สนข.เตรียมสรุปแผนแม่บทพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน 2,325 ไร่ ต.ค.นี้เสนอคมนาคม จ่อผุดพลาซาใต้ดินเป็นชอปปิ้งเซ็นเตอร์กลางเชื่อม 3 สถานีรถไฟฟ้าหลัก คือ บางซื่อ,สีน้ำเงิน, สีเขียว ชี้เน้นทางเดินเชื่อมภายในพื้นที่ เหตุลงทุนน้อยกว่าโมโนเรล รอสรุปตัวเลขความต้องการเดินทางอีก 2 เดือนก่อนฟันธง ส่วน บขส.อาจต้องย้ายออกทั้งหมด ระบุเดินทางในเมืองเน้นรถไฟ และรถเมล์
เมื่อวันที่ 17 กันยายน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 งานศึกษาพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน โดยนายวิจิตต์ นิมิตวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สนข.เปิดเผยว่า พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินมีขนาด 2,325 ไร่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในโครงการจะมีรถไฟฟ้าหลายสาย โดยสถานีกลางบางซื่อจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีเขียวของ BTS โดยคาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางเข้ามาภายในพื้นที่ในปี 2560 ประมาณ 2.97 แสนคน-เที่ยว/วัน และในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 3.83 แสนคน-เที่ยว/วัน ดังนั้น นอกจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้วจะต้องวางแผนแม่บทการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางทั้งภายในพื้นที่และกับพื้นที่รอบนอกที่เป็นแหล่งธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอแนวคิดในการเชื่อมต่อ 3 สถานีหลักที่อยู่ภายใน คือ สถานีกลางบางซื่อ, สถานีรถไฟฟ้า BTS และสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยทำเป็นทางเดินเชื่อมมีสถานีอยู่ตรงกลาง ด้านล่างพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นพลาซาใต้ดิน โดยมีระยะห่างจากทั้ง 3 สถานีหลัก 500-1,000 เมตร สามารถเดินถึงกันได้รูปแบบเดียวกับการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ที่มีศูนย์การค้าใต้ดินขนาดใหญ่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ซึ่งรูปแบบที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน และเป็นการเดินในระยะทางที่ไม่ไกลมาก
ส่วนการเชื่อมต่อการเดินทางภายในศูนย์พหลโยธินฯ ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบระหว่างทางเดินเชื่อม, อุโมงค์, ทางเท้ายกระดับ หรือใช้ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เช่น รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล), รถไฟฟ้าล้อยาง, รถราง,รถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) ซึ่งต้องขึ้นกับความต้องการเดินทางและความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนนั้นต้องลงทุนสูงเนื่องจากมีความจุได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน/ชม./ทิศทาง
“ในอนาคตต้องการให้ใช้ระบบรถไฟในการเดินทางเชื่อมต่อเข้าสู่ใจกลางเมืองเป็นหลัก ดังนั้น แนวคิดในขณะนี้คือย้ายสถานีขนส่งหมอชิต (บขส.) ออกจากพื้นที่และใช้ระบบรถไฟหรือรถเมล์ 14 สายเชื่อมเข้าศูนย์ฯ หรืออาจจะให้มีจุดสำหรับการรับส่งผู้โดยสาร บขส.เท่านั้น โดย สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ระยะเวลา 14 เดือน หลังครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2556 จะมีการรับฟังความเห็นอีกครั้ง จากนั้นสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าการศึกษาช่วงแรกมีความล่าช้า เพราะต้องลงพื้นที่และสอบถามความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหารทั้งเซ็นทรัล, เอ็นเนอยี่คอมเพล็กซ์ ว่าจะมีพนักงานมาใช้บริการในศูนย์มากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลในการวางระบบขนส่ง” นายวิจิตต์กล่าว
นอกจากนี้ ในศูนย์พหลโยธินฯ ด้านทิศเหนือมีแผนพัฒนาพื้นที่ กม.11 ประกอบด้วย พัฒนาทางด้านธุรกิจ พาณิชยกรรม อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ โรงแรม ร้านค้าและที่พักอาศัย ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการเดินทางจำนวนมาก ยังมีการขยายช่องจราจรถนนกำแพงเพชร 2, 3, 4 และ 6 การจัดระบบควบคุมการจราจรที่ทางแยก เป็นต้น