รายงานการเมือง
จบจากขั้นตอนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อกลางดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา เสร็จสิ้นจากขั้นตอนดังกล่าวแล้วกระบวนการต่อจากนี้ก็ต้องติดตามชนิดพลาดกันไม่ได้เช่นกัน
เนื่องจากจะเข้าสู่ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 มาตรา 36 ที่จะต้องให้ สปช.-คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการ
โดยขั้นตอนดังกล่าวถือว่าสำคัญไม่น้อย เพราะในการโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ที่จะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 6 สิงหาคม สมาชิก สปช.ไม่สามารถเสนออะไรได้อีกแล้ว
สปช.ต้องโหวตรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นร่างสุดท้ายอย่างเดียว
ดังนั้น ทาง สปช.-ครม.-คสช. หากเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกดังกล่าว มีปัญหาหรือไม่เห็นด้วยกับมาตราไหนจะต้องทำความเห็นเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญภายในไม่เกิน 25 พ.ค.นี้ พอได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีเวลาอีกประมาณ 60 วันในการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องทำให้แล้วเสร็จไม่เกิน 23 ก.ค. 58 เพื่อส่งร่างทั้งหมดที่ถือเป็นร่างสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้วไปยัง สปช.เพื่อให้ สปช.โหวตภายในไม่เกิน 6 ส.ค.นั่นเอง
จึงต้องรอดูว่า 36 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเอาอย่างไร เมื่อได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมาจาก สปช.-ครม.-คสช.แล้ว จะยอมปรับแก้ไขร่างของตัวเองหรือไม่?
ประเมินแล้ว เชื่อได้ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะยอมแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตรา แต่การแก้ไขนั้นจะไม่ทำแบบรื้อโครงสร้างร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากไปทำจะทำให้เสียเวลาเยอะเพราะต้องมาแก้ไขในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย
หากเป็นเรื่องหลักการใหญ่ๆ เช่น ระบบการเลือกตั้ง-ที่มา ส.ส.หรือเรื่องการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการประจำ หลักใหญ่ๆ แบบนี้เชื่อได้ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีทางยอมแก้ไขแน่นอน เพราะหากแก้ก็จะไปกระทบกับส่วนอื่นๆ หมด โดยเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชูมาตลอด คงไม่ยอมแก้ไขแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสม หรือเรื่องที่มา ส.ว. เรื่องใหญ่ๆ เช่นนี้ประเมินว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงให้เป็นตามร่างเดิม ยากจะยอมปรับแก้ แต่น่าจะเน้นไปที่การปิดช่องโหว่ต่างๆ ตามที่มีการเสนอแนะกันมาทั้งจาก สปช.และภาคส่วนอื่นๆ
เพราะต้องยอมรับว่าจากการฟังคำอภิปรายของสมาชิก สปช.ตลอด 7 วันที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ มีการอภิปรายให้เหตุผลในเชิงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในบางมาตรา ที่หลายความเห็นมีการอธิบายเหตุผลได้มีน้ำหนักมากพอควร โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยอมรับกันหลายคนว่าจะนำไปพิจารณาปรับปรุงปิดช่องโหว่ตามคำแนะนำ
ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 173 ที่ถูก สปช.ท้วงติงว่าจะเปิดช่องให้มีการเลือกคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพราะแม้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสาม จะบัญญัติว่า หากสภาผู้แทนราษฎรจะเลือกคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ที่มากกว่า การเลือก ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. แต่ในมาตรา 173 มีคำอภิปรายจาก สปช.ว่า หากเกิดกรณีที่ถ้าพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 172 วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
หมายถึงว่า ถ้าหากในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้ามีการเสนอชื่อแข่งกันให้ที่ประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคนแรกเป็น ส.ส. ส่วนอีกคนไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ปรากฏว่า คนแรกที่เป็น ส.ส.เสียงโหวตไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ส่วนคนที่ 2 ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเสียงโหวตก็ไม่ถึง 2 ใน 3 ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถมีมติเห็นชอบคนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็ให้หยุดพักเอาไว้แล้วรอไป 30 วันจากนั้นประธานสภาฯ ก็เอาคนที่ได้คะแนนมากที่สุดในการโหวตเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.หากจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ก็ได้
ตรงนี้เป็นข้อเป็นห่วงของ สปช.ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยอมรับว่านึกไม่ถึงในกรณีนี้ จึงจะรับไปอุดช่องโหว่เอาไว้ ที่ก็ต้องดูว่าจะไปอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร
แต่แนวโน้มน่าจะออกมา คือ ต้องทำให้ยังไงก็ตาม คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงโหวตจาก ส.ส.มากกว่าคนที่เป็น ส.ส. ซึ่งสูตร 2 ใน 3 ถือว่าค่อนข้างลงตัวแล้ว เพราะหากใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของเยอรมนี ที่เชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงไม่เปลี่ยนแล้ว ถ้าใช้ระบบนี้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งไม่น่าจะได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งเพียงพรรคเดียวแบบที่พรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยเคยทำได้ การตั้งรัฐบาลจะมีหลายพรรคมาก เผลอๆ เสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจไม่ถึง 2 ใน 3 แน่นอน การที่จะเอาเสียง 2 ใน 3 มาโหวตเลือกนายกฯ จึงหมายถึงว่าพรรคฝ่ายค้านต้องเอาด้วยซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางการเมือง
หลักตรงนี้ เชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญน่าจะคงไว้อยู่ แต่จะปิดช่องโหว่เอาไว้ให้รัดกุมตามที่เสียงท้วงติง แม้ในความเป็นจริงทางการเมืองแล้ว มันยากมากที่จะเกิดกรณี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้วจะไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.หรือพวกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งแล้วต้องปล่อยไว้ 30 วันจนอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ตามที่ สปช.ท้วงติง แต่เพื่อความรอบคอบ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะอุดช่องโหว่ตรงนี้ไว้ก็ดีเหมือนกันจะได้ไม่มีปัญหาการตีความในภายหลัง
ส่วนประเด็นอื่นๆ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะยอมปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่า คำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.-ครม.-สปช.จะมีอะไรน่าสนใจ โดยเฉพาะ “ครม.-คสช.” ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ อย่างเป็นทางการ เว้นแต่ความเห็นของคนใน ครม.-คสช.บางคนอย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาท้วงติงว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวยาวเกินไป แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะยื่นขอแก้ไขอย่างไร
ทั้งนี้ คำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.กับ คสช.นั้น ถือว่าสำคัญไม่น้อย แม้ ครม.-คสช.จะไม่มีส่วนในการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอย่าลืมเด็ดขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คุมทั้ง ครม.และ คสช.เป็นคนให้กำเนิดทั้ง สปช.-กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมากับมือ
ดังนั้น หาก “บิ๊กตู่” ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปในนาม ครม.-คสช.แล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทำหูทวนลม ไม่โอเคด้วยสักเรื่อง อาจได้เห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นก็ได้?