“ชัชชาติ” จับเข่าคุย “สุขุมพันธุ์” 5ก.ค.นี้ หวังเคลียร์ปัญหาก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินทับซ้อนพื้นที่ก่อสร้างทางลอดของ กทม. และร่วมมือแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม.อย่างเป็นระบบ เล็งใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนทำทางลัด จัดระบบจุดจอดรถแท็กซี่, จัดระเบียบแผงลอย ป้ายรถเมล์
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะประชุมร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและการบูรณาการทำงานระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาหลายโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกระทรวงคมนาคมต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างของ กทม. แต่การประสานงานยังมีความล่าช้าจนกระทบไปถึงแผนการก่อสร้างปัญหา โดยนายชัชชาติกล่าวว่า กทม.เป็นผู้ดูแลถนนซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลายสาย ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ตามแผนต้องหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างร่วมกันให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงจะหารือเพื่อแก้ปัญหาจราจรด้วย
ทั้งนี้ หัวข้อในการหารือประกอบด้วย ปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ตลอดเส้นทาง, ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจราจร, การสนับสนุนพื้นที่ใต้เขตทางพิเศษเพื่อพัฒนาเป็นทางลัดหรือสาธารณประโยชน์อื่นๆ, ส่งเสริมนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยโดยเฉพาะบริเวณป้ายรถโดยสารประจำทาง และการพัฒนาป้ายหยุดรถโดยสารในอนาคต, ส่งเสริมจุดจอดรถแท็กซี่, ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ, สนับสนุนระบบรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวภายในเกาะรัตนโกสินทร์ และการบริหารระบบภาษีระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กับ กทม.
สำหรับปัญหาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) นั้น จุดใหญ่คือ สามแยกไฟฉาย และสี่แยกบางพลัด ซึ่ง กทม.จะก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ขณะที่ตามแบบเสาของไฟฟ้าจะอยู่ตรงผนังอุโมงค์ทางลอด ซึ่งทำให้ผู้รับเหมาของ รฟม.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้จนกว่า กทม.จะปรับแบบอุโมงค์เสร็จ
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหาการก่อสร้างเพื่อไม่ให้งานล่าช้าไปกว่านี้ โดยปัจจุบันล่าช้ากว่า 13 เดือนแล้ว โดยที่สี่แยกบางพลัด รฟม.จะปรับแบบเสาโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้ารูปตัวยูคว่ำใหม่ จากเดิมที่เสาจะอยู่บนทางเท้าคล่อมทางลอดของ กทม. แต่ติดท่อระบายน้ำ และท่อประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ที่อยู่ใต้ดิน โดยเฉพาะการรื้อย้ายท่อระบายน้ำจะมีผลกระทบมากจึงต้องขยับตำแหน่งเสาไฟฟ้าเข้าไปตึกแถวซึ่งจะต้องเวนคืนเพิ่มประมาณ 84 ห้อง
ส่วนสามแยกไฟฉายนั้นจะฝากเสารถไฟฟ้าไว้กับผนังทางลอดของ กทม. ซึ่งเสารถไฟฟ้าจะลึก 50 เมตร ลึกกว่าทางลอด กทม.ที่ลึกเพียง 22 เมตร จึงต้องปรับให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการทรุดตัวไม่เท่ากัน โดย รฟม.จะจ้างโดยตรงให้บริษัท กำแพงเพชรวิวัฒน์ก่อสร้าง จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด กทม.ทำการก่อสร้างเสาฐานรากรถไฟฟ้าด้วย วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท