xs
xsm
sm
md
lg

พณ.ทำโรดแมปแจงอียู คสช.ยันทำความเข้าใจได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “พาณิชย์”ทำโรดแมปเร่งด่วน เตรียมจัดทีมชี้แจงปัญหาแรงงาน เริ่มที่สหรัฐฯ ก่อนไปยุโรป ด้านหอการค้าไทยชี้อียูตัดสัมพันธ์ไม่กระทบการค้า แต่ทำให้การแก้ปัญหาถูกตัด GSP สะดุด สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยเตรียมหอบหลักฐานยื่นสหรัฐฯ ปลด “กุ้ง-ทูน่า” พ้นบัญชีกล่าวหาเรื่องแรงงาน ปลัดกต.ผิดหวังอียู แจงอย่าพึ่งด่วนสรุป ไม่ใช่คว่ำบาตรการค้า คสช. มั่นใจทำความเข้าใจอียูได้

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน วานนี้ (24 มิ.ย.) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนทำงานเร่งด่วนในการชี้แจงปัญหาเรื่องแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะจัดทีมออกไปพบปะทั้งภาครัฐบาล ผู้นำเข้า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและมีความเชื่อมั่นในการทำการค้ากับไทยต่อไป โดยจะเริ่มชี้แจงที่สหรัฐฯ ก่อน จากนั้นจะไปที่ยุโรป

ขณะนี้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งลอสแองเจลิส ไมอามี่ ชิคาโก นิวยอร์ค ได้ออกไปพบปะผู้นำเข้ารายสำคัญในพื้นที่ๆ ตัวเองดูแลแล้ว โดยผู้นำเข้าได้ยืนยันที่จะทำการค้ากับไทยต่อไป ไม่มีการบอยคอตสินค้าไทย

นอกจากนี้ สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ (NFI) ยังได้ออกแถลงการณ์และยืนยันที่จะทำการค้ากับคู่ค้าไทยที่มีมาตรฐานด้านแรงงานต่อไป และรับที่จะไปช่วยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไรด้วย

ส่วนการจัดทำแผนปฏิบัติการในด้านแรงงาน เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะตัดความช่วยเหลือในด้านที่ไม่ใช่มนุษยธรรม และที่ไม่ใช่การค้า กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังดำเนินการอยู่ โดยมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ได้

นางศรีรัตน์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้มีติลงโทษไทย เห็นว่ายังพูดไม่ชัดว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง โดยเฉพาะด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งอียูคงจะรอดูท่าทีอีกระยะหนึ่ง และยังมั่นใจว่าในที่สุดการเจรจาคงต้องไปต่อ แม้ตอนนี้จะไม่มีการเจรจากัน แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ยังมีการพูดคุยหารือกันได้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป ได้มีมติเรียกร้องให้ทหารคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว และจะทบทวนการทำงานร่วมกับไทย โดยไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนความตกลงอื่นๆ จะได้รับผลกระทบตามสมควร

***เสียโอกาสแก้ไขปัญหาถูกตัดGSP

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่อียูประกาศปรับลดระดับความสัมพันธ์กับไทยลงนั้น ไม่น่าจะกระทบต่อการค้าและการลงทุน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองล้วนๆ และอียูเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาแซงก์ชั่นการค้าของไทยได้ เพราะผิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยสามารถฟ้องร้องต่อ WTO
ได้ทันที

“เชื่อว่าไม่กระทบการค้าระหว่างกันแน่นอน เพียงแต่อาจทำให้การเจรจาต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป โดยเฉพาะการเจรจา FTA ที่จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่ไทยจะถูกตัดทั้งหมดในปี 2558 ต้องช้าออกไป”

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดอียู ประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

***แนะเตรียมตัวให้พร้อมหากถกFTAชะงัก

นายพรศิลป์กล่าวว่า ในระหว่างที่การเจรจาเอฟทีเอต้องล่าช้าออกไป เอกชนเห็นว่าไทยควรจะใช้โอกาสนี้ในการเตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องของโจทย์หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา และยา เพราะเมื่อเวลามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะทำให้สามารถเปิดการเจรจากันได้

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ศูนย์อำนวยความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมา อยากให้มองรวมไปถึงกรอบข้อตกลงทางการค้าต่างๆ เข้าไปด้วย ไม่ใช่มองเพียงแค่อาเซียนหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เท่านั้น เพื่อที่จะได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบการค้าต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA กรอบต่างๆ ในสัดส่วนที่น้อยมาก

***ขอปลด”กุ้ง-ทูน่า”พ้นบัญชีกล่าวหา

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยจะนำหลักฐานของอุตสาหกรรมกุ้ง และปลาทูน่า ไปยื่นให้กับกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 15 ก.ค.2557 นี้ เพื่อให้พิจารณาถอดถอนสินค้ารายการดังกล่าวออกจากข้อกล่าวหาการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ที่สหรัฐฯจะมีการทบทวนการประกาศกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายในเดือนก.ย.2557 นี้ เพราะที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกุ้งและทูน่า ได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานมาโดยตลอด และยืนยันได้ว่ากุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาจากการเพาะเลี้ยง ไม่มีปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ

ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังยืนยันอีกว่า การที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2557 และปรับระดับไทยให้อยู่ใน Tier 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด และหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษ ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย เป็นการพิจารณาที่ผิดพลาดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเอกชนได้เตรียมข้อมูลและได้หารือร่วมกับภาครัฐเพื่อทำการชี้แจงแล้ว

นายชนินทร์ ชริศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ที่สหรัฐฯ ลดสถานะไทยมาอยู่ Tier 3 มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทูน่าเล็กน้อย และระยะสั้น แต่จะมีผลด้านภาพลักษณ์ของสินค้าไทยมากกว่า โดยยืนยันว่า อุตสาหกรรมนี้ไม่มีปัญหาการใช้แรงงาน โดยแม้โรงงานส่วนใหญ่จะใช้แรงงานต่างด้าว แต่ก็มีการดูแลถูกต้องตามกฎหมาย และหลักสากล

****ปลัดกต.ผิดหวังอียู แจงอย่าพึ่งด่วนสรุป

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) หารือกรณีอียูออกแถลงการณ์ประนามประเทศไทย และออกมาตรการระงับและทบทวนกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ หรือ PCA พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

โดยนายสีหศักดิ์ แถลงภายหลังการประชุมว่า ไทยขอแสดงความผิดหวังต่อมาตรการที่อียูประกาศ เพราะไม่ได้สะท้อนหรือคำนึงถึงพัฒนาการล่าสุดในทางการเมืองของไทย อีกทั้งเราได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่อียูได้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ อียูยังไม่มั่นใจในโรดแมพ 3 ขั้นตอน ซึ่งชี้แจงไปว่าอียูไม่ควรด่วนสรุป เพราะเรากำลังดำเนินการตามเส้นทางโรดแมพ ดังนั้นทางอียูควรติดตามการปฏิบัติของไทย

สำหรับเรื่องอียูระงับการเยือนไทยของรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศสมาชิก และการระงับลงนาม PCA นั้น เรียนว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศไทยฝ่ายเดียว จึงขอให้เขาได้พิจารณาให้ดี และขอให้ทบทวนมาตรการต่างๆ ของเขา รวมทั้งให้เขาคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม การระงับการลงนาม PCA ไม่ส่งผลกระทบไปถึงการเจรจาข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในแถลงการณ์ดังกล่าว โดยขณะนี้การเจรจาเอฟทีเอ ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นก็คงมีการเจรจาด้านเทคนิคต่อไป

"เอกอัครราชทูตของอียูได้ยืนยันว่า สิ่งที่อียูมีมาตรการออกมาเป็นเพียงการจำกัดเฉพาะบางด้านเท่านั้น และไม่ใช่การคว่ำบาตร แต่ทางอียูยังเห็นความสำคัญของไทยและคาดหวังไทยกลับสู่ประชาธิปไตย รวมถึงยังอยากเห็นบทบาทของไทยในอาเซียน ดังนั้นความสัมพันธ์จึงเดินหน้าต่อไป"นายสีหศักดิ์ กล่าว

นายสีหศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับข่าวที่สินค้าอาหารทะเลของไทยอาจถูกจำกัดหรือถูกกีดกันการนำเข้าในต่างประเทศ ขณะนี้เราดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งหลายประเทศเข้าใจ อาทิ ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น เข้าใจว่าดีขึ้น

เมื่อถามว่า การแถลงการณ์ของอียูกระทบภาพลักษณ์ของไทยหรือไม่ นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า หลายประเทศมองข้ามสถานการณ์ในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาไปแล้ว ส่วนใหญ่คาดหวังและปรารถนาให้ประเทศไทยเดินสู่ประชาธิปไตย และประเทศไทยยังคงเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ในเดือน ก.ค.นี้ ที่กรุงบรัสเซล เป็นตามปกติ

***คสช. มั่นใจทำความเข้าใจอียูได้

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีประเทศสมาชิกคณะมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ปรับลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างอียู-ไทย ว่า ไทยจะใช้มาตรการสร้างความเข้าใจในข้อกังวล อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน การควบคุมตัว ขณะนี้ยืนยันได้มีการปล่อยตัวหมดแล้ว ส่วนเรื่องของห้วงเวลากลับคืนสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่ขอความเห็นใจมาตลอดว่า กำลังอยู่การปรับกระบวนการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์จริงๆ

โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่หัวหน้า คสช. กำหนดไว้ 3 ระยะ ซึ่งมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง เรายังอยู่บนหลัก เหตุผล ข้อเท็จจริง เชื่อมั่นว่าจะทำความเข้าใจกับ อียูได้ ทางตะวันตกในขณะนี้ก็ยังมีการพูดถึงการควบคุมตัว บางกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอเองก็ยังมีการพูดถึงการซ้อม การทรมาน ซึ่งยังค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นจริง จึงอาจเป็นสิ่งชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ในปัจจุบัน อาจไม่ใช่ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือเต็มที่มากเท่าไร

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการที่อียูประกาศลดสัมพันธ์กับไทย ว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการมาตรการต่างๆ ออกมา แต่ขณะนี้บางเรื่องเราก็ยังสามารถพูดคุยเจรจาได้โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การค้า ไม่ได้มีผลอะไร สิ่งที่อียูทำเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ เราก็มีหน้าที่ชี้แจงสร้างความมั่นใจต่อไป และหลายประเทศก็เริ่มผ่อนคลายลงเยอะแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หัวหน้าคสช. เป็นห่วงกรณีของอียูมากหรือไม่ ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ความจริงท่านพอใจการสร้างความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเห็นว่าเราก็ต้องมีความอดทน อดกลั้น บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันของแต่ละประเทศในการสร้างความเข้าใจและชี้แจง เพราะแต่ละประเทศก็มีศักดิ์ศรีของตัวเอง เราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เขาตัดสินใจ เขาเองก็น่าจะยอมรับในสิ่งที่เราตัดสินใจเช่นกัน

เมื่อถามว่าจากท่าทีของอียู เช่นนี้ คิดว่ามีการเมืองระหว่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า ไม่สามารถพูดได้ เราต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละประเทศ เหมือนกับที่เราบอกให้เขาเคารพการตัดสินใจของเรา เมื่อถามต่อว่า หากเราชี้แจงแล้ว แต่ละประเทศตั้งใจที่จะไม่เข้าใจ เราจะทำอย่างไร ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น