xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงเวนคืนแยกบางพลัด หันวางตอม่อสีน้ำเงินบนทางเท้า ทำค่าก่อสร้างเพิ่มอีกกว่า400ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รฟม.” ปรับแบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงแยกบางพลัด กลับมาใช้ยูคว่ำบนทางเท้าเหมือนเดิม หลังแนวทางเวนคืนตึกแถว 84 ห้องถูกต่อต้านหนัก คาดค่าก่อสร้างอาจต้องเพิ่มกว่า 400 ล้าน เหตุเจองานยากทำงานในพื้นที่แคบและต้องแก้ปัญหาไม่ให้กระทบระบบระบายน้ำของ กทม. ตั้งเป้า ส.ค.สรุปเริ่มลงมือก่อสร้าง เหตุล่าช้ามากแล้ว

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) บริเวณสี่แยกบางพลัด ว่าคณะทำงานร่วม รฟม.และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้หารือถึงรูปแบบก่อสร้างโดยเบื้องต้นเห็นตรงกันว่าควรใช้รูปแบบให้เสาโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้ารูปตัวยูคว่ำอยู่บนทางเท้าคร่อมทางลอดแยกบางพลัดซึ่งเป็นแนวทางเดิม หลังจากพบว่ารูปแบบยูคว่ำแต่จะต้องขยับตำแหน่งเสารถไฟฟ้าเข้าไปตึกแถวจำเป็นต้องเวนคืนตึกแถวสองฝั่ง รวม 84 คูหาทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนรูปแบบเป็นเสาตอม่อเดียววางตรงกลางทางลอดบางพลัดนั้น ทาง กทม.ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่เหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม และความปลอดภัย

ทั้งนี้ รูปแบบยูคว่ำโดยเสาอยู่บริเวณทางเท้านั้นจะมีปัญหาระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน โดยเฉพาะท่อระบายน้ำ ซึ่ง กทม.กังวลว่าจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำซึ่งเหตุน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 บริเวณบางพลัดเป็นจุดที่มีน้ำท่วมสูง โดยต้องยอมรับว่าการก่อสร้างในรูปแบบยูคว่ำบนทางเท้าที่มีพื้นที่จำกัดมีความยากมาก ใช้เวลานานและค่าก่อสร้างสูงซึ่งคณะทำงานร่วมฯอยู่ระหว่างหารือเพื่อสรุปแนวทางการก่อสร้างทั้งเชิงเทคนิค, ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลา แต่เป็นแนวทางที่ลดการเวนคืนได้มากที่สุด โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคมนี้

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองรองผู้ว่าการฯ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) กล่าวว่า ในเชิงเทคนิคสามารถก่อสร้างได้เสารถไฟฟ้าบนทางเท้าได้ ซึ่งกรณีท่อระบายน้ำนั้น ได้หารือกับทางสำนักงานระบายน้ำของ กทม.เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการขยับท่อระบายน้ำในจุดที่เป็นตำแหน่งเสา ซึ่งอาจทำให้แนวท่อคดเคี้ยวบ้าง ดังนั้นจะปรับเปลี่ยนชนิดของท่อจากเดิมที่เป็นคอนกรีตมาเป็นวัสดุที่ทำให้การไหลของน้ำดีกว่า และทำให้อัตราการไหลของน้ำเท่ากับท่อเดิม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการระบายน้ำของ กทม.

อย่างไรก็ตาม รูปแบบยูคว่ำวางเสาบนทางเท้านั้นอาจจะมีบางจุดที่ทางเท้าแคบ โดยต้องเวนคืนพื้นที่ใต้ชายคาหรือใต้กันสาดตึกแถวบ้างซึ่งไม่ถึงตัวตึกแถว โดย รฟม.จะจ่ายชดเชยให้ แต่จะไม่ต้องเวนคืนตึกแถว ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้ประชาชนสองฝั่งได้รับผลกระทบ เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในแง่ประชาชนแต่หากเทียบเป็นตัวเงินแล้วค่าก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้นน่าจะสูงกว่า 400 ล้านบาทที่เดิมคาดว่าจะเป็นค่าเวนคืนตึกแถวสองฝั่ง โดยขณะนี้การก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผน 6-7 เดือน

สำหรับงานก่อสร้างบริเวณสี่แยกบางพลัด เป็นสัญญา 3 (ช่วงเตาปูน-ท่าพระ) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 11 กิโลเมตร โดยมีงานก่อสร้างทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แห่ง มูลค่ารวม 11,284 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น (SH-UN JOINT VENTURE) (บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด - บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)) เป็นผู้รับเหมาโดยความก้าวหน้าการก่อสร้างถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 อยู่ที่ 35.09% ล่าช้า 17.92% โดยแผนงานกำหนด 53.01%
กำลังโหลดความคิดเห็น