xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เมินอียู-สหรัฐฯ จี้เอกชนร่วม คสช.ปฏิรูป ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กระตุ้น คสช.เร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้ดีขึ้น เชื่อนับจากนี้เศรษฐกิจไทยจะค่อยฟื้นตัวดีขึ้น สุดท้ายสหรัฐฯ-อียูก็หันกลับมาสานสัมพันธ์ต่อเอง ชี้ปฏิกิริยาด้านลบจากอียู-สหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือน่ากังวลใจ เป็นแค่หัวโขนและผลประโยชน์เท่านั้น พร้อมกับเรียกร้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปสู่ความยั่งยืน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่องภาคเอกชนกับอนาคตประเทศไทย ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ว่า การที่สหภาพยุโรป (อียู) ระงับความร่วมมือทางการค้าการลงทุนกับไทย พร้อมกับเรียกร้องคืนประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งว่า ไม่รู้สึกประหลาดใจ หรือเป็นปัญหาใหญ่โตกับปฏิกิริยาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะรู้สึกขุ่นเคืองกับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยที่เขาไม่อยากเห็น ส่วนจะมีปฏิกิริยามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับหัวโขนที่สวมอยู่ ความเชื่อและผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นไทยไม่ควรตอบโต้หรือโกรธเคืองกัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไทยให้ดีขึ้น ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์แทนทุกอย่าง โดยรัฐจะต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยเชื่อว่าถ้าเรามุ่งมั่นทำงานตามที่สัญญาในการปฏิรูปประเทศ ตอบแทนคนไทยและสังคมโลก เมื่อทุกสิ่งดีขึ้น เมื่อนั้นประเทศเหล่านี้จะหันกลับมาเราอย่างแน่นอน และไทยเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้เห็นผลประโยชน์ตรงจุดนี้ก็คงกลับมา

“ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะเข้าสู่ประเทศล่มสลายได้หากไม่มีการแก้ไข จนมีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นกับไทยในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนจะถูกจะผิดนั้นประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ความรู้สึกของคนไทยกับเหตุการณ์ดังกล่าวเรารู้สึกได้ว่าดีขึ้น ไม่มีใครเข้าใจถ่องแท้เท่ากับคนไทยด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้คนไทยมีการทะเลาะเบาะแว้งกันจนอาจก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง เข่นฆ่ากันเอง ระเบิดเอ็ม 79 จะลงหน้าบ้านใครก็ได้ ซึ่งต่างประเทศก็เห็น เพียงแต่จะให้ความสำคัญหรือไม่ก็ได้”



นายสมคิดกล่าวต่อไปว่า นับจากนี้ไปปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายไปในทางดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว มีการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ความมั่นใจจะกลับคืนมาทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้นหากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอดแต่ไม่สม่ำเสมอ เพราะจะโตได้จากแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงสร้างภายในทุกส่วนผุกร่อน หากไม่เร่งแก้ไขจะเป็นตัวฉุดประเทศให้ตกต่ำลงในอนาคต

ขณะนี้ไทยเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน แพร่งแรกให้ดูตัวอย่างฟิลิปปินส์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมือง 30 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีความุ่งมั่นที่จะแก้ไข หรือปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อให้ประเทศชาติดีขึ้น การคอร์รัปชันยังมีอยู่ ทำให้ฟิลิปปินส์ยังเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน กับแพร่งที่ 2 คือ อินโดนีเซีย ที่เขาใช้วิกฤตในการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง วันนี้อินโดนีเซียกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอาเซียน ดังนั้นจึงอยากให้ไทยให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีดีแต่พูด ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เมื่อเศรษฐกิจดีก็เพิกเฉย

ดังนั้นภาคเอกชนไทยจึงควรมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน โดยร่วมกันเสนอ ผลักดัน และขับเคลื่อนประเทศ พร้อมกับดูตัวเองและปฏิรูปองค์กรบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย โดยเริ่มตั้งแต่จิตสำนึกที่รู้ว่าจะอะไรผิด อะไรถูก ซึ่งหลักธรรมาภิบาล (CG) เป็นสิ่งที่ดีทำอย่างไรให้แพร่หลายไปสู่บริษัทขนาดกลางและเล็ก ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ดาวน์เกรดไทยเป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์อยู่ในระดับเลวร้าย Tier 3 นั้น ความจริงแล้วเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ที่รัฐบาลสัญญาว่าจะเร่งแกัไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเยี่ยงทาส แต่ช่วงที่ผ่านมา 2 ปีมัวแต่ตีกัน ทำให้ถูกปรับลดระดับลงมา แต่จากนี้ไปให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาเร่งแก้ไขเรื่องนี้

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อียูได้ประกาศระงับการเดินทางเยือนของเจ้าหน้าที่ทั้งอียูและไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้งยกเลิกการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย เนื่องจากไม่พอใจที่ คสช.ยึดอำนาจการปกครอง แต่ในประกาศไม่มีข้อความที่ระบุว่าจะตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย ซึ่งอียูมีการทำการค้ากับไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 หรือ 3 หากไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็พร้อมที่จะทบทวนความสัมพันธ์กับอียูอีกครั้ง

แต่ยอมรับสิ่งที่เป็นกังวลคือว่าไม่สามารถเจรจาการเปิดเสรีเอฟทีเอกับอียูได้ ทำให้ประเทศอื่นๆ เดินหน้าเจรจาไปต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ควรกังวลอะไรมากนัก



ด้านนายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อว่ายังไม่มีผลกระทบต่อการค้าของเอกชนมากนัก อาจกระทบบ้างในบางธุรกิจ ซึ่งภาคเอกชนก็ต้องเจรจากับบริษัทคู่ค้าของตนเองว่าไทยให้ความสำคัญเรื่องการดูแลปัญหาแรงงาน ไม่มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสหรือแรงงานเด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น