xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชามติยืดเวลาตัวเอง อยู่ยาวไม่ง่ายอย่างที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทนแรงเสียดทานไม่ไหว ที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องยอมไฟเขียวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดประตูทิ้งไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งนึกคึกอยากจะทำประชามติขึ้นมาก็สามารถตัดสินใจได้ภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียเวลามาแก้กันให้ฉุกละหุก หลังจากของเดิมใส่กุญแจล็อกปิดตายเอาไว้ ไม่เขียนถึงการทำประชามติสักบรรทัดเดียว แต่ก็ลีลาเยอะ ไม่ผลีผลามรีบตอบว่าจะให้ทำหรือไม่ให้ทำ คงรอจนกว่าจะถึงโค้งสุดท้ายจริงๆ หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กดโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรผ่านไปแล้ว ค่อยคอนเฟิร์ม

และแม้จะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า คสช.และครม. เห็นดีเห็นงามว่าจะทำประชามติ เป็นเพียงแค่การเปิดประตูทิ้งเอาไว้ ส่วนจะเข้าหรือไม่เข้า ค่อยมาว่ากัน วันไหนครึ้มอกครึ้มใจ สามารถเดินเข้าไปทันที

วันนี้รัฐบาลเล่นเกมสองหน้า ประเมินสถานการณ์กันจนวินาทีสุดท้าย เพราะถ้าถามใจ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. จากคำตอบทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา มันออกไปในแนวทางเสียดายสตุ้งสตางค์ตั้ง 3 พันล้านบาทแบบฟรีๆ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ 
 
ลองถ้าฝ่ายคัดค้านตั้งแท่นไม่เห็นด้วย ต่อให้ทำประชามติ สุดท้ายก็ไม่ยอมรับกันอยู่วันยังค่ำ

แต่ถ้าไม่ทำ ก็เหมือนยิ่งไปสร้างจุดอ่อนให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะขนาดรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนยังโดนคนนินทาว่า เป็นผลไม้พิษจากคณะรัฐประหาร จ้องจะกระทำชำเรากันตลอดเวลา ขืนไม่หาภูมิคุ้มกันให้ฉบับนี้ มีสิทธิ์ถูกนักการเมืองหาเรื่องชำแหละกันเละจนสุดท้ายแม่ทัพนายกองต้องเข็นรถถังมายึดอำนาจกันอีกคำรบ

ไม่จบไม่สิ้นเสียทีกับวงจรเดิมๆ

สุดท้ายแล้ว“บิ๊กตู่” และชาวคณะคงต้านทานเสียงเรียกร้องเหล่านี้ไม่ไหวแน่ อย่างไรก็คงต้องเดินตามสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้อง จะไปว่ายทวนน้ำคงลำบาก แต่ก่อนจะทำอาจมีการหยั่งเชิงพวกนักเลือกตั้ง โดยเฉพาะคิวที่ “เนติบริกร”วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมากางปฏิทินกรณีมีการทำประชามติ จะต้องมีการขยายโรดแมปออกไปหลายเดือน กว่าจะมีเลือกตั้งก็ปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนปี 2559 กันเลย
 
       ก่อนหน้านี้ที่แหกปากกันว่า รอได้ ไม่มีปัญหา เจอลากยาวแบบนี้จะมีหวั่นไหวกันบ้างหรือไม่ เพราะว่างงานกันมาจนห่อเหี่ยวหมดแล้ว

จริงๆแล้วยังไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เอาแค่ว่าหากตัดสินใจว่าจะทำประชามติ แล้วจับผลัดจับผลูไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะหากปล่อยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่นักการเมืองรังเกียจกันนักกันหนาฝ่าด่าน สปช.ไปได้ นักการเมืองคนไหนอยากจะกลืนเลือดบ้าง เพราะกติกาฉบับใหม่มันแทบจะขยับเขยื้อนตัวไม่ได้เลย จะมีการรณรงค์กับมวลชนตัวเองให้โหวตคว่ำในท้ายที่สุด

อย่าลืมว่าสมัยทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้าไม่ได้คำพูดที่ว่า รับๆ ไปก่อนค่อยมาแก้ไข อย่าหวังเลยจะได้ใช้กันมาถึง 6-7 ปี ที่สำคัญคะแนนไม่รับตอนนั้นแพ้ไม่กี่ล้านคน

ครั้งนี้หากพรรคการเมืองไม่เอาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ รณรงค์ให้ประชาชนไม่รับแป๊บเดียวแค่นั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “อาจารย์ปื๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และชาวคณะน้องพี่สีชมพู มีอันเป็นอันแท้ง

แต่ครั้นจะไม่รับ ก็น่าหนักอกหนักใจไม่น้อย เพราะรัฐบาลแพลมๆ ออกมาแล้วว่า กรณีหากประชาชนไม่รับ มันมีอยู่ไม่กี่ทางเลือกคือ เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งสปช., กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมา ต้องเสียเวลาอีกปีกว่าๆ นักเลือกตั้งที่เตะฝุ่นอยู่ หรือประชาชนที่ไม่ชอบขี้หน้ารัฐบาลทหาร รอได้หรือไม่ที่จะให้“รัฐบาลบิ๊กตู่”อยู่บริหารประเทศต่อ วิธีนี้รัฐบาลมีได้ ไม่มีเสีย อยู่ดีๆก็มีคนมาต่อเวลาให้ทำงานที่คั่งค้างยังไม่เสร็จแบบชอบธรรม ไม่ถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ หรือตระบัดสัตย์ เป็นไปได้ว่าแนวทางนี้มีโอกาสถูกเลือกมากที่สุด

ส่วนแนวทางจะให้หยิบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อย่างไรก็ต้องเสียเวลาทำอีกหลายเดือนอยู่ดี เพราะสองฉบับข้างต้น ไม่ได้ตอบโจทย์เป้าหมายของรัฐบาล ไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปและสร้างความปรองดองในระยะยาว เหมือนกับว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย เรื่องการทำประชามติ ไปๆ มาๆ จะเป็นรัฐบาลที่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

อย่างที่รู้กัน งานของรัฐบาลหลายอย่างยังไปไม่ถึงไหน บางเรื่องยังเป็นวุ้นอยู่เลย เวลาที่เหลือตามโรดแมปอย่างไรก็ไม่พอ จนคำว่าเสียของขยับเข้าใกล้ทุกที อยากจะต่อเวลาให้ตัวเอง ก็จะกลายเป็นการกลืนน้ำลาย เสียผู้เสียคนกันอีก มีหวังถูกฝ่ายต้านปลุกระดมมาตะเพิด เพราะเผด็จการยิ่งอยู่นาน ยิ่งไม่ขลัง นานวันเข้าจะไม่มีใครกลัว การทำประชามติ จึงเป็นวิธียืดเวลาที่ชอบธรรมที่สุด โดยอ้างว่าเป็นเสียงรบเร้าจากประชาชน 
              
       แต่เส้นทางมันมักไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ช่วงก่อนสปช. ลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบนี้สำคัญมาก บรรดานักเลือกตั้งต้องพยายามทำทุกอย่างให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกหั่นออก หรือปรับแก้มากที่สุด อย่างปรากฎการณ์ก่อนหน้านี้ที่พรรคการเมืองสามัคคีกันรุมกระทุ้ง จนกมธ.ยกร่างฯ งอมพระราม สำลักออกมาเป็นก้อนอิฐ โดยใช้กระแสสังคมเป็นตัวบีบว่า จำกัดสิทธิเสรีภาพ ทำลายระบอบประชาธิปไตย จนกมธ.ยกร่างฯ ต้องยอมถอยกรูด

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดให้มีการทำประชามติก็สำคัญ นักเลือกตั้งใช้เกมกดดันหนักแน่ โดยเฉพาะเนื้อหาในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กรณีประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบที่กำลังจะมีการยกร่างกันในไม่กี่วัน อย่างไรเสียก็ไม่ยอมให้รัฐบาลกลับไปนับหนึ่ง ลากยาวอยู่บนคานอำนาจนาน ต้องบีบให้กลับไปใช้ฉบับใดฉบับหนึ่งแทน โดยสร้างกระแสขึ้นในสังคมขึ้นมาบีบ ยกปมโจมตีรัฐบาลว่าต้องการสืบทอดอำนาจเป็นการแก้เกม

นักเลือกตั้งต้องเบรกขั้นตอนนี้เพื่อให้ได้สองต่อนั่นคือ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์ผ่านไปใช้ และไม่ต้องการให้รัฐบาลอยู่ต่อยาวๆ

หรือในกรณีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดันผ่านประชามติไปได้ ช่วงหลังจากนั้นก่อนถึงการเลือกตั้งจะเป็นช่วงเปราะบางที่สุดของรัฐบาล เพราะทุกคนรู้แล้วว่ารัฐบาลไปแน่ ข้าราชการจะทำงานกันเช้าชามเย็นชาม นักการเมืองจะเริ่มออกลาย ที่รัฐบาลหวังไว้ว่าจะใช้ต่อเวลาบาดเจ็บปั่นผลงานที่เหลือให้เสร็จอาจไม่ง่าย จะเจอปัญหาเกียร์ว่างหนักข้อกว่าเก่า เพราะไม่มีใครยำเกรง
                
       อะไรมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด !!

อย่างที่รู้กัน งานของรัฐบาลหลายอย่างยังไปไม่ถึงไหน บางเรื่องยังเป็นวุ้นอยู่เลย เวลาที่เหลือตามโรดแมปอย่างไรก็ไม่พอ จนคำว่าเสียของขยับเข้าใกล้ทุกที อยากจะต่อเวลาให้ตัวเองก็จะกลายเป็นการกลืนน้ำลาย เสียผู้เสียคนกันอีก มีหวังถูกฝ่ายต้านปลุกระดมมาตะเพิด เพราะเผด็จการยิ่งอยู่นานยิ่งไม่ขลัง นานวันเข้าจะไม่มีใครกลัว การทำประชามติจึงเป็นวิธียืดเวลาที่ชอบธรรมที่สุด โดยอ้างว่าเป็นเสียงรบเร้าจากประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น