บอร์ดรฟม.สั่งลุยก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางลอดกทม. เห็นชอบปรับแบบขยับตำแหน่งเสาเวนคืนตึกแถวสี่แยกบางพลัดเพิ่ม84 ห้อง ส่วนแยกไฟฉายจ้างตรงผู้รับเหมาของกทม. 300ล. ทำฐานรากรถไฟฟ้าให้ ยันเปิดเดินรถได้ตามแผนมี.ค.60 ยกเว้นสถานีสามแยกไฟฉายคาดเปิดได้ปลายปี 60 เผยงานก่อสร้างถึงสิ้นเม.ย.คืบหน้ารวม38.23% ล่าช้า3.29%
นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดรฟม.เมื่อวันที่16 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร รฟม.ในการแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) บริเวณสี่แยกบางพลัด และสามแยกไฟฉายซึ่งปัจจุบันผู้รับเหมายังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ โดยสี่แยกบางพลัด รฟม.จะปรับแบบเสาโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้ารูปตัวยูคว่ำใหม่จากเดิมที่ออกแบบให้เสาอยู่บนทางเท้าคล่องทางลอดแยกบางพลัดของกรุงเทพมหานคร(กทม.) แต่ติดปัญหาใต้ดินมีระบบสาธารณูปโภคหนาแน่น ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์และท่อระบายน้ำการรื้อย้ายอาจจะมีผลกระทบต่อการระบายน้ำได้จึงต้องขยับตำแหน่งเสารถไฟฟ้าเข้าไปตึกแถวซึ่งจะต้องเวนคืนเพิ่มเฉพาะจุดที่ตรงกับตำแหน่งเสาประมาณ84 ห้อง (ใช้พื้นที่เสาละ2ห้อง แต่ละเสามีระยะห่าง 35 เมตร)โดยค่าเวนคืนจะเพิ่มไม่เกิน 5 % ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้
ส่วนสามแยกไฟฉายนั้น จะก่อสร้างโดยฝากเสารถไฟฟ้าไว้กับผนังอุโมงค์ทางลอดของกทม. โดยรฟม.สรุปว่า จะจ้างโดยตรงให้บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดกทม.ทำการก่อสร้างเสาฐานรากรถไฟฟ้าด้วย ซึ่งเสารถไฟฟ้าจะลึก50 เมตรขณะที่ผนังทางลอดกทม.ต้องเพิ่มความลึกจาก 22 เมตรเป็น 33 เมตร เพื่อป้องกันการทรุดตัวไม่เท่ากันโดยรฟม.เป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้าง 2 ส่วนรวมประมาณ300 ล้านบาท ซึ่งได้ตั้งงบเผื่อไว้ก่อนแล้ว
“ก่อนหน้านี้ กทม.มีการแก้ไขแบบทางลอดสามแยกไฟฉายโดยลดความกว้างจาก 4 เลนเหลือ 3 เลน และลดความยาวจาก1.2 กม.เหลือ 800 เมตร จึงส่งผลให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าต้องล่าช้าไปด้วยซึ่งข้อสรุปปัญหาทั้ง 2 จุด รฟม.ได้เจรจาเบื้องต้นกับ นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว เหลือเพียงการเสนอต่อที่ประชุมร่วมอย่างเป็นทางการระหว่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคมและ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนแล้ว”ประธานบอร์ดรฟม.กล่าว
นางสาวรัชนีกล่าวว่า แนวทางดังกล่าวถือว่าดีที่สุดในการเร่งรัดการก่อสร้างไม่ให้ล่าช้ามากกว่าไปนี้ โดยทั้ง2 จุดนั้นอยู่ในสัญญาก่อสร้างที่ 3 (เส้นทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ) สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 11กม.มีกิจการร่วมค้า SH-UN (บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จากัด(มหาชน) หรือ UNIQ) เป็นผู้รับเหมา มูลค่าสัญญา 11,605ล้านบาท ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้งานสัญญา 3 ล่าช้าแล้ว 13 เดือน โดยคาดว่าทางบริษัท กำแพงเพชรฯจะเริ่มก่อสร้างจุดสามแยกไฟฉายได้ในเดือนมิถุนายนนี้ และผู้รับเหมาของ รฟม.จะเริ่มก่อสร้างโครงสร้างเหนือฐานรากได้ประมาณกลางปี2557 โดยมั่นใจว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดให้บริการได้ตามแผนเดือนมีนาคม 2560 แน่นอน ยกเว้นการหยุดรถที่สถานีสามแยกไฟฉายที่อาจจะต้องล่าช้าออกไปคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปลายปี2560
สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ)สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2556 มีความคืบหน้ารวม 38.23% ล่าช้ากว่าแผน 3.29% โดยเฉพาะสัญญา 3 (เตาปูน-ท่าพระ) มีความคืบหน้า 45.03% ล่าช้ากว่าแผน 13.99%
นอกจากนี้ บอร์ดยังรับทราบการปรับลดค่าก่อสร้างสีน้ำเงินสัญญา 2 (งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามชัย – ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. ที่มีบมจ. ช. การช่าง(CK) เป็นผู้รับเหมาในส่วนของค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Variation Order) ประมาณ 102 ล้านบาท