xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้ประชุมแก้วิกฤตโรฮีนจาในไทยส่อเหลว ชาติสำคัญส่งผู้แทนระดับล่างเข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - การประชุมซึ่งมีเป้าหมายจัดการวิกฤตคนอพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายสัปดาหห์นี้ ไม่น่าจะก่อข้อตกลงที่มีผลผูกมัดหรือแผนปฏิบัติใดๆ สำหรับปกป้องชีวิตผู้คนหลายพันคนที่ยงตกค้างอยู่บนเรือที่ล่องลอยอยู่ในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน หนึ่งในผู้เข้าร่วมหารือเปิดเผยกับรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี (28 พ.ค.)

การประชุมในวันศุกร์ (29 พ.ค.) จะประกอบไปด้วยผู้แทน 17 ประเทศจากทั่วอาเซียนและชาติอื่นๆในเอเชีย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงองค์กรสากลอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR)

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์อ้างข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่าผู้เข้าร่วมจำนวนมากไม่ใช่ระดับรัฐมนตรี และบางทีการประชุมอาจไม่บรรลุผลดังที่ฝ่ายจัดในกรุงเทพฯหวังไว้ โดย 3 ประเทศที่เป็นแก่นกลางของวิกฤต ทั้งพม่า อินโดนีเซียและมาเลเซีย ไม่มีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมหารือแต่อย่างใด

นอกจากนี้แล้ว พม่ายังเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (28 พ.ค.) ว่าพวกเขาไม่มีแผนบรรลุข้อตกลงใดๆ ในกรุงเทพฯ “เราจะไปที่นั่น ก็เพื่อแค่ร่วมหารือเกี่ยวกับวิกฤตภูมิภาคซึ่งทุกชาติในอาเซียนกำลังเผชิญ” เถ่ง ลิน อธิบดีประจำกระทรวงการต่างประเทศของพม่า และหัวหน้าคณะผู้แทนจากพม่าบอกกับรอยเตอร์

มีผู้อพพจากบังกลาเทศและพม่ากว่า 3,000 คน ขึ้นฝั่งอินโดนีเซียและมาเลเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไทยดำเนินการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเมื่อช่วงต้นเดือน อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีผู้อพยพอีกราวๆ 2,600 คนที่ยังคงตกค้างอยู่กลางทะเลบนเรือที่ถูกปล่อยทิ้ง

จำนวนมากของผู้อพยพที่ถูกพาขึ้นฝั่งแล้ว เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาของพม่า ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางภาวะเหมือนถูกแบ่งแยกเชื้อชาติในรัฐยะไข่ของพม่า ส่วนที่เหลือเป็นผู้อพยพชาวบังกลาเทศ

รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวจากองค์กรนานาชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม บอกว่าระดับตัวแทนที่ชาติต่างๆ ส่งเข้าร่วมประชุมนั้นน่ากังวลอย่างยิ่ง “พวกเขาเป็นผู้เล่นสำคัญ มันจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรด้วยผู้แทนระดับนั้น”

ส่วน โวลเคอร์ เติร์ก ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมประชุมในวันศุกร์ (29 พ.ค.) เตือนว่าวิกฤตที่ซับซ้อนนี้คงไม่อาจแก้ปัญหาได้ในวันเดียว “มันเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ซับซ้อน ผมไม่คิดว่ามันจะสามารถคลี่คลายได้ในการประชุมแค่วันเดียว แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีและเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ” เขาให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์

พม่าไม่รับรองสิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮีนจา เป็นผลให้พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่ไร้สัญชาติ อย่างไรก็ตามพม่าไม่ยอมรับคำกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจาหรือตามประหัตประหารอย่างที่พวกเขารู้สึก

ทั้งนี้ มีผู้คนเกือบ 140,000 คนต้องไร้ถิ่นฐานจากเหตุปะทะระหว่างมุสลิมโรฮีนจากับชาวพุทธในรัฐยะไข่เมื่อปี 2012 โดยชาวโรฮีนจาราว 100,000 คนได้หลบหนีทางทะเลนับตั้งแต่นั้น

เติร์กบอกว่า การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการไร้สัญชาติในพม่าคือแก่นกลางที่จะคลี่คลายวิกฤตผู้อพยพดังกล่าว “หากมันยังเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบันอันสืบเนื่องจากตัวบทกฎหมาย ก็ทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับสถานะที่เท่าเทียม สถานะทางกฎหมาย มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคลี่คลายวิกฤตนี้”


กำลังโหลดความคิดเห็น