xs
xsm
sm
md
lg

ใครได้ใครเสียและใครข้ามศพใครจากร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญใกล้จะเสร็จ ก็ยิ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองมีความร้อนแรงยิ่งขึ้น เพราะว่ารัฐธรรมนูญเป็นการกำหนดกติกาเพื่อจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ในสังคม จึงทำให้กลุ่มอำนาจทางการเมืองจำนวนมากออกมาแสดงบทบาทเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้มีการบัญญัติเนื้อหารัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่อำนาจและการได้มาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองมากที่สุด

กลุ่มที่ดูเหมือนสูญเสียอำนาจจากร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มทุนนักการเมือง ถัดมาก็เป็นกลุ่มข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย สำหรับกลุ่มที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการเกษียณ กลุ่มข้าราชการประจำ นักการเมืองท้องถิ่น นักกฎหมายและกลุ่มนักเคลื่อนไหวอาชีพ

กลุ่มทุนนักการเมืองสูญเสียอะไรบ้าง ประการแรกที่สำคัญที่สุดคือ การสูญเสียอำนาจในการควบคุมผู้ที่จะเข้ามาเป็นส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ เพราะว่าอำนาจนี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯออกแบบให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมแทน โดยผ่านกลไกการเลือกตั้งแบบที่ให้ผู้ลงคะแนนระบุตัวบุคคลที่สมควรเป็นส.ส.ในบัญชีรายชื่อได้

ประการที่สอง การถูกลดทอนอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามาเป็นปลัดกระทรวง โดยผ่านคณะกรรมการที่เรียกว่า “คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม” ซึ่งทำหน้าที่คัดกรองและเสนอชื่อบุคคลในระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าเพื่อดำรงตำแหน่งหรือโยกย้าย อำนาจเรื่องนี้ของนักการเมืองจึงถูกแบ่งปันไปให้บรรดาข้าราชการเกษียณและข้าราชการประจำ ด้านหนึ่งทำให้นักการเมืองไม่อาจใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายได้ตามอำเภอใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจถูกกลุ่มที่มีวิธีคิดแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนวิจารณ์ได้ว่าเป็นเสมือนเป็นการลดอำนาจภาคประชาชน เพราะพวกเขาอ้างว่านักการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประการที่สาม การถูกลดทอนอำนาจช่วงที่มีการเลือกตั้ง โดยนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง นักการเมืองจะรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีดังในอดีตไม่ได้อีกต่อไป อำนาจของนักการเมืองในเรื่องนี้ได้ถูกถ่ายโอนไปยังปลัดกระทรวงแทน เรื่องนี้จึงทำให้ข้าราชการประจำได้ประโยชน์เต็มๆ

สำหรับกลุ่มข้าราชการกระทรวงมหาดไทยอาจมีความหวั่นเกรงว่าจะถูกลดทอนอำนาจ เพราะร่างในรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ที่ระบุว่ารัฐต้องให้อิสระแก่องค์รบริหารท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นโดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย มาตรานี้ถูกตีความเป็นการเปิดทางให้มีการบริหารปกครองแบบจังหวัดจัดการตนเองซึ่งเป็นสิ่งแสลงใจข้าราชการส่วนกลางและภูมิภาค รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงด้วย และเมื่อผนวกเอามาตรา 215 และ 285เข้าไปด้วยก็ยิ่งทำให้ความระแวงของกลุ่มนี้มีสูงขึ้น เพราะมาตรา 215 กำหนดเอาไว้ว่าประชาชนหรือชุมชนย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่นในการ “กำหนดรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น” “ การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องถิ่น” เป็นต้น ส่วนมาตรา 285 ตอกย้ำลงไปอีกว่า ให้ตรากฎหมายและจัดให้มีกลไกสำหรับจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดให้สมบูรณ์ภายในหนึ่งปีนับจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสร้างกลไกที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดรูปแบบการบริหารและการขยายเขตการปกครองท้องถิ่นออกไปครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดได้ หากประชาชนในจังหวัดนั้นมีประชามติให้การสนับสนุน

ยิ่งกว่านั้นใน มาตรา 213 กำหนดเอาไว้ว่าให้มีกฎหมายท้องถิ่นโดยต้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และมีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจายอำนาจที่เป็นเอกภาพ และในมาตรา 285 (2) กำหนดให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ ซึ่งหมายความว่าต่อไปในการบริหารงานท้องถิ่นจะมีคณะกรรมการใหม่และหน่วยงานใหม่มารับผิดชอบแทนกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่มีทรัพยากรและอำนาจมหาศาลในปัจจุบัน อู่ข้าวอู่น้ำเช่นนี้ย่อมไม่มีใครอยากจะปล่อยให้หลุดลอยไปอย่างง่ายๆเป็นแน่

ในภาพรวมการกำหนดให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้นเท่ากับเป็นการลดอำนาจและผลประโยชน์ของข้าราชการส่วนกลางและภูมิภาค แต่ทว่าอำนาจและผลประโยชน์ที่กระจายไปสู่ท้องถิ่นมีปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือ กลุ่มที่ช่วงชิงและครอบครองอำนาจนี้มิได้เป็นประชาชน หากแต่เป็นนักการเมืองและกลุ่มทุนท้องถิ่น เหมือนกับเป็นการแตะหมูเข้าปากหมา อย่างไรอย่างนั้น

ความพยายามของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในการจัดตั้งสมัชชาพลเมืองในท้องถิ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบการบริหารท้องถิ่น ก็นับว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯพอมองเห็นปัญหานี้ แต่จะมีพลังเพียงพอต่อการผลักดันให้การบริหารท้องถิ่นไม่เกิดปัญหาซ้ำรอยการบริหารระดับชาติหรือไม่ ยังคงเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามต่อไป

สำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุดเห็นทีจะเป็นข้าราชการระดับสูงในส่วนกลางและข้าราชการเกษียณซึ่งจะมีบทบาทบาทอำนาจเพิ่มขึ้นหลายอย่างทั้งในด้านการบริหารและนิติบัญญัติ ด้านการบริหารเช่น มีอำนาจรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบหรือสิ้นสุดลง มีอำนาจการในการคัดกรองและเสนอบุคคลเพื่อรับการแต่งตั้งในระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่า ส่วนด้านนิติบัญญัติก็มีตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อ เทียบกับกลุ่มอื่นๆของสังคม

ยิ่งกว่านั้นกลุ่มข้าราชการเกษียณยังมีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์การต่างๆ อีกหลายองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แบบแผนที่ข้าราชการเกษียณยกขบวนเข้าไปดำรงตำแหน่ง มีอำนาจและได้ผลประโยชน์จากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างเป็นประจักษ์ชัดร่วมสิบห้าปีแล้ว ดังนั้นยิ่งมีการสร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ข้าราชการเกษียณและข้าราชการประจำระดับสูงได้รับประโยชน์มากขึ้น องค์การใหม่ๆตามรัฐธรรมนูญที่จะเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำและเกษียณเข้าไปมีตำแหน่งและรับผลประโยชน์ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปการเงิน การคลัง และภาษีอากร องค์การบริหารพัฒนาภาค และคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เป็นต้น

กลุ่มที่สองคือกลุ่มทุนนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งจะได้รับผลพลอยได้จากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสังคมประการหนึ่งที่ว่า “เมื่ออำนาจและทรัพยากรถูกกระจายลงไปสู่พื้นที่ใด กลุ่มที่ทรงพลังหรือแข็งแรงที่สุดในพื้นที่นั้นย่อมได้รับผลประโยชน์สูงสุด” และกรณีนี้ก็คือกลุ่มนายทุนท้องถิ่นนั่นเอง

กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์จากการเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์การต่างๆนับสิบแห่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในรัฐธรรมนูญ เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น

นี่เป็นการประเมินเพียงสังเขปเท่านั้น ซึ่งพอจะเห็นภาพเบื้องต้นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลุ่มใดบ้างที่จะเสียประโยชน์และกลุ่มใดบ้างที่จะได้ประโยชน์ ส่วนที่คณะกรรมาธิการร่างยกร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ ก็ขอให้บรรดาคณะกรรมาธิการยกร่างฯช่วยออกมาชี้แจงแถลงไขให้ชาวบ้านรับรู้มากกว่านี้หน่อย ขืนยังปล่อยให้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ออกมาปลุกระดมประเภทที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคน 64.5 ล้านคน หากใครจะตัดสิทธิพลเมืองต้องผ่านศพตนเองไปก่อน และกรรมาธิการไม่ได้สู้เพื่ออะไร แต่สู้เพื่อลูกหลาน” อยู่เพียงคนเดียว เห็นท่าจะไปไม่รอด

การใช้วาทกรรมประเภทปลุกเร้าอารมณ์เป็นการกระทำที่ไม่แตกต่างอะไรกับแกนนำมวลชนในอดีต ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต้องการเปลี่ยนสถานภาพของตนเองจากประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้นำมวลชนเพื่อพิทักษ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเองยกร่างขึ้นมาหรืออย่างไร เพราะท่วงทำนองการพูด บทบาท และการแสดงออกในปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นแบบนั้น

อย่าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใครแตะต้องไม่ได้ อย่าคิดใช้การปลุกเร้าอารมณ์เพื่อสร้างกระแสปกป้องร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนั่นจะทำให้สังคมละทิ้งเหตุผลและกลายเป็นใช้อารมณ์นำ และหากกระแสของอารมณ์พัฒนาสูงไปเรื่อยๆก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายขึ้นด้วย

เมื่อถึงเวลานั้น “ศพ” ที่เกิดขึ้นย่อมมิใช่เป็นของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หากแต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น “ศพ” ของประชาชนที่ถูกปลุกเร้าออกมาให้เคลื่อนไหว ซึ่งจะทับถมเป็นบันไดให้แก่คนบางคนหรือบางกลุ่มเพื่อบรรลุความปรารถนาอันมืดบอดของตนเองก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น