xs
xsm
sm
md
lg

ได้ฤกษ์เวนคืนพื้นที่ สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แผนผังโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ได้ฤกษ์ เวนคืนพื้นที่ สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต “ครม.” ผ่านร่างประกาศสำนักนายกฯ ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ - เข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อกิจการขนส่งมวลชน ท้องที่ จตุจักร - บางเขน - หลักสี่ - สายไหม - ดอนเมือง - ลำลูกกา เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน

วันนี้ (12 พ.ค.) มีรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน และร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป

โดยมีสาระสำคัญของร่างประกาศ ดังนี้ 1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน

2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 8 ก.พ. 2553 เห็นชอบในหลักการ ยืดเส้นทางจากหมอชิต ผ่านสะพานใหม่ ไปถึงคูคต โดยให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณตำบลคูคตแทน ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวมกว่า 2.87 หมื่นล้านบาท ลักษณะเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานียกระดับ 16 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจากรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต และตรงไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 55 จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไปเลียบกับแนวถนนฝั่งซ้าย จนถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือวงเวียนหลักสี่ และเบี่ยงกลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง

สำหรับสถานที่ตั้งสถานีทั้ง 16 แห่ง ได้แก่

1. สถานีห้าแยกลาดพร้าว ตั้งอยู่บนพหลโยธินหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว
2. สถานีพหลโยธิน 24 ตั้งอยู่บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24
3. สถานีรัชโยธิน ตั้งอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน
4. สถานีเสนานิคม ตั้งอยู่บริเวณซอยเสนานิคม
5. สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. สถานีกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานกรมป่าไม้
7. สถานีบางบัว ตั้งอยู่บริเวณถนนบางบัว
8. สถานีกรมทหารราบที่ 11 ตั้งอยู่บริเวณกรมทหารราบที่ 11
9. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์หลักสี่
10. สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ ตั้งอยู่บริเวณซอยพหลโยธิน 57
11. สถานีสายหยุด ตั้งอยู่บริเวณซอยสายหยุด
12. สถานีสะพานใหม่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ
13. สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่หน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และกรมแพทย์ทหารอากาศ
14. สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
15. สถานี กม.5 ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน
16. สถานีคูคต ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรคูคต

ทั้งนี้ การเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ จะมีพื้นที่จะต้องเวนคืนในบริเวณทางเท้า ที่เป็นทางขึ้น - ลงสถานี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอใช้พื้นที่เรียบร้อยแล้วใช้งบเวนคืน 7,863 ล้านบาท มีประชาชนถูกเวนคืน 262 ราย มีสิ่งปลูกสร้าง 275 หลัง

ซึ่งพื้นที่เวนคืนขนาดใหญ่จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถมีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ และมีอาคารจอดรถ 2 แห่งอยู่บริเวณถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 25 และคลองสองที่สามารถจอดรถยนต์ได้ 1,033 คัน และ 710 คันตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างดังกล่าวต้องรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยจะทำทางลอด ทดแทนในแนวถนนรัชดาภิเษก ด้านสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ก็จะมีการทุบและทำสะพานใหม่ใต้ทางรถไฟฟ้าแต่มีขนาดสั้นกว่าเดิม คาดว่า จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน มิ.ย. 2558 และประชาชนจะสามารถใช้บริการได้ในเดือน ก.พ. 2563 นี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น