ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าเห็นใจเหมือนกัน หลังโดนล่อเป้าจนงอมพระรามมานานสองนาน สำหรับทีมงาน 36 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของ “อาจารย์ปื๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตอนนี้อยู่ในสภาพใครๆ ก็ไม่รัก สากกะเบือ ครกหิน ก้อนอิฐ ถูกเอามาเขวี้ยงใส่กันไม่หยุด ราวกับร่างรัฐธรรมนูญที่อุตส่าห์อดตาหลับขับตานอน เขียนมาหลายเดือนขี้ริ้วขี้เหร่ จนไม่สามารถจะรับได้สักมาตราเดียว
แม้แต่คนกันเองในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาล หรือกระทั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็แสดงอาการตะขิดตะขวงใจ
กระนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ“อาจารย์ปื๊ด”ได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการทำให้สองพรรคคู่อาฆาตทางการเมือง อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ สามัคคีกันโดยมิได้นัดหมายได้ “ตุ๊ดตู่”จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับ “มาร์ค ม.7”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกลียดขี้หน้ากันเข้ากระดูกดำ กลับพูดโทนเสียงเดียวกัน ความคิดเดียวกัน ในการประชุมศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ขณะที่บรรดาสมุนลิ่วล้อของทั้งสองพรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ออกมาแท็กทีม ค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันอย่างกับคอหอยลูกกระเดือก เอะอะ เสียงดังกันโวยวาย รับไม่ได้ระบบเลือกตั้งแบบผสม เรื่องที่มา ส.ส. เรื่องที่มา ส.ว. มโนว่า จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตย ปล่อยให้ผ่านไปจะเป็นระเบิดเวลา
แต่น่าสนใจปนตลกว่าประเด็นค้านส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น ไม่มีเรื่องของประชาชนเลย
คนอื่นติชมยังพอเข้าใจเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตใจ อยากได้ในสิ่งดี แต่พอเป็นพรรคการเมืองคอมเมนต์ มันเหมือนอาการไส้เดือนโดนขี้เถ้า ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าส่วนรวม พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่จงเกลียดจงชังระบบเลือกตั้งผสมแบบเยอรมันหนักหนา เขารู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า เพราะตัวเองเข้าเนื้อเต็มๆ กลัวพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก จะได้สยายปีกในสภา กลัวจะสูญเสียอำนาจบงการในฐานะพรรคใหญ่ ที่ก่อนหน้านี้คอยทำหน้าที่เกลี่ยผลประโยชน์ให้คนอื่น มาเป็นต้องจัดสรรตามคำขอพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง ที่จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
ประเด็นที่พรรคการเมืองค้านหัวชนฝาอยู่ตอนนี้ ก็ต้องยอมรับกันว่า บางเรื่องมันก็จริงอยู่บ้าง แต่มันก็แค่บางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญมันแย่ไปจนครบ 315 มาตรา จนดูไม่ได้ซะเมื่อไหร่ อย่างเรื่องกลไกป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน ที่สลักยันต์กันเอาไว้แน่นหนาในร่างนี้ โดยหลักการก็ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็เห็นถึงความหายนะของการปล่อยให้นักการเมืองกังฉิน เข้ามากัดแทะงบประมาณประเทศกันแบบมูมมาม รวมหัวกันกินรวบประเทศจนง่อนแง่น ขืนหละหลวมเหมือนเดิม กลุ่มคนเหล่านี้ก็กลับมาหาช่องโหว่ คดโกงกันใหม่ การสกัดให้นักการเมืองมีสิทธิแต่พอดีก็เหมาะก็ควรแล้ว
กรณีพรรคการเมืองฟาดงวงฟาดงา ยังเป็นวัฏจักรเดิมๆ มุกเดิมๆ ยังไม่ปฏิรูปตัวเอง ถึงคราวตัวเองสูญเสียผลประโยชน์ ก็มักชอบแอบอ้างเอาประชาชนมาหากินไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนกับปมรัฐธรรมนูญหนนี้ ก็มาอีหรอบเดียวกัน ตอนตัวเองมีอำนาจ มีตำแหน่งแห่งหน ก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ กินมูมมาม ไม่เคยเห็นหัวประชาชน แต่พอวันหนึ่งหมดอำนาจตกอับ ก็เอาประชาชนมาเป็นตัวประกันหน้าตาเฉย หรือหน้าด้านๆ นั่นแหละ
ความจริงทฤษฎีการเขียนกฎหมายขณะนี้มันยังชี้วัดไม่ได้ด้วยซ้ำว่า มันจะห่วยแตกจริงหรือไม่ และมันจะเป็น "ระเบิดเวลา" เหมือนกับที่นักการเมืองสร้างวาทกรรมหรือเปล่า จนกว่าจะได้ทดลองใช้ เพียงแต่นักการเมืองพวกที่ได้รับผลกระทบกระเทือน มโนไปแล้วว่า หากปล่อยให้กติกาสูงสุดฉบับนี้ผ่าน ทั้งสิทธิจะน้อยลง บทบาทจะไม่วูบวาบ ทางเดินคด แคบลง ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม ช่องทางรวยทางลัดหายาก จำเป็นต้องตีปลาหน้าไซ ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองก่อน
ตามยุทธศาสตร์พักรบ จับมือถล่มร่างรัฐธรรมนูญ ของพรรคการเมือง ต่อจากนี้จะพยายามชี้นำกระแสสังคม เสมือนวาง "ระเบิดเวลา" เอาไว้ คอยปลุกกระแส เพื่อเพาะเชื้อ ให้คนเคลิบเคลิ้มคล้อยตามในเป้าหมายของตัวเอง วันนี้จุดร่วมเดียวกัน คือ ถล่มคสช. ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แท้งให้ได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันลักลั่นอยู่ไม่น้อย บกพร่องหลายจุด แม้แต่คนในคสช. และรัฐบาลเองก็ยังตำหนิ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็บ่นๆ ว่า กลไกตรวจสอบ 11 องค์กรตามกติกาฉบับใหม่ มันก็ยั้วเยี้ยเกินไป กลัวว่าเยอะจนไม่เป็นอันทำอะไรได้ ซือแป๋กฎหมายประจำรัฐบาลอย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็แพลมออกมาแล้วว่า เตรียมยื่นแก้ไขหลายจุด โดยเฉพาะจำนวนเนื้อหาหนาแน่นมโหฬาร อาจต้องยกออกสัก 20 -30 มาตรา
ดังนั้น หากไม่ปรับจูนอะไรใหม่คงจะผ่านด่านไปได้ยาก เพราะมันไม่ค่อยโฉมงามสักเท่าไหร่
เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แก้อะไรเลย บางเรื่องประชาชนเองก็รับไม่ไหว ที่สุดหลังจากปล่อยให้สปช. ซักฟอกกันพอหอมปากหอคอ เสร็จสรรพ 7 วัน หลังจากวันที่ 26 เมษายนไป ก็คงถึงขั้นตอนต้องรื้อเอามาดูกันใหม่ว่า มีอะไรจะต้องปรับปรุงแก้ไข โดยแม่น้ำสายต่างๆ มีเวลายื่นข้อเสนอแนะภายใน 30 วัน ซึ่งต้องจับตาดูว่า เนื้อหาตรงไหนที่ คสช.และครม. ทักท้วงตรงกัน ฟันธงไปล่วงหน้าเลยว่า ปรับปรุงชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคนที่อยู่บนหลังเสือ คือ “บิ๊กตู่”คงไม่ปล่อยให้ของเน่าเสียหลุดรอดไปถึงมือประชาชน ถ้าไม่กรองให้ดี คนที่เสียก็คือ “บิ๊กตู่”เอง
แต่จะแก้ไขอย่างไร แก้ไขมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ คสช.กำลังคิด คือ อะไรบ้าง คิดแบบไหน จะทำเร็วหรือทำช้าตรงนี้สำคัญมาก หากทำเร็ว โดยให้เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ อาจเหลื่อมไปสัก 4 -5 เดือน โดยอาจให้มีการทำประชามติ ตรงนี้ประชาชนน่าจะพอรับได้ ไม่น่าเกลียด แถมดีเสียอีก เพราะมีเวลาให้ทุกฝ่ายติติง ปรุงแต่งให้สมบูรณ์ ไม่ใช่เร่งรีบเอาเสร็จเข้าว่า จนออกมาเละตุ้มเป๊ะ
ทว่าหากจะสังคายนา ถึงขั้นต้องมานั่งเขียนกันใหม่หมด โดยการให้ สปช.คว่ำรัฐธรรมนูญทิ้ง เพื่อตัดปัญหา แล้วมาเริ่มนับหนึ่งกัน เสียเวลาอีกเป็นปีๆ คนจะนินทา หมาดูถูกเอาได้ว่า เจตนาไม่ดี มีนัยยะแอบแฝง โดยเฉพาะประเด็นสืบทอดอำนาจ ที่มันยากที่จะหลีกเลี่ยงข้อครหา คนจะมองไปในแง่ลบมากกว่าแง่บวก ไม่ใช่แนวทางที่ดี หากจะเลือกใช้วิธีการนี้
ตอนนี้บ้านเมืองบอบช้ำมามากพอแล้ว ปัจจัยภายนอกประเทศ ก็อินังขังขอบ ชาวโลกไม่ค่อยยอมรับ ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ สินค้าประมง เรื่องสายการบิน ข้อจำกัดของชาติประชาธิปไตย สารพันปัญหา จะทำอะไรต้องรีบ อิดออดไม่ได้
ต้องรีบไปรีบมา ไม่งั้นก็ตัวใครตัวมัน