xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยชี้อียูตัดสัมพันธ์ไม่กระทบการค้า แต่ทำให้เจรจา FTA และแก้ปัญหาถูกตัด GSP ชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าไทยชี้อียูตัดความสัมพันธ์ไม่กระทบการค้า เหตุถ้ามีการแซงก์ชันสามารถฟ้อง WTO ได้ แต่ยอมรับทำให้การเจรจาเอฟทีเอต้องชะงัก และกระทบถึงการแก้ปัญหาถูกตัดจีเอสพีทั้งหมดในปี 58

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปรับลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงนั้นไม่น่าจะกระทบต่อการค้าและการลงทุน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองล้วนๆ และอียูเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาแซงก์ชันการค้าของไทยได้ เพราะผิดกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงประเทศไทยสามารถฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกได้ทันที

“เชื่อว่าไม่กระทบการค้าระหว่างกันแน่นอน เพียงแต่อาจทำให้การเจรจาต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะการเจรจาเอฟทีเอที่จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี ที่ไทยจะถูกตัดทั้งหมดในปี 2558 ต้องช้าออกไป”

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดอียูประมาณ 10% ของมูลค้าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นายพรศิลป์กล่าวว่า ในระหว่างที่การเจรจาเอฟทีเอต้องล่าช้าออกไป เอกชนเห็นว่าไทยควรจะใช้โอกาสนี้ในการเตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องของโจทย์หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา และยา เพราะเมื่อเวลามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะทำให้สามารถเปิดการเจรจากันได้ และน่าจะช่วยให้การเจรจามีความคืบหน้าไปได้เร็วกว่าเดิม

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ศูนย์อำนวยความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมา อยากให้มองรวมไปถึงกรอบข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เข้าไปด้วย ไม่ใช่มองเพียงแค่อาเซียนหรือเออีซีเท่านั้น เพื่อที่จะได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบการค้าต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอกรอบต่างๆ ในสัดส่วนที่น้อยมาก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีการประชุมที่กรุงลักเซมเบิร์ก และมีมติออกมา 5 ข้อเกี่ยวกับประเทศไทย ดังนี้

1. สหภาพยุโรปและประเทศไทยมีความผูกพันแน่นแฟ้นต่อกันมาเป็นเวลานานทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย

2. ด้วยเหตุนี้ ทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปจึงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่่ผ่านมาด้วยความกังวลเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐมนตรีฯ ได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารดำเนินการเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดในการคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม และคืนการปกครองตามหลักรัฐธรรมนูญผ่านทางการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีฯ ยังได้ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด โดยจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทหารปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจับกุมที่ใช้เหตุผลทางการเมืองและยกเลิกการควบคุมต่อ

3. การประกาศของผู้นำทหารที่ผ่านมาไม่นานนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันที่น่าเชื่อถือในการกลับคืนสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องให้สถาบันทางด้านประชาธิปไตยต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองและสวัสดิภาพของประชาชนทุกคน

4. ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สหภาพยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนการทำงาน โดยให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เริ่มทบทวนความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทยแล้ว

5. การมีแผนดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว การมีการเลือกตั้งอันน่าเชื่อถือและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะสามารถทำให้สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนต่อไปได้ คณะรัฐมนตรีฯ จึงได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยและอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นต่อไปตามสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น