ไทยจับมือเมียนมาร์เตรียมMOU ซื้อไฟฟ้าใหม่หมื่นเมกะวัตต์จากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมายตง และโครงการทวาย หลังโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนท่าซางไม่ได้ข้อยุติกับกลุ่มสัมปทานเดิม คาดใช้เวลาพัฒนามายตง 10-12 ปี หวังอนาคตเชื่อมสายส่งอาเซียนรับ AEC
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยและเมียนมาร์อยู่ระหว่างหารือจัดทำกรอบข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยไทยจะขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากเมียนมาร์เป็น 10,000 เมกะวัตต์โดยมีโครงการหลักได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน หรือ มายตง 7,000 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเมื่อได้ข้อสรุปจะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน
“ยอมรับว่าเดิมทีเรามองการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนท่าซาง เขตรัฐฉานแต่ขณะนี้เป็นไม่ได้แล้วเพราะติดขัดข้อตกลงกับกลุ่มผู้รับสัมปทานเดิม ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาร์คงตัดสินใจเร่งเจรจาการขายไฟฟ้าจาก มายตง ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกะ แทนซึ่งขณะนี้ได้เร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เจรจารายละเอียดเพื่อจัดทำข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ต่อไป”
สำหรับการร่วมทุนโครงการมายตงจีนเป็นผู้ถือหุ้นหลักซึ่งเป็นรายเดียวกับที่พัฒนาเขื่อนแยงซีเกียงคือบ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น และจีซอสเซส ส่วนไทยจะถือหุ้น 30% ซึ่งไทยใครจะเป็นฝ่ายร่วมทุนก็คงจะต้องพิจารณาเบื้องต้นจะเป็นบมจ. ราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งหากสามารถตกลงได้โครงการดังกล่าวจะใช้เวลาพัฒนา 10-12 ปี ซึ่งนอกเหนือจะได้ซื้อขายไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงแล้วไทยยังสามารถผันน้ำในช่วงหน้าแล้งมายังเขื่อนภูมิพล จ.ตากได้อีกด้วย ส่วนการ พัฒนาโรงไฟฟ้าที่ทวาย กำลังผลิต 3,000 เมกะวัตต์จากถ่านหิน ขณะนี้ ต้องรอทางเมียนมาร์ออกกฏหมายประกาศให้ทวายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก่อนดังนั้นขั้นตอนขณะนี้ยังเป็นเพียงการหารือเท่านั้น
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาทั้ง 2 ประเทศร่วมกัน เพราะเมียนมาร์อยู่ในระหว่างการพัฒนาประเทศมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC และการใช้พลังน้ำ ถ่านหิน จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำ และที่สำคัญยังเป็นการเชื่อมโยงระบบสายส่งอาเซียนหรือ ASEAN Power Grid ที่ได้ตกลงความร่วมมือไว้แล้ว
“การพัฒนาจะมุ่งสู่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งหมดและสามารถระบุการจ่ายไฟเข้าออกได้ตลอดเวลา ทำให้มอนิเตอร์การจ่ายซื้อขายไฟได้ชัดเจนซึ่งทำให้เป็นระบบที่จะสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายได้ซึ่งระบบนี้จะทำให้ช่วงไหนที่ไทยมีไฟผลิตเกินก็สามารถขายให้กับเพื่อนบ้านได้ทันทีโดยเฉพาะชายแดนตะวันออกขณะนี้ไทยเองก็ขายไฟให้กัมพูชา ขณะที่หากไฟเหลือในภาคอีสานก็สามารถจะมองการขายไฟให้ลาวและจีนตอนกลางได้อีก ซึ่งขณะนี้แต่ละประเทศกำลังหารือกันในแง่ของการบริหารจัดการแต่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือ Operation จริงๆ ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องหาศัยเวลาในการพัฒนาระบบสายส่งให้พร้อมด้วยซึ่งก็จะต้องดูความคุ้มค่าของการลงทุน”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว