ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ให้ออกร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ เรื่องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับเอกชนไปแล้ว และจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือน มิ.ย.58 นี้ แต่ติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินไม่ครบ เพราะยังมีที่ดินต้องเวนคืนอีกกว่า 549 แปลง ที่ต้องทยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน หลังเริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว 150 วัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการเจรจา และใช้อำนาจออกกฎหมายมาบังคับใช้ เพื่อให้ส่งมอบพื้นที่ได้ทันกำหนด และไม่กระทบกับโครงการจะต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิม
สำหรับการเวนคืนพื้นที่ตามโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น การประกาศให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง ในกรุงเทพมหานคร และอ.ลำลูกกา ในจ.ปทุมธานี ซึ่งถือเป็นกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน และประกาศกำหนดให้เข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน ตามพื้นที่ที่ประกาศเวนคืนทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจวางเงินค่าทดแทน เข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ และส่งมอบพื้นที่ให้ทันตามกำหนด
เรื่องนี้ เป็นไปตามแผนที่ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ 8 ก.พ. 2553 ล่าสุด เห็นชอบในหลักการ ยืดเส้นทางจากหมอชิตผ่านสะพานใหม่ ไปถึงคูคต โดยให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณตำบลคูคตแทน ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวมกว่า 2.87 หมื่นล้านบาท ลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานียกระดับ 16 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต และตรงไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 55
จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไปเลียบกับแนวถนนฝั่งซ้าย จนถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือวงเวียนหลักสี่ และเบี่ยงกลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง
สำหรับสถานที่ตั้งสถานีทั้ง 16 แห่ง ได้แก่
1.สถานีห้าแยกลาดพร้าว ตั้งอยู่บนพหลโยธินหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว
2.สถานีพหลโยธิน 24 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24
3.สถานีรัชโยธิน ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน
4.สถานีเสนานิคม ตั้งอยู่บริเวณซอยเสนานิคม
5.สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6.สถานีกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานกรมป่าไม้
7.สถานีบางบัว ตั้งอยู่บริเวณถนนบางบัว
8.สถานีกรมทหารราบที่ 11 ตั้งอยู่บริเวณกรมทหารราบที่ 11
9.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่
10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณซอยพหลโยธิน 57
11.สถานีสายหยุด ตั้งอยู่บริเวณซอยสายหยุด
12.สถานีสะพานใหม่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ
13.สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และกรมแพทย์ทหารอากาศ
14.สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
15.สถานี กม.5 ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน
16.สถานีคูคต ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรคูคต
โดย การเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีพื้นที่จะต้องเวนคืนในบริเวณทางเท้า ที่เป็นทางขึ้น-ลงสถานี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอใช้พื้นที่เรียบร้อยแล้วใช้งบเวนคืน 7,863 ล้านบาท มีประชาชนถูกเวนคืน 262 ราย มีสิ่งปลูกสร้าง 275 หลัง
พื้นที่เวนคืนขนาดใหญ่จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถมีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่และมีอาคารจอดรถ 2 แห่งอยู่บริเวณถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 25 และคลองสองที่สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,033 คัน และ 710 คันตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างดังกล่าว ต้องรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยจะทำทางลอด ทดแทนในแนวถนนรัชดาภิเษก ด้านสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ก็จะมีการทุบและทำสะพานใหม่ใต้ทางรถไฟฟ้าแต่มีขนาดสั้นกว่าเดิม
ขณะที่ผู้บริหาร บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ได้เข้าหารือกับ เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สน.พหลโยธิน แล้ว หลังจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งอนุมัติให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 58 จนถึงวันที่ 9 ก.พ. 62 (ตามสัญญา เริ่มก่อสร้างได้ในเดือน มิ.ย. 2558 และประชาชนจะสามารถใช้บริการได้ในเดือนก.พ. 2563 นี้ )
สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่ จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 จากหมอชิต-แยกรัชโยธิน โซนที่ 2 จากแยกรัชโยธิน- แยกเกษตรฯ โซนที่ 3 บริเวณอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และโซนที่ 4 ตลาดสะพานใหม่ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
ส่วนแผนการรื้อย้ายสะพานข้ามแยกรัชโยธิน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธินควบคู่ไปกับการก่อสร้างรถไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม บริเวณแยกรัชโยธินมีความจำเป็นต้องปรับการจราจรใหม่ ก่อนสรุปและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเพื่อวางแผนการเดินทางหลีกเลี่ยงเส้นดังกล่าว
ก่อนหน้านั้น รฟม.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท AEC เพื่อควบคุมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินค่าจ้าง 1,310 ล้านบาท ระยะเวลา 48 เดือน ขณะนี้ กำลังจัดทำแผนงานก่อสร้างและการใช้พื้นที่รวมถึงแผนจัดการจราจร
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะแบ่งเป็น 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 หมอชิต-สะพานใหม่ บริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ วงเงิน 15,000 ล้านบาท สัญญาที่ 2 สะพานใหม่-คูคต กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture วงเงิน 6,600 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) และอาคารจอดรถ กลุ่ม STEC-AS Joint Venture วงเงิน 4,000 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง กลุ่ม STEC-AS Joint Venture วงเงิน 28,000 ล้านบาท.
อีกเรื่อง ครม. เห็นชอบ “แผนกู้เงิน 1.4 แสนล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง”ประกอบด้วย สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 84,600 ล้านบาท และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 55,600 ล้านบาท โดยสามารถนำเข้าแผนก่อหนี้ได้ทันที โดยคาดว่าจะเริ่มเวนคืนได้ในปี 59 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 60
โดย เส้นทางสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ขณะนี้ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เรียบร้อยและ สามารถเริ่มโครงการได้ทันที อย่างไรก็ดี โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางนี้
ขณะที่“กระทรวงการคลัง” เป็นเจ้าภาพ และจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ในแผนการกู้เงินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ 2 สาย วงเงินรวม 140,200 ล้านบาท
เรื่องนี้ “นายสมหมาย ภาษี” รมว.คลัง บอกว่า ที่ผ่านมา ได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม อย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่า โครงการนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน เนื่องจากโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งเดินหน้าก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการนี้ไม่มีปัญหาหากแหล่งเงินในงบประมาณไม่เพียงพอก็จะมาใช้การกู้เงิน แต่จะไม่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีรายได้จากค่าผ่านทางค่อนข้างต่ำ
ขณะที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็ยืนยันเช่นกันว่า โครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายถือเป็นโครงการในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร โดยเฉพาะการจราจรที่ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ปัจจุบันมีปัญหาติดขัดมาก
โดยแหล่งเงินกู้นั้น หากกระทรวงคมนาคมสามารถดำเนินการเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างได้ทันภายในปีงบประมาณ 58 กระทรวงการคลัง ก็พร้อมที่จะปรับแผนเงินกู้ของ สบน.ในปีงบประมาณนี้ เพื่อบรรจุแผนการกู้มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางนี้เข้าไว้ในแผน แต่หากไม่สามารถดำเนินการประมูลก่อสร้างได้ทันภายในปีงบประมาณนี้ ก็จะบรรจุแผนการกู้ดังกล่าวไว้ในแผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2559 แทน.
ดังนั้นปีงบประมาณ 58 จะมี 2 โครงการใหญ่ ๆที่เดินหน้า คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กับ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี เป็นผลงาน “เมกะโปรเจกต์”แรก ๆ ที่จะสร้างชื่อให้กับรัฐบาล คสช.