xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รู้ยางงง.... สนช.=สภานิรโทษแห่งชาติ!? รู้ยางงง.... ปรองดอง=ไม่ถอดถอน!? รู้ยางงง..... ปรองดอง=นิรโทษกรรม!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช้าก่อน....พ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยผู้รักชาติทั้งหลาย

อย่าเพิ่งดีใจกับข่าวใหญ่โตที่ “น.ส.ชุติมา บุษยประภัศร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์และข้อหาฉ้อโกง โดยระบุชัดว่า มีการนำข้าวไม่ได้มาตรฐานเข้าร่วมโครงการรวม 3.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 65,000 ล้านบาท.

เหตุที่ต้องบอกว่า “ช้าก่อน” ก็เพราะได้ “กลิ่นทะแม่งๆ” ของปฏิบัติการครั้งนี้โชยมาแต่ไกล และชวนให้เกิดคำถามตามมาสารพัดสารพัน

อาทิ....ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงเพิ่งฟ้องทั้งๆ ที่ความฉาวโฉ่ของโครงการรับจำนำข้าวปรากฏให้เห็นมาเป็นเวลานานนับปี

ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงพุ่งเป้าความผิดหรือฟ้องร้องไปเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว

ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงไม่ฟ้อง “ข้าราชการ” และ “นักการเมือง” ที่เกี่ยวข้องเพราะเป็นไปไม่ได้ที่ภาคเอกชนคู่สัญญาจะกระทำความผิดได้ด้วยตัวเองลำพังถ้าปราศจากการรับรู้ของข้าราชการและนักการเมือง

นี่ไม่นับรวมถึง “เจ๊ ด.” จอมแสบที่คนรับรู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็นตัวการสำคัญ เพราะเข้าใจได้ว่า ยากที่จะแสวงหาหลักฐานเพื่อโยงไปถึง เนื่องจากมีพฤติกรรมการโกงแบบเหยียบหิมะไร้ร่องรอยอยู่แล้ว

เหล่านี้เป็นปัญหาและคำถามพื้นฐานที่สังคมอยากรู้ ยิ่งเมื่อจับสัญญาณจากองค์รัฏฐาธิปัตย์ที่ท่องบ่น คัมภีร์ปรองดอง จนขึ้นสมองด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สามารถจินตนาการไปถึงจุดจบของเรื่องนี้ได้อย่างชัดแจ๋ว...และชัดจนปริวิตกว่า สุดท้ายแล้วคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะลงเอยกันแบบปรองดองโดยฝีมือขององค์กรที่องค์รัฏฐาธิปัตย์ตั้งขึ้นมา พร้อมทั้งเปลี่ยนสภาพจาก “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)” เป็น “สภานิรโทษกรรมแห่งชาติ” แทน????

12 มกราคม 258 น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปเข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการกองปราบปราม(รอง ผบก.ป.) หลัง “คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.)” มีมติให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าวที่นำข้าวไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดมาเข้าโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ คู่สัญญาเอกชนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผิดชนิดข้าว 5 ราย รวม 5 จังหวัด 10 โกดังกลาง 2.กลุ่มข้าวเสีย 13 ราย รวม 2 จังหวัด 94 โกดังกลาง และ 3.กลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน 59 ราย รวม 51 จังหวัด 652 โกดัง

รวมมูลค่าข้าวทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

“เรื่องนี้มีคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ราย ซึ่งได้ขอให้ทางพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหากพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิดก็ขอให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย หากมีข้าราชการมีส่วนรู้เห็นหรือร่วมกระทำความผิดก็ต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป”ปลัดกระทรวงพาณิชย์แจงแจกรายละเอียด

ต้องบอกว่า นี่เป็นการดำเนินคดีที่พิลึกพิลั่นยิ่ง

กล่าวคือ เมื่อแจกแจงกลุ่มคู่สัญญาที่ทำผิดก็จะพบว่า กระทรวงพาณิชย์แบ่งฐานความผิดในการดำเนินคดีออกเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มผิดชนิดข้าว กลุ่มข้าวเสียและกลุ่มข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้ พาณิชย์จังหวัดที่มี่อยู่ในทุกจังหวัดทำอะไรอยู่ทำไมถึงปล่อยให้คู่สัญญาทำความผิดได้โดยที่มิได้ดำเนินคดีจนเกิดความเสียหายถึง 6.5 หมื่นล้านบาท

อคส.และอตก.ทำอะไรอยู่ถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้

รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนายกรัฐมนตรีนั่งทำอะไรอยู่ทำไมถึงปล่อยให้เกิดความเสียหายมหาศาลเยี่ยงนี้

ด้วยเหตุดังกล่าว ก่อนที่จะแจ้งความดำเนินคดี กระทรวงพาณิชย์จะจัดการกับคนของตนเองเสียก่อนว่าทำไมถึงละเว้นการปฏิวัติหน้าที่ และแจ้งความดำเนินคดีพร้อมกับคู่สัญญา มิใช่ผลักภาระไปให้ตำรวจ ซึ่งนั่นหมายความว่า จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะนำคนผิดมาลงโทษและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

กว่าจะสอบสวนคู่สัญญากว่า 100 รายเสร็จมิใช่กินเวลาหลายต่อหลายปีหรอกหรือ

ขณะที่นักการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลเอง ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เนื่องจากข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์นำไปแจ้งความทำให้เห็นแล้วว่า เป็นโครงการที่ล้มเหลว สร้างความเสียหายให้แก่ภาครัฐ มิใช่หยุดอยู่เพียงแค่การถอดถอน หากต้องลากคอมาดำเนินคดีอาญา ให้ติดคุกติดตะรางให้จงได้

ทว่า เมื่อรูปการเป็นเช่นนี้ จึงเท่ากับว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังตัดตอนตัวการให้ขาดสะบั้นลงแค่คู่สัญญาคือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวใช่หรือไม่ หรืออย่างมากก็อาจมีข้าราชการถูกดำเนินคดีบ้าง แต่จะไม่เลยไปถึงนักการเมืองโดยเด็ดขาด

นี่เป็นคำถามที่ประชาชนมีสิทธิที่จะถาม

หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นายกัมพล ปั้นตะกั่ว และ นางสาวชมพูนุช นันทจิต นักวิจัย ร่วมกันนำเสนองานวิจัยหัวข้อ “การคอร์รัปชัน กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด” โดยระบุชัดว่า การคอร์รัปชันที่มีมูลค่ามากที่สุดเกิดขึ้นในขั้นตอนของการระบายข้าวสารของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการแบบลับๆ ระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงกับบริษัทพรรคพวกของรัฐบาลไม่กี่ราย

เป็นผลวิจัยที่ชัดเจนว่า การทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเป็นความร่วมมือของนักการเมือง ข้าราชการและบริษัทเอกชน มิใช่ภาคเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ กรณีปลัดกระทรวงพาณิชย์แต่งเครื่องแบบเต็มยศไปแจ้งความดำเนินคดีนั้น ย่อมมีที่มาและที่ไป กล่าวคือมีความพยายามสร้างกระแสว่าเป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดคำถามจากสังคมที่ดังหนาหูขึ้นทุกวันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่ถูกถอดถอน ด้วยเหตุผลในเรื่องของการปรองดองอันเป็นธงชัยของรัฐบาล คสช.

หรือพูดง่ายๆ การไปแจ้งความเป็นเพียง “พิธีกรรม” เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาลและ คสช.เท่านั้น

ทว่า สุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ยังเป็นที่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือ
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ขณะนี้ สนช.ซึ่ง คสช.ตั้งมากับมือมีความเห็นในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นเอกภาพ โดยฝ่ายที่ต้องการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกอบด้วย กลุ่ม 40 ส.ว. นักวิชาการ และ ข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีคะแนนเสียงสูสีกับฝ่ายที่ไม่ต้องการแตกหักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกอบไปด้วย ข้าราชการทหารและตำรวจ และที่เกษียณไปแล้ว

สนช.สายทหารและตำรวจมีตรรกะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า สิ่งที่คสช.พยายามทำมาตลอดคือการลดความขัดแย้งเดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งก็ต้องไม่ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ

ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ความจริงอันเจ็บปวดของผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น สนช. กล่าวคือ ต้องยอมรับว่า มี สนช.หลายคนที่มีความความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างเช่น กรณีผิดคิวที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. และปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้แหกโผ วิป สนช. ที่เสนอให้มีการประชุมลับในครั้งที่มีการแถลงคัดค้านการเปิดคดีของนายนิคมและนายสมศักดิ์ ที่มีคนสนับสนุนถึง 70 คน

นี่คือข้อมูลที่น่าเชื่อได้เพราะได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวซึ่งเป็น สนช.โดยตรง และเป็นข้อเท็จจริงโดยมีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง

เมื่อประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถอดถอด น.ส.ยิ่งลักษณ์สำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 คือ 132 เสียงจากสมาชิก สนช.ทั้งหมด 220 คน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สนช. 220 คนที่ร่วม "นั่งเรือแป๊ะ" นั้น ทั้งหมดคือผู้ที่ “แป๊ะ” ตั้งมากับมือ เป็น สนช.ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากคอนเนกชันของ “แป๊ะ” ทั้งสิ้น

หนักไปกว่านั้นคือ เมื่อแยกแยะที่มมาที่ไปของสนช.ก็จะพบด้วยว่า สนช.จำนวน 129 คนเป็นสมาชิกที่มาจากสายทหาร และตำรวจ ซึ่งต้องถือเป็น “สายตรงของแป๊ะ” ส่วนที่เหลือเป็น สนช.ในกลุ่มของอดีตสมาชิกวุฒิสภาหรือกลุ่ม 40 ส.ว.กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มอธิการบดีและข้าราชการประจำจำนวน 91 คน

เป็นไปได้อย่างไรที่ สนช.ซึ่งแป๊ะตั้งมากับมือถึงมีผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับระบอบทักษิณรวมอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อย ซ้ำร้าย ในจำนวนนั้นยังอยู่ในข่ายสายตรงของแป๊ะคือเป็นข้าราชการหรือดีตข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนอีกต่างหาก นอกเสียจากว่า ธงของแป๊ะมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ต้องการการปรองดอง มิใช่ล้มล้างระบอบทักษิณ

โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญคือ สนช.สายทหารและตำรวจที่เป็นตัวตัดสิน เนื่องเพราะก่อนหน้านี้สนช.สายทหารและตำรวจจำนวนมากมีความเห็นว่า ไม่ควรถอดถอน ทำให้เสียงของ สนช.ที่จะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอยู่แค่ประมาณ 80-90 เท่านั้น

แล้วก็ลือกันหนาหูเหลือเกินว่า สนช.สายทหารและตำรวจจะมีมติ “งดออกเสียง” ในการพิจารณาถอดถอนทั้งนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ในคดีแก้รัฐธรรมนูญปมที่มาของ ส.ว.และน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีทุจริตรับจำนำข้าว

และเมื่อตรวจสอบท่าทีของแป๊ะนับตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ก็พบว่า ดำเนินอยู่ในเส้นทางสายปรองดองมาเป็นลำดับเช่นกัน

มีอย่างที่ไหน ขณะที่กำลังลากคอคนผิดมาลงโทษ รัฐบาลกลับออกพันธบัตรมาระดมเงินจากประชาชนไปใช้หนี้ในโครงการรับจำนำข้าว แถมตั้งชื่ออย่างสวยหรูว่า “พันธบัตรสุขกันเถอะเรา” ทั้งๆ ที่นี่คือความเจ็บปวดและความหายนะของคนไทยทั้งประเทศ

แต่ช้าก่อน...ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วก็ฟังดูทะแม่งๆ เหมือนกับออกตัวอย่างไรอย่างนั้น

พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ต้องว่าไปตามกระบวนการ ยืนยันว่าไม่มีการชี้นำอะไร สนช.ต้องไปว่ากันเอง เพราะเป็นเรื่องของสภาและผลการพิจารณาของ สนช.ก็จะไม่ส่งผลถึงการทำงานของ คสช.”

นั่นแสดงว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนก็ไม่เกี่ยวกับ คสช. ถ้าเช่นนั้น สมมติว่า สนช.ลงมติไม่ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ สนช.ก็จะต้องรับผิดชอบ เพราะ คสช.ซึ่งตั้ง สนช.มากับมือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชี้นำ ดังนั้น จึงอย่านำมาโยงกัน

ย้ำกันอีกครั้งว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่เสมือนหนึ่งจะเป็นการออกตัว อย่างไรอย่างนั้น

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตรช่างสอดคล้องยิ่งนักกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่บอกว่า “ต้องฟังว่าฝ่ายกฎหมายเขาว่าอย่างไร เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะทราบเองว่า จะทำได้หรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่อยู่จะใช้อะไรถอดถอน และต้องไปดูว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งพฤติกรรมกับกฎหมายก็ขัดแย้งกันอยู่ ทุกคนก็เห็นว่าบางเรื่องผิด แต่กฎหมายก็ปล่อยไปได้เพราะมีทนายต่อสู้คดี เรื่องนี้ก็เหมือนคดีอื่น ถ้ามองทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติก็จะไม่มีความขัดแย้ง ผิดคือผิด กฎหมายว่าผิดก็ต้องลงโทษ แต่ถ้ากฎหมายว่าผิดแล้วไม่ลงโทษ แต่จิตสำนึกก็ต้องรู้ว่าผิดหรือถูก สังคมต้องช่วยกันบอกว่า พฤติกรรมผิดหรือไม่ แต่ตัวผมต้องว่าไปตามกฎหมาย ต้องใช้เหตุผล ประเทศต้องอยู่แบบนี้”

เหมือน พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะบอกว่า แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิดแต่ถ้าในทางกฎหมายไม่สามารถหาช่องเอาผิดได้ ก็ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ...ใช่หรือไม่

ยิ่งเมื่อได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรค ประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามคดีทุจริตรับจำนำข้าวมาอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้สังคมไม่สบายใจ เพราะการที่ นพ.วรงค์ต้องออกโรงส่งสารถึง สนช.ว่า “ต้องย้ำเตือนต่อ สนช.ว่า จะฟังคำชี้แจงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 23 มกราคมนี้” ย่อมไม่ธรรมดา เหมือนกับว่า นพ.วรงค์จะไม่ค่อยมั่นใจในเสียงของ สนช.อยู่เหมือนกัน

สิ่งที่สังคมกลัวก็คือ กลัวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะกลายสภาพเป็นสภานิรโทษกรรมแห่งชาติ โดยฟอกผิดให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาซึ่งจะทำให้ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นไปตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

แน่นอน จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์และเวลาที่จะพิสูจน์กำลังจะมาถึงในวันที่ 23 มกราคม 2558 นี้

แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เวลานี้ วาทกรรม “ถอดถอนเท่ากับไม่ปรองดอง” หรือ “ปรองดองเท่ากับไม่ถอดถอน” กำลังแพร่สะพัดซึมลึกไปในทุกอณูของสังคม เผลอๆ จะมาแรงกว่า “ไม่ถอดถอนเท่ากับนิรโทษกรรม” เสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะในองค์รัฏฐาธิปัตย์

ถ้าไม่เชื่อลองฟังวาทกรรมที่ออกมาจากปากของ “บวรศักดิ์ อุวรรโณ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างธรรมนูญ ในการกล่าวปาฐกถาเรื่อง “การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ตามแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ เพราะจะเห็นป่าทั้งป่าได้อย่างครบถ้วนกระบวนความเลยทีเดียว

ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวต่อหน้าสาธารณชนเอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า “โจทย์ใหญ่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คือ เราจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือ การปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่โจทย์ที่ คสช.ให้แต่เป็นโจทย์ที่คนไทยทั้ง 62 ล้านคนเห็นร่วมกัน

“การปรองดองต้องให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยกัน ซึ่งถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่เราต้องทำอย่างจริงจัง เพราะหากไม่ทำก็จะเกิดปัญหาซ้ำอีก ส่วนการนิรโทษกรรมจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปรองดอง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่วางโครงสร้างกระบวนการที่ดีก็จะมีการทำลัดขั้นตอน ไปเริ่มที่ 100 แทนที่จะทำจาก 1 อาจจะมีการทำนิรโทษกรรมก่อนที่จะเริ่มกระบวนการปรองดอง ซึ่งก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีกและในรัฐธรรมนูญจะไม่พูดถึงเรื่องการปรองดองก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีก็แสดงว่า เราไม่เอาปัญหาของบ้านเมืองมาพูดเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นจะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การสร้างความปรองดองได้”

นายบวรศักดิ์ประกาศชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมคือขั้นตอนสุดท้ายของการปรองดอง และแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะให้ทำให้บ้านเมืองเกิดการปรองดองต้องนิรโทษกรรม

ถ้าเป็นเช่นนั้น พระสุเทพ เทือกสุบรรณจะว่าอย่างไร

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มวลมหาประชาชนจะว่าอย่างไร

แน่นอน ความจริงจะปรากฏให้เห็นชัดในวันที่ 23 มกราคม 2558 นี้


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะกำลังแถลงสู้คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา
น.ส.ชุติมา บุษยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการจำนำข้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น