xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟน้ำเงิน-เขียวใกล้สรุป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”สั่งรฟม.เร่งสรุปรูปแบบเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีน้ำเงินและสีเขียวเข้มให้จบใน 2 เดือน เผยมี 2 วิธีคือเปิดประมูลใหม่หรือเจรจารายเดิมคือ BMCL และ BTS เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วานนี้ (10 ต.ค.) ว่า ได้หารือถึงรูปแบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) และสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากทั้งสองสายทางมีเส้นทางที่ต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าอีก 2 สายที่มีผู้ให้บริการเดิมอยู่ด้วย โดยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเฉลิมรัชมงคลที่ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL รับสัมปทานเดินรถอยู่ และสายสีเขียวเข้ม ต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส .ซึ่งมีบริษัท บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS รับสัมปทาน

ทั้งนี้ ในส่วนของรฟม.ต้องไปพิจารณาวิธีที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ ระหว่าง เจรจากับผู้ให้บริการรายเดิมเพื่อเดินรถต่อเชื่อมหรือเปิดประกวดราคาใหม่ โดยส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคาหาผู้รับงานเดินรถ ใช้วิธีว่าจ้างแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) ประเภท Gross Cost เช่นเดียวกับสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) คือ รัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า ทำหน้าที่เดินรถ แล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่ ไปแล้ว ดังนั้น หาก รฟม.พิจารณาแล้วเห็นว่าวิธีเจรจากับ BMCL ผู้เดินรถปัจจุบันเกิดประโยชน์มากกว่า จะต้องทำเรื่องเสนอ ครม.ใหม่ โดยคาดว่าสายนี้จะได้ข้อยุติวิธีการเดินรถภายใน 1เดือน

ส่วนสายสีเขียวเข้มนั้นต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและ กรุงเทพมหานครกทม.ก่อนว่าหากให้ BTS เดินรถต่อเนื่องจะมีรายละเอียดอย่างไร หรือหากเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายอื่น จะเชื่อมต่อกันอย่างไร และคาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 2 เดือน โดยหากสรุปแล้วต้องใช้วิธีเปิดประกวดราคาใหม่ รฟม.ควรใช้วิธีประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) เพื่อเปิดกว้างมากขึ้น
เพราะผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีเพียง 3 ราย คือ BMCL, BTS และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์) เท่านั้น

“รูปแบบการให้ผู้ให้บริการรายเดิม เดินรถต่อเนื่องย่อมต้องดีกว่าเพราะทำให้การเดินทางสะดวก ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ แต่เพื่อความรอบคอบทุกด้าน จะต้องมองทั้งวิธีเจรจากับผู้เดินรถรายเดิม และเปิดประมูลใหม่ ซึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลปัจจุบันมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นเกือบ 20 จุด ซึ่งผู้โดยสารต้องเปลี่ยนขบวนรถอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าจะเปิดประมูลใหม่และได้รายใหม่เข้ามาเดินรถ เชื่อว่าผู้โดยสารก็ไม่มีปัญหาหากต้องเปลี่ยนขบวนรถ” นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า สำหรับการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้นล่าสุดคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯ รฟม.เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เนื่องจาก ครม.มีมติให้เปิดประกวดราคา แต่ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาวิธีเจรจากับรายเดิมคือ BMCL ด้วย

ส่วนสายสีเขียวเหนือนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับเก่า ปี 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนใหม่ปี 2556 เนื่องจากได้เริ่มขั้นตอนไปบ้างแล้ว โดยในส่วนงานก่อสร้างล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.ฝ่าย เศรษฐกิจที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้เห็นชอบโครงการแล้ว และรอเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคาก่อสร้าง โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะสามารถประกาศประกวดราคาได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น