xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต ภารกิจจึงล้มเหลว “ลุงป้อม” ก็เอาไม่อยู่ “ลุงตู่” ก็ช่วยไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “ผิดแผน” และ “พลิกโผ” เลยก็ว่าได้ สำหรับผลการลงคะแนนเสียงแบบ “โหวตลับ” ของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)” ในการถอดถอน “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีสำหรับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

เหตุที่ต้องบอกว่าพลิกโผและผิดแผนก็เพราะโรดแมปของคดีนี้มิได้เป็นไปอย่างที่มิสเตอร์ปรองดองปักธงหรือวางเป้าหมายไว้

ก่อนที่ผลการลงคะแนนเสียงถอดถอนจะออกมาเป็น 190 ต่อ 18 เสียงนั้น สัญญาณจาก “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” หรือ “มิสเตอร์ปรองดอง” ชัดเจนแจ่มแจ๋วว่า คะแนนเสียงที่ออกมาจะเป็นผลบวกกับนางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมกับวลีเด็ดที่ดังสะท้าน สนช.ว่า “ถอดถอนเท่ากับไม่ปรองดอง” ทว่า ด้วย “เหตุ” และ “ปัจจัย” บางประการ ทำให้สถานการณ์ผิดไปจากโรดแมปที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการลงคะแนน และชัดเจนยิ่งขึ้นก่อนการลงคะแนนเพียง 1 วัน

นี่คือเบื้องหลังของเกมหักเหลี่ยมเฉือนคมในการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า “คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต” ภารกิจจึงล้มเหลว

ยกที่ 1

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปในวินาทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ธงหรือสัญญาณขององค์รัฎฐาธิปัตย์ในการบริหารราชการแผ่นดินมีความชัดเจนยิ่ง และยิ่งเวลาผ่านไป สังคมก็ได้ตระหนักถึงสัญญาณที่เพิ่มดีกรีสูงขึ้นเป็นลำดับ

สัญญาณแรกคือเรื่อง “ความปรองดอง”

ทั้งนี้ เหตุผลในการทำรัฐประหารชัดเจนว่า มิได้ต้องการล้มล้างระบอบทักษิณ หากแต่ทำเพื่อต้องการยุติความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้แสดงความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ โดยให้แนวทางกับคณะทำงานไปหาวิธีในการสลายสีเสื้อต่างๆ และในที่สุดก็กลายเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.)” โดยตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับการสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งให้กับคนในชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปด้านต่างๆ

มีการเชิญแกนนำคนเสื้อแดง มีการเชิญแกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ที่มีหลวงลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวเรือใหญ่มาจับมือสร้างภาพของความปรองดองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

และเมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญาณที่สองก็ได้ถูกส่งออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สัญญาณที่ว่านั้นก็คือ ความเคลื่อนไหวของ สนช.สายทหารและตำรวจ

ก่อนการลงคะแนนเสียง สนช.ซึ่ง คสช.ตั้งมากับมือมีความเห็นในเรื่องการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่เป็นเอกภาพ โดยฝ่ายที่ต้องการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ประกอบไปด้วยกลุ่ม 40 ส.ว.เดิม นักวิชาการและข้าราชการพลเรือนบางส่วน ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่ต้องการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ก็คือ สนช.สายทหารและตำรวจ ซึ่งต้องถือว่าเป็นสายตรงของ คสช.

ตรรกะที่ใช้ประกอบคำอธิบายของ สนช.สายตรงกลุ่มนี้ก็คือ สิ่งที่ คสช.พยายามทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทำรัฐประหารคือการลดความขัดแย้งเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ เนื่องเพราะเห็นว่าความความขัดแย้งระหว่างสองสีคืออุปสรรคความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งก็ต้องทำให้เกิดความปรองดอง และการปรองดองจะสัมฤทธิ์ผลสูงสุดก็ต่อเมื่อไม่ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ จนสุดท้ายกลายเป็นวลีเด็ดแพร่สะพัดไปในทุกองคาพยพ โดยเฉพาะสมาชิก สนช.สายทหารว่า “ถอดถอนเท่ากับไม่ปรองดอง”

ชัดเจนตั้งแต่ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช.สายทหาร ที่ปรึกษาคสช. และเพื่อนรัก “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นพาพลพรรค สนช.สายทหารร่วม 30-40 ราย โดดประชุมไป “ทอดผ้าป่า-กฐิน” ตอนประชุมว่าจะรับหรือไม่รับเรื่อง และเคยประกาศชัดว่า สนช.ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องการถอดถอน เนื่องจากฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ก่อนที่จะมาออกตัวในภายหลังว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวและเป็นความเห็นเดิม เพราะขณะนั้นยังไม่เห็นสำนวนถอดถอนอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.จำนวนกว่า 4,000 แผ่น

เฉกเช่นเดียวกับ พล.ร.อ.ดิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สนช. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกมาส่งสัญญาณว่าคงจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ยากเพราะต้องใช้มติ 3 ใน 5 หรือไม่น้อยกว่า 132 เสียง พร้อมกับอ้างว่า สนช.หลายคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสภาพไปแล้วหลังรัฐประหารโดย คสช. อีกทั้งความผิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ชัดเจน

ด้วยสัญญาณที่ชัดและแรง ทำให้ ณ เวลานั้น คะแนนเสียงของสมาชิก สนช.ที่จะยกมือถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์อยู่ที่เพียงแค่ประมาณ 80-90 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถือว่าห่างไกลบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการถอดถอนที่ต้องการคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของ สนช.คือ 132 เสียงจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 220 คน กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรมว่า สนช.เท่ากับสภานิรโทษกรรมแห่งชาติกันเลยทีเดียว

กระนั้นก็ดี สัญญาณทั้งหลายทั้งปวงจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์เลยถ้าหากไม่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดตามมา นั่นก็คือ การที่ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดใน คสช.คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปประเทศจีนระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2557 พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคที่ นช.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะ ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมจีน ในห้วงเวลาเดียวกับที่นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรพำนักอยู่ที่นั่นพอดิบพอดี ทำให้มีการเชื่อมโยงกับการไปเที่ยวจีนของสองศรีพี่น้องแห่งระบอบทักษิณอย่างช่วยไม่ได้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมีความบังเอิญอย่างร้ายกาจเพราะจู่ๆ นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้แจ้งขอเลื่อนกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยต่อ คสช. ไปอีกระยะหนึ่ง จากเดิมที่กำหนดเดินทางกลับในวันที่ 26 ตุลาคม 2557

นี่เป็นสัญญาณที่สามที่ไม่อาจมองข้าม

และกระแสข่าวนี้แรงถึงขึ้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกโรงเสนอหน้ามารับประกันว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้พบ นช.ทักษิณที่ประเทศจีน ทว่า แม้จะมีการปฏิเสธและยืนยันกันอย่างหน้าดำหน้าแดง แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบออกไปได้

เพราะไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประวิตรกับนช.ทักษิณนั้นเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีและมีการจัดตั้งรัฐบาล มีกระแสข่าวตรงกันจากสื่อทุกสำนักโดยปรากฏชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นตัวเต็งในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงสองครั้งสองครา

ซ้ำร้ายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการทำรัฐประหาร คนเสื้อแดงก็ดูจะไม่ได้อนาทรร้อนใจที่นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกโค่น ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.และรัฐบาล ทำตัวสงบนิ่งประหนึ่งแกล้งตายอย่างไรอย่างนั้น โดยเฉพาะตัว นช.ทักษิณเองที่ “นิ่งผิดปกติ” ขณะที่ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์เองก็ดูจะมีความสุข ปรากฏตัวไปชอปปิ้งตามศูนย์การค้าต่างๆ ให้เห็นเป็นระยะๆ แถมอยากจะไปต่างประเทศก็ได้รับอนุญาตด้วยดี

นี่กระมังจึงเป็นสัญญาณที่ทำให้ สนช.ตระหนักคิดถึงเรื่องความปรองดองหนักเข้าไปอีก และแน่นอนว่า ยิ่งตอกย้ำ วลี “ถอดถอนเท่ากับไม่ปรองดอง” ให้แจ่มชัดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวได้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างหนัก เพราะรับไม่ได้กับแนวคิด เพราะการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวมีหลักฐานชัดเจนและก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศหลายแสนล้านบาท

ในที่สุด สนช.จึงต้องยอมจำนนและรับเรื่อง แต่ก็มีความพยายามที่จะยื้อและยืดเวลาในการลงมติถอดถอนออกไป

ยกที่ 2

ถัดจากนั้น การแก้เกมก็เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ต้องการความปรองดองโดยไม่ถอดถอน เมื่อปรากฏข่าว “นางสาวชุติมา บุญยประภัศร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์แจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าวในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์และฉ้อโกงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 โดยระบุชัดว่ามีการนำข้าวไม่ได้มาตรฐานเข้าร่วมโครงการรวม 3.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 65,000 ล้านบาท

ก่อนหน้าที่ สนช.จะมีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ในวันที่ 23 มกราคม 2558 เพียง 11 วัน

พลันที่ข่าวการแจ้งความปรากฏ เสียงชื่นชม คสช.ก็ดังกระหึ่มเพราะหลายคนเห็นว่า การแจ้งความของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้คือการส่งสัญญาณถอดถอนที่ชัดเจน ทว่า หากมองในมุมกลับก็จะพบข้อผิดสังเกตหรือข้อพิรุธเนื่องจากเป็นการแจ้งความที่ประหนึ่งว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังตัดตอนตัวการใหญ่ให้ขาดสะบั้นลงแค่คู่สัญญา ซึ่งก็คือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว แถมยังไม่มีข้าราชการคนใดถูกแจ้งความดำเนินคดีอีกต่างหาก และมิพักต้องพูดถึงนักการเมืองที่เป็นต้นตอของความฉิบหาย

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่ง “เนชั่นสุดสัปดาห์” พาดหัวตัวเบ้อเริ่มว่า “หัวอกมิสเตอร์ปรองดอง” ให้สัมภาษณ์ก่อนการลงมติถอดถอนไม่กี่วันเท่านั้นว่า “ต้องว่าไปตามกระบวนการ ยืนยันว่าไม่มีการชี้นำอะไร สนช.ต้องไปว่ากันเอง เพราะเป็นเรื่องของสภา และผลการพิจารณาของ สนช.ก็จะไม่ส่งผลถึงการทำงานของ คสช.” ประหนึ่งออกตัวว่า จะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนก็ไม่เกี่ยวกับ คสช. ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือ คสช.คือผู้แต่งตั้ง สนช.ทั้ง 220 คน

จากการตรวจสอบข้อมูล ณ ห้วงเวลานั้น คะแนนเสียงของ สนช.ก็ยังเป็นไปในทิศทางที่เป็นคุณกับนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะ สนช.สายทหาร-ตำรวจ ซึ่งเป็นสายตรงของ คสช.ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ต้องการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์

ยกที่ 3

หลังจากการเข้าแจ้งความของกระทรวงพาณิชย์เพียงแค่ 8 วัน ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญ แถมเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดก่อนหน้าการลงมติถอดถอนเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2558 เมื่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พร้อมด้วย นายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในฐานะโฆษกวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แถลงข่าว เกี่ยวการประชุมของวิปฯ เกี่ยวกับประเด็นการลงมติ ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีมติให้ใช้การโหวตลับในการลงมติถอดถอน

การมีมติให้โหวตลับคือสัญญาณชัดเจนว่า ที่ประชุมของสภานิติบัญญํติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ไม่ต้องการเปิดเผยว่า สนช.แต่ละคนมีความเห็นหรือโหวตลงคะแนนอย่างไร โดยเฉพาะถ้าผลการลงมติออกมาว่า ไม่ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ สนช.ที่โหวตช่วยนางสาวยิ่งลักษณ์จะถูกบันทึกไว้ในบัญชีหนังสุนัขของภาคประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พูดง่ายๆ คือไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนว่า มีใครบ้างที่เข้าข้างระบอบทักษิณ

และเมื่อสัญญาณมีความชัดเจนเป็นลำดับ ผนวกกับโหวตลับซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งเกราะปกป้องมิให้สังคมก่นด่าไป 7 ชั่วโคตร จึงไม่แปลกใจว่า ณ เวลานั้นทำไมสังคมถึงฟันธงตรงกันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์รอดจากการถูกถอดถอนร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่จะอย่างไรก็ตามต้องบอกว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต”

เพราะในขณะที่ “สายปรองดอง” กำลังทำหน้าที่อย่างขมีขมัน และความสำเร็จใกล้เข้ามาทุกทีจากความพยายามที่แผ้วถางทางมาอย่างต่อเนื่อง “สายไม่ปรองดองกับระบอบทักษิณ” ก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน เพราะเห็นชัดแจ้งแล้วว่า ถ้าขืนปล่อยไป นางสาวยิ่งลักษณ์รอดคุกแน่นอนด้วยเหตุปัจจัยและสัญญาณที่ถูกเปิดออกมา

ปฏิบัติการแรกที่ส่งผลทำให้สายปรองดองระส่ำระสายก็คือ การที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพวกรวม 21 คน ในข้อหาร่วมกันทำสัญญาซื้อขายข้าวที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายบุญทรงและพวกในวันที่ 20 มกราคม 2558 ซึ่งช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจที่ตรงกับวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้โหวตลับถอดถอดนางสาวยิ่งลักษณ์

การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ทำให้การทำงานของสายปรองดองยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะการชี้มูลของ ป.ป.ช.ได้ตอกย้ำถึงการทุจริตและความ เสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวออกมาอย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋

ที่เด็ดสะระตี่ไปกว่านั้นก็คือ การที่ ป.ป.ช.ออกมาสร้างเกมรุกอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดเห็นพ้องต้องกันที่จะฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์คดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าว เป็นการดักคอคนในองค์กรนี้บางคนที่เลือกยืนหยัดอยู่เคียงข้างระบอบทักษิณที่ทรงประสิทธิภาพยิ่ง

การทำงานของ ป.ป.ช.คือสิ่งที่น่าชื่นชมและบุคคลที่น่าชื่นชมที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น “วิชา มหาคุณ” ที่ทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ยกที่ 4

กระนั้นก็ดีนอกเหนือจากปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีปัจจัยสำคัญที่ก็ต้องถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งทำให้ในที่สุดความพยายามของมิสเตอร์ปรองดองล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

ปัจจัยแรกคือเรื่องปัญหามวลชนซึ่งเป็นฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาลและ คสช.ที่เริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะมวลชน กปปส.ที่มีหลวงลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นแกนนำ

ราคายางพาราที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถคลี่คลาย ได้ฉุดรั้งคะแนนของทั้งรัฐบาลและคสช.ให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไป ทุกที

แม้หลวงลุงกำนันจะพยายามช่วย จะพยายามควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม แต่ในเมื่อนี่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน มนต์ของหลวงลุงกำนันจึงเสื่อมคลายลงทุกวัน ยิ่งเมื่อผนวกกับรัฐบาลเห็นชอบให้นำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตันเข้ามาจากต่างประเทศในห้วงเวลาที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศใกล้เก็บ เกี่ยว ก็ยิ่งทำให้ความไม่พอใจขยายวงกว้างออกไปเป็นลำดับ

ปัจจัยที่สองคือความไม่พอใจท่าทีของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.มีความชัดเจนว่า ไม่สนใจมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ไม่ต้องการให้มีการเปิดสัมปทาน และยอมเสียสัตย์ที่ได้เคยลั่นวาจาไว้เพื่อทุนพลังงานมากกว่าเสียงของภาคประชาชน

เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เพราะหัวหอกที่ทำให้มติของ สปช.พลิกกลับมาเช่นนี้เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีชื่อว่า “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเดินหน้าเปิดสัมปทานได้แผ่กระจายความไม่พอใจไปในทุกองคาพยพของสังคมไทย โดยเฉพาะมวลมหาประชาชนที่เคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิรูปพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง

ภาคประชาชนกำลังตั้งคำถามกับ คสช.อย่างหนักว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

และนั่นหมายความว่า ถ้า สนช.มีมติที่ย่ำยีหัวใจของมวลมหาประชาชน กปปส.ด้วยการไม่ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ เดินหน้าตามโรดแมปแห่งการปรองดองก็จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลและคสช.สั่นคลอนในทันที

นี่เป็นสิ่งรัฐบาลและ คสช.เกรงกลัวเป็นที่สุด เพราะถ้าไม่มีฐานมวลชนสนับสนุน รัฐบาลและคสช.ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน แม้จะมีกำลังทหารและกฎอัยการศึกอยู่ในมือก็ตาม

คนรับไม่ได้กับกระแสปรองดองเท่ากับนิรโทษกรรม

คนรับไม่ได้กับกระแสปรองดองเท่ากับไม่ถอดถอน

และเมื่อสังคมรับไม่ได้ กระแสข่าวเรื่องการรัฐประหารซ้อนที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็เริ่มโชยกลิ่นเข้ามาอีกระลอก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.กลัวที่สุด

เมื่อคำนวณผลได้ผลเสียแล้ว ไม่เหลือทางเลือกอื่นใดให้เดินได้นอกจากเดินหน้าถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วย่อมเกิดผลดีกับรัฐบาลและ คสช.มากกว่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้สังคมและประชาชนลืมสิ่งที่เกิดขึ้นกับยางพารา ปาล์มน้ำมันและการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไปได้ระยะหนึ่ง

ที่สำคัญคือ ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ถูกถอดถอน คสช.ก็อยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้เช่นกัน

ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับไปวิเคราะห์ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ระบอบทักษิณใช้ ก็จะเห็นว่า มีความผิดพลาดเช่นกัน เนื่องจากมีความมั่นใจว่า “ดีลลับ” ที่ได้ตกลงกันไว้จะประสบความสำเร็จอย่างที่คุยกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ

ดังนั้น ก่อนหน้านี้มวลชนคนเสื้อแดงจึงไม่มีความเคลื่อนไหว แกนนำคนเสื้อแดงจึงไม่มีความเคลื่อนไหว จะมีบ้างก็ต้องจัดว่า ทำให้เห็นพอเป็นพิธีเท่านั้น

ทั้งนี้ จุดที่ผิดพลาดที่สุดของระบอบทักษิณคือ การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ตัดสินใจไม่เดินทางไปตอบข้อซักถามด้วยตนเองในวันที่ สนช.มีมติถอดถอน ซึ่งจะไม่ไปเพราะเชื่อมั่นในดีลพิเศษหรือไม่ไปเพราะไม่รู้เรื่องตอบคำถามไม่ได้ก็ตาม แต่นั่นต้องยอมรับว่า มีผลต่อการตัดสินใจของ สนช.ไม่น้อย

หนึ่ง-การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ไปตอบข้อซักถามด้วยตนเองก็เท่ากับว่าจำนนด้วยหลักฐาน

และสอง-การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ไปตอบข้อซักถามด้วยตนเองก็เท่ากับว่าไม่ให้เกียรติ สนช.ไม่เห็นหัว สนช.

ยกที่ 5

ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามดิ้นจากฝั่งอัยการสูงสุดว่า ยังไม่ทราบเรื่องหรือมติของที่ประชุมร่วมจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ในข้อหาไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง คำชี้แจงจากนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แต่สุดท้ายก็ไม่อาจฝืนหรือต้านทานกระแสสังคมได้

เวลา 09.00 น.ของวันที่ 23 มกราคม 2558 ไม่กี่นาทีก่อนที่ สนช.จะประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะว่า นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้ โดยนายสุรศักดิ์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการ และ ป.ป.ช. ได้พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้วมีความเห็นว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วจึงเสนอให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งคดี

ทั้งนี้ อัยการสูงสุดพิจารณาพยานหลักฐานที่คณะทำงานอัยการส่งมาประกอบพยานหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช.แล้วเห็นว่าคดีมีความสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีอาญานางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ จึงให้ดำเนินคดีอาญาฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำคำฟ้องตรวจพยานหลักฐานคาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

นี่คือจุดที่พลิกผันและสามารถกล่าวได้ว่าพลิกผันในวินาทีสุดท้ายกันเลยทีเดียว

ในที่สุด ผลก็ออกมาอย่างที่เห็น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 เพราะในเมื่อไม่สามารถต้านทานกระแสสังคมได้ สุดท้าย สนช.จึงมีมติ 190 ต่อ 18 เสียงให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งส่งผลทำให้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

เรียกว่า...งานนี้ “ลุงป้อม” ก็เอาไม่อยู่ “ลุงตู่” ก็ช่วยไม่ได้

ยกพิเศษ

แต่ช้าก่อน....อย่าเพิ่งดีใจกับผลการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ออกมา เพราะใช่ว่า ระบอบทักษิณจะหมดความหวังกับเรื่องนี้เสียทีเดียวและเมื่อตรวจสอบปฏิกิริยาจากนายใหญ่ก็จะเห็นว่า มิได้แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดที่รุนแรงจนสั่งให้มีการเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงแต่ประการใด

คนเสื้อแดงยังคงสงบนิ่ง

แม้ที่ประชุมร่วม ป.ป.ช.และอสส.มีมติฟ้องคดีอาญานางสาวยิ่งลักษณ์ นช.ทักษิณก็ยังสงบนิ่ง

นั่นเป็นเพราะจุดสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ และมีคำประกาศชัดเจนออกมาจากปากของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า “การนิรโทษกรรมคือขั้นตอนสุดท้ายของการปรองดอง”

ไพ่ลับอาจจะอยู่ที่รัฐธรรมนูญก็เป็นได้

ดังนั้น จึงต้องติดตามกั้นต่อไปว่า บทสรุปของระบอบทักษิณจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่สุดท้ายเหลาไปกลายเป็นบ้องกัญชาก็ได้


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.
นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ­ฉบับ “หัวอกมิสเตอร์ปรองดอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น