยทันที เพราะว่าเรามีกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง ยกเว้นกรณีที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศที่ 3 แต่มีปัญหาเครื่องยนต์เรือเสีย หรือไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิง หรือขาดแคลนอาหาร รวมทั้งกรณีเจ็บป่วยเราก็จะช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ก่อนที่จะให้เขาเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราก็ได้มีการดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตรงส่วนนี้ก็ได้ชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติ ทางกองทัพบก กองทัพเรือ ตำรวจ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยร่วมปฏิบัติได้ทราบ และจะต้องไปชี้แจงในการดำเนินการในทุกเรื่องเกี่ยวกับเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมือง เรื่องการค้ามนุษย์ ต่อจากนี้ไปจะต้องไม่มีโดยเด็ดขาด
ขณะที่ในส่วนของสถานที่พักพิงผู้อพยพชาวโรงฮีนจานั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรวจคนเข้าเมือง รายงานว่า ยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะดูแลต่อไปได้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งตอนนี้มีชาวโรฮีนจาประมาณ 1,000 คน ที่อยู่ในความดูแล และยังไม่สามารถส่งกลับได้ ก็จะทำตามกฎหมาย และตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวถึงการนำกรณีปัญหาชาวโรงฮีนจาเข้าที่ประชุม ซึ่งจะมีการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ซึ่งจะมีการประชุมร่วม 15 ประเทศ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ที่จะต้องมาหารือร่วมกันว่าในสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะดำเนินการอย่างไรที่จะช่วยเหลือกัน โดยกรณีของประเทศพม่า จะมีการตอบรับเข้าร่วมประชุมหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูข้อมูลจากรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้