ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การพูดของผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา นายแดเนียล รัสเซล เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยได้สร้างแรงกระเทือนต่อสังคมไทยไม่น้อย มีการวิพากษ์วิจารณ์และการตอบโต้จากหลายฝ่ายในหลายแง่มุม ส่วนผมเห็นว่าการพูดของบุคคลนี้เป็นการแสดงออกถึงความหยาบกระด้างทางปัญญา เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีแรงจูงใจทางการเมืองที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศไทย
การพูดของบุคคลนี้ ดูเหมือนมีอยู่หลายตอนที่เขาพูดโดยใช้กรอบคิด ภาษาและความหมายในทำนองเดียวกับชุดวาทกรรมการเมืองของกลุ่มระบอบทักษิณ โดยเฉพาะตอนหนึ่งที่เขากล่าวว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญา ทำให้ประชาคมโลกเกิดความรู้สึกว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
การที่นายแดเนียล รัสเซล พูดแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเขามีสายตาและความคิดที่ตื้นเขิน มองเห็นแต่ในสิ่งที่เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง หรือเห็นเพียงผลปั้นปลายของเหตุการณ์การเมืองไทย มิได้มีความเข้าใจ กระบวนการและพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองไทยในเชิงพลวัตแต่อย่างใด ดูแล้วมีความคิดความอ่านไม่สอดคล้องกับตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่เท่าไรนัก เพราะคนที่อยู่ในตำแหน่งนี้ของประเทศที่เรียกตัวเองว่ามหาอำนาจควรมีข้อมูลข่าวสารและสติปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของประเทศที่ตัวเองหาญกล้าไปวิพากษ์วิจารณ์เขาได้มากกว่านี้
การปลดจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิใช่เป็นเรื่องที่อยู่ดีๆทหารไทยอยากจะเข้ามาควบคุมอำนาจและออกมาปลดได้ แต่มันเป็นเรื่องของความขัดแย้งสะสมที่เกิดขึ้นและพัฒนาการไปสู่ความรุนแรงโดยกองกำลังนอกระบบของฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น และความขัดแย้งก็ยืดเยื้อยาวนานเป็นเวลาหลายเดือนจนการเมืองไทยต้องประสบกับทางตัน ปราศจากทางออกในแบบที่สหรัฐอเมริกาชื่นชอบเพราะว่าประชาชนไทยนับสิบล้านคนไม่เอาด้วยกับวิธีการทางการเมืองที่สหรัฐอเมริกาเชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่าเป็นวิธีการที่ประเสริฐสุด จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการแบบไทยๆ และผลลัพธ์ก็ดูจะได้รับการตอบรับจากคนไทยส่วนใหญ่เสียด้วย
ช่วงเวลาดังกล่าวไม่ทราบว่านายแดเนียล รัสเซล นอนหลับอยู่ที่แห่งหนใด หรือมีอาการประสาทสัมผัสผิดปกติจนไม่อาจรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประเทศไทยได้ หรือแม้จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้แต่อาจจะมีตัวกรองการรับรู้จนไม่อาจตีความและเข้าใจสิ่งที่ได้รับเข้าไปในสมองได้ จึงทำให้เขาพูดอะไรออกมาในลีกษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดทางปัญญาเช่นนี้ออกมา
การที่กล่าวอ้างว่าประชาคมโลกสงสัยว่าการถอดถอนและการดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาจากแรงจูงใจทางการเมือง นี่นอกจากจะอวดตัวเองเป็นตัวแทนประชาคมโลกแล้ว ก็ยังเป็นการโกหกยกเมฆมาทั้งสิ้น ประชาคมโลกที่ไหนจะมาสงสัยประเทศไทย มีแต่รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลประเทศยุโรปบางประเทศซึ่งมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศในโลกทั้งหมด และเป็นประเทศที่เป็นลูกไล่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ดัดจริตเป็นสงสัยแบบเดียวกับที่นายแดลเนียล รัสเซลพูด ด้วยพวกเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีกรอบคิดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลและมีสติปัญญาเท่าที่จักรวาลความคิดอันคับแคบของตนเองจะเอื้ออำนวยให้ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากกะลาที่ครอบศีรษะตัวเองอยู่ไหนเลยจักแลเห็นได้
การระบุว่าการฟ้องคดีอาญายิ่งลักษณ์มาจากแรงจูงใจทางการเมืองนอกจากสะท้อนความตื้นเขินและหยาบกระด้างทางปัญญาของนายแดเนียล รัสเซลแล้ว ยังเป็นการแสดงความไร้มารยาทในแบบที่ไม่น่าเชื่อว่าคนพูดมาจากประเทศที่อ้างตัวเองว่ามีอารยธรรมสูงส่งกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก เพราะนี่เป็นการดูหมิ่นดูแคลนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดของประเทศไทย
ทางที่ดีนายแดเนียล รัสเซลและรัฐบาลสหรัฐควรกลับไปปัดกวาดบ้านตัวเองให้ดีเสียก่อนที่จะมาวิจารณ์คนอื่น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐที่ตัดสินให้ตำรวจผิวขาวพ้นผิดจากการยิงคนผิวดำ ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี จนนำไปสู่การเกิดจลาจลเกือบทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ทั้งยังมีผู้ศึกษากระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ และพบว่า หากมีเรื่องระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ส่วนใหญ่คนผิวขาวจะชนะคดี
ขอถามนายแดเนียล รัสเซล และรัฐบาลสหรัฐฯ ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกามีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ที่มักจะให้คนผิวขาวชนะคดีคนผิวดำเสมอ
ผมไม่อ้างว่าประชาคมโลกสงสัยกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกานะครับ เพราะไม่ประสงค์เอาอย่างนายแดเนียล ที่อ้างว่าประชาคมโลกสงสัยประเทศไทย แต่ผมสงสัยว่ากระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ น่าจะมีแรงจูงใจทางการเมือง เหมือนกับที่คนผิวดำจำนวนมากสงสัย จนนำไปสู่การประท้วงและการก่อการจลาจลหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
และขอถามนายแดเนียลต่อว่า คุณมาประเทศไทยครั้งนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ คาดว่าคุณคงตอบตามสิ่งที่ถูกโปรแกรมในสมองของคุณว่าคุณไม่มีแจงจูงใจทางการเมืองใดๆ เพราะดูจากที่คุณพยายามพูดว่า “สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย” ประโยคนี้คุณพยายามให้ผู้คนเชื่อว่าคุณไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่มาประเทศไทย พยายามบอกว่าตัวเองเป็นกลาง
แต่หางคุณก็โผล่ออกมาในประโยคต่อไปที่บอกว่า “เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม” หลายประโยคนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าคุณต้องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย
ผมลองปรับในสิ่งที่คุณพูดและสมมุติให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยไปพูดในมหาวิทยาลัยชื่อดังบางแห่งในสหรัฐว่า “ประเทศไทยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในความขัดแย้งระหว่างผิวสีของสหรัฐ เราเชื่อว่าประชาชนสหรัฐคือผู้กำหนดความชอบธรรมของการแบ่งแยกสีผิวและกระบวนการยุติธรรม ทว่าประเทศไทยยังมีความกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวการกีดกันแบ่งแยกสีผิว และกระบวนการยุติธรรมที่มีอคติต่อคนผิวดำของประเทศสหรัฐฯ นับตั้งแต่ตำรวจผิวขาวถูกศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดและได้รับการปล่อยตัวออกมา ตลอดจนประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการที่ทหารสหรัฐอเมริกาสังหารผู้บริสุทธิ์จำนวนมากชาวอาฟกานิสถานและที่อื่นๆอีกหลายแห่งที่มีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่”
หากผู้ช่วยรัฐมนตรีไทยพูดแบบนี้บ้างในประเทศสหรัฐฯ ไม่ทราบว่าคุณแดเนียล รัสเซล และรัฐบาลสหรัฐฯ จะรู้สึกแบบใด หากกลับไปคิดตรึกตรองให้ละเอียด เข้าใจว่าน่าจะทำให้ความหยาบกระด้างทางปัญญาและความไร้มารยาทลดลงไปบ้างนะ ยกเว้นแต่ว่าคุณและรัฐบาลของคุณมีแรงจูงใจทางการเมืองบางอย่างที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศไทย แรงจูงใจทางการเมืองของคุณก็แสดงออกอย่างชัดเจนจากการที่คุณไปพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผมขอบอกว่าแรงจูงใจทางการเมืองของคุณและรัฐบาลของคุณเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับคนไทยเพราะดูเหมือนเป็นแรงจูงใจที่กำลังสนับสนุนกลุ่มคนทุจริตที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนไทยอย่างประมาณไม่ได้ รวมทั้งเป็นกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายนอกแบบที่วางระเบิดและสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์
หากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังส่งคนแบบคุณมาพูดแบบนี้อีก เชื่อแน่ว่าความรังเกียจและเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในหมู่คนไทยจะเพิ่มขึ้น แต่คุณและรัฐบาลคุณอาจไม่สนใจที่จะรักษาสัมพันธไมตรีอันดีที่ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกามีกันมาอย่างยาวนานก็ได้ ถ้าคุณคิดว่าเก่งและสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ทำต่อไปเถิดครับ เพราะประเทศเล็กๆ แบบเราคงห้ามอะไรรัฐบาลคุณไม่ได้
อย่างไรก็ตามการกระทำของคุณและรัฐบาลสหรัฐฯ คงให้บทเรียนแก่รัฐบาลไทยในปัจจุบันว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐฯ อย่างจริงจัง และจัดวางตำแหน่งของความสัมพันธ์เสียใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น พร้อมกับสร้างทางเลือกใหม่ๆในการแสวงหามิตรของประเทศไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น และเลิกยึดติดกับประเทศที่ไม่ให้เกียรติและดูถูกประเทศไทยเสียที