xs
xsm
sm
md
lg

หนุนแอร์พอร์ตลิงก์เดินรถอย่างเดียว โอนหนี้แยกจาก ร.ฟ.ท.หวั่นไปไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” ถือหาง ร.ฟ.ท.ดึงแอร์พอร์ตลิงก์กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจ ทำหน้าที่เดินรถอย่างเดียว เลิกแผนโอนหนี้กว่า 7 พันล้าน หวั่นยิ่งทำให้ไปไม่รอด ชี้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์คือการบริหารไม่คล่องตัว แนะแก้ไขโดยเพิ่มอำนาจเรื่องซ่อมบำรุง ไม่ต้องรอ ร.ฟ.ท.อนุมัติ เตรียมถกคลังเร่งสรุปพร้อมการปฏิรูป ร.ฟ.ท.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ปัญหา บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) อาจต้องทบทวนใหม่ โดยเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสม คือ ให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ทำหน้าที่เดินรถอย่างเดียว โดยไม่ต้องโอนทรัพย์สินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เนื่องจากการโอนทรัพย์สินไปให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จะยิ่งเป็นการสร้างภาระเพิ่ม ซึ่งในอนาคตบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จะต้องเข้าประมูลเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อีกด้วย หากมีหนี้จะทำให้ต้นทุนในการเดินรถสูงกว่าบริษัทอื่น

ทั้งนี้ ปัญหาของแอร์พอร์ตลิงก์ คือ ข้อสัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท.ในฐานะบริษัทแม่ กับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ไม่คล่องตัว ต้องมาดูว่ามีข้อตกลงใดบ้างที่เป็นอุปสรรค เช่น ควรให้แอร์พอร์ตลิงก์ในอำนาจในการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุง ไม่ต้องรอ ร.ฟ.ท. เพราะขั้นตอนในการพิจารณาใช้เวลานาน ทำให้ไม่คล่องตัวและกระทบต่อการให้บริการ เป็นต้น

“ปัญหาตอนนี้คือความไม่คล่องตัวระหว่าง ร.ฟ.ท.กับแอร์พอร์ตลิงก์ ถ้าแก้ไขได้เชื่อว่าแอร์พอร์ตลิงก์จะดีขึ้น โดยไม่ต้องโอนหนี้สินมาให้ ในขณะที่ ร.ฟ.ท.อยากให้แอร์พอร์ตลิงก์กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจและจ้างให้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เหมือนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งทั้งหมดจะต้องดูโมเดลเรื่องที่จะมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางประกอบด้วย ซึ่งจะเร่งหารือกับกระทรวงการคลังให้ได้ข้อสรุป” รมว.คมนาคมกล่าว

โดยก่อนหน้านี้จะมีการแยกการบริหารงานของแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาโอนหนี้สินให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ซึ่งเดิมบริษัทจะรับหนี้สินจาก ร.ฟ.ท.ประมาณ 7,035 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เห็นว่าควรรับโอนหนี้ในส่วนของระบบอาณัติสัญญาณ ประมาณ 4,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งจะทำให้หนี้ของบริษัทเพิ่มเป็นกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนและแผนธุรกิจของบริษัทฯ

ส่วนกรณีที่จะมีการกู้เงินจำนวน 420 ล้านบาท เข้ามาเสริมสภาพคล่องในการบริหารงานและให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามโมเดลที่ให้คงหนี้สินไว้ที่ ร.ฟ.ท. ดังนั้น การกู้ของแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ควรให้ ร.ฟ.ท.กู้จะเหมาะสมกว่า แต่จะต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น