ครม.ไฟเขียว รฟม.เปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม เชื่อมจากหมอชิต-คูคต 2.65 หมื่นล้าน คาดเปิดประมูล ธ.ค.นี้ ก่อสร้าง 4 ปี เปิดใช้ได้ มิ.ย. 61 ด้านคลังแนะเจรจา กทม.และ BTS เชื่อมต่อเดินทางจากหมอชิต และระบบตั๋วร่วม
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 ต.ค.) มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร ในวงเงินค่างานก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provision Sum) อีก 2,656 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา และขั้นตอนการประกวดราคาจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณเดือนธันวาคม 2556 และก่อสร้างในปี 2557 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี
โดยแบ่งงานเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. สัญญาก่อสร้างช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตรวงเงิน 14,207 ล้านบาท 2. สัญญาก่อสร้งาช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร วงเงิน 6,115 ล้านบาท 3. สัญญาก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและพื้นที่จอดรถไฟฟ้า (Detpo)วงงิน 3,638 ล้านบาท และ 4. สัญญาระบบราง วงเงิน 2,609 ล้านบาท
ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำนำสักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้อนุติให้รฟม.ยกเว้นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และให้เปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ พร้อมให้ รฟม.จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการวงเงิน 7,863 ล้านบาท และกรอบวงเงินค่าจ้างงานสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 15 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังให้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธาในวงเงิน 1,062 ล้านบาทด้วย
โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า การจัดหาเงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ได้กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าหากเริ่มกระบวนการก่อสร้างในปี 57 จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2561 ขณะที่ผลการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จากการประมาณการจำนวนผู้โดยสารในปีที่จะเปิดให้บริการ โดยคิดอัตราแรกเข้าที่ 13 บาท และคิดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาทต่อกิโลเมตร จะมีผู้ใช้บริการ 185,000 คนต่อวัน มีอัตราค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 15.4% โดยเส้นทางการก่อสร้างรถไฟสายสีเขียวนั้น จะต่อเนื่องจากบีทีเอสสถานีหมอชิต ไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่ายแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงซอยพหลโยธิน 55 เบี่ยงไปเลียบถนนฝั่งซ้ายวงเวียนหลักสี่ กลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ ผ่านสถานีตำรวจภูธรคูคต และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า เส้นทางการก่อสร้างดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้า BTS โดยกระทรวงคมนาคมควรเร่งเจรจากับกรุงเทพมหานคร และมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ลงทุน เพื่อกำหนดแนวทางการเชื่อมต่อการเดินรถ ทั้งโครงสร้างกายภาพและระบบตั๋วร่วม โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และส่วนแบ่งรายได้ขณะที่งานโยธา ค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องภาครัฐจะเป็นผู้รับภาระการลงทุนทั้งหมดด้วย