xs
xsm
sm
md
lg

สั่งเร่งทำแผนแยกบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท เพื่อความคล่องตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” สั่ง “ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” เร่งสรุปรายละเอียดปรับโครงสร้างแยกการบริหารงาน แอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.เพื่อความคล่องตัวใน 2 ก.ย. ตั้งเป้า 2 เดือนต้องเป็นรูปธรรม พับแนวดึงกลับเป็นหน่วยธุรกิจ ร.ฟ.ท. พร้อมจี้ รฟม.เร่งแก้ปัญหาก่อสร้างรถไฟฟ้าล่าช้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และโครงการก่อสร้างไฟฟ้า วานนี้ (29 ส.ค.) ว่าในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ได้หารทอร่วมกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (ผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์) ถึงแนวทางการปรับโครงสร้างการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.โดยมอบหมายให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.สรุปรายละเอียดโครงสร้างและการโอนทรัพย์สิน เสนอภายในวันที่ 2 กันยายน เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน

ทั้งนี้ แนวทางที่จะดำเนินการ คือ ปรับโครงสร้างเพื่อแยกการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.เพื่อความคล่องตัว ทั้งรูปแบบเดินรถ การจัดเก็บรายได้ เป็นต้น โดยผู้บริหารและพนักงานจะต้องเป็นคนละชุด โดยพนักงานของ ร.ฟ.ท.สามารถลาออกจาก ร.ฟ.ท.เพื่อมาสมัครเป็นพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้้า ร.ฟ.ท.จำกัด โดยหลังสาัปรายละเอียดโครงสร้างชัดเจนจะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบรายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับโครงสร้างได้เป็นที่เรียบร้อย ในอนาคตหากมีการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟต่างๆ หน่วยงานดังกล่าวก็สามารถเข้าร่วมการประมูลงานได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายประภัสร์ มีแนวคิดที่จะให้แอร์พอร์ตลิงก์ หรือบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจ (BU:Business Unit) ของ ร.ฟ.ท.เหมือนเดิม แต่ได้มีการทำความเข้าใจร่วมกับ รมว.คมนาคมแล้วและจะเดินหน้าในการปรับโครงสร้างแยกการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.ซึ่งอาจะให้เป็นบริษัทลูกที่ ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% แต่มีอิสระในการบริหารงานและหารายได้

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้านั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ได้เร่งรัดการบริหารงาน โครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้มอบหมายให้นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการฯ รฟม. รวบรวมรายละเอียดปัญหาความล่าช้าของโครงการต่างๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน รวมถึงแนวติดการซื้อขบวนรถไฟฟ้าแบบเป็นล็อต โดยเห็นว่าการที่เราซื้อรถเอง และจ้างแค่เดินรถอย่างเดียวน่าจะเป็นแนวทางที่เร็วที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) จะสามารถเปิดประมูลเรื่องตัวรถได้ประมาณต้นปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น