xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสีน้ำเงินดีเลย์กว่าแผนแล้ว 1 ปี เหตุสะดุดอุโมงค์สามแยกไฟฉายของกทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” เตรียมนัดรองผู้ว่าฯ กทม.ถกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย หลังกระทบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินล่าช้าแล้ว 1 ปี เผย รฟม.ตั้งงบ 300 ล้านเพื่อเพิ่มความแข็งแรงผนังอุโมงค์ลอดให้กทม.รองรับโครงสร้างรถไฟฟ้า พร้อมกางแผนรถไฟฟ้าใน พ.ร.บ.2 ล้านล้าน ประสาน กทม.ร่วมวางแผนใช้พื้นที่ร่วม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.)เพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) ว่าปัญหามี 4 พื้นที่ คือ บริเวณถนนบรมราชชนนี สี่แยกท่าพระ สามแยกไฟฉาย และสนามไชย ซึ่งจุดที่มีปัญหามากที่สุดคือที่สามแยกไฟฉาย ซึ่งยังเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้เนื่องจาก กทม. อยู่ระหว่างปรับแบบก่อสร้างเพื่อลดขนาดอุโมงค์ทางลอดให้เล็กลง ส่งผลให้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจุดนี้ซึ่งอยู่ในสัญญาก่อสร้างที่ 3 (เส้นทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ) 11 กม. มีกิจการร่วมค้า SH-UN (บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จากัด (มหาชน) หรือ UNIQ) เป็นผู้รับเหมา วงเงิน 11,605 ล้านบาทล่าช้าแล้ว 1 ปี โดยล่าสุดมีความคืบหน้า 23.63% จากแผน 34.72%

“จุดนี้เสาของรถไฟฟ้าจะต้องอยู่ตรงผนังอุโมงค์ทางลอดของ กทม. จึงจะต้องรอให้ กทม.ปรับแบบอุโมงค์เสร็จก่อน และ รฟม.จะต้องจ่ายค่าก่อสร้างในส่วนของฐานรากและผนังอุโมงค์ที่ต้องมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับโครงสร้างรถไฟฟ้าด้านบนได้ เป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งได้เตรียมไว้แล้ว”

ส่วนบริเวณสี่แยกบางพลัดนั้น รฟม.ออกแบบเสารถไฟฟ้าอยู่บนทางเท้า เพราะผนังอุโมงค์ทางลอดของ กทม.รับน้ำหนักไม่ได้ เนื่องจาก กทม.ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งทำให้ รฟม.ต้องปรับแบบเพื่อไม้ให้กระทบพื้นที่ทางเท้าที่ต้องกว้างไม่ต้อยกว่า 1.50 เมตร ซึ่งมีทั้งแนวทางเวนคืนตึกแถวเพิ่ม หรือวางเสารถไฟฟ้าลงไปตรงกลางอุโมงค์เพื่อลดการเวนคืน แต่อุโมงค์จะเหลือ 2 ช่องจราจร ต้องดูว่าหลังรถไฟฟ้าเปิดปริมาณรถยนต์จะลดลงหรือไม่ ส่วนสัญญาที่ 4 (เส้นทางยกระดับช่วงท่าพระ-หลักสอง)ที่เชื่อมกับรถ ไฟฟ้าส่วนต่อขยาย BTS (ตากสิน-บางหว้า) ต้องประสานกับ กทม.เพื่อบริหารการก่อสร้างโครงสร้างสายสีน้ำเงินอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินรถ BTS (ตากสิน-บางหว้า) ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธันวาคมที่โครงสร้างอยู่ด้านล่าง

นายชัชชาติกล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะเชิญนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม.มาหารือนอกรอบ เพื่อประสานกันอย่างใกล้ชิดในความร่วมมือแก้ปัญหางานก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขต กทม.ทั้งหมด พร้อมกับชี้แจงแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ให้กทม.รับทราบโครงการรถไฟฟ้าที่จะก่อสร้างในพื้นที่ กทม.เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันตั้งแต่ต้น โดยยังมั่นใจว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะเปิดให้บริการได้ในปี 2560 ตามแผน

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี ) นั้น มีปัญหาเวนคืนแนวสถานีราชปรารภ และ ช่วงสถานีดินแดง-ประชาสงเคราะห์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพราะผ่านชุมชน 210 แปลง หรือ189 ราย มีการต่อต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงสั่งการให้ รฟม.ปรับแบบก่อสร้างสถานีให้มีขนาดเล็กลง หรือปรับแบบจากอุโมงค์คู่เป็นอุโมงค์ซ้อน ตามความเหมาะสม และห้ามนำพื้นที่ที่เวนคืนมาดำเนินการในเชิงพาณิชย์โดยเด็ดขาด พร้อมกับจัดหาที่อยู่เพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่ง รฟม.ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ สีส้มเฟสแรก (ศูนย์วัฒนฯ- มีนบุรี) จะก่อสร้างได้ก่อนโดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ในเดือนมิถุนายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น