เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และคิวบา ผ่าทางตันครั้งประวัติศาสตร์แห่งการประจัญหน้าสงครามเย็นในวันพุธ (17 ธ.ค.) ด้วยเคลื่อนไหวฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและดำเนินการต่างๆ เพื่อผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของอเมริกาที่บังคับใช้มานานกว่า 5 ทศวรรษ
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงว่าสหรัฐฯพร้อมทบทวนความสัมพันธ์ทางการค้าและกลับมาเปิดสถานทูตในคิวบาที่ปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1961 ส่วนประธานาธิบดีราอูล คาสโตร ผู้นำคิวบา แถลงในเวลาไล่เลี่ยกันที่กรุงฮาวานา ยืนยันว่าสองชาติอดีตศัตรูบรรลุข้อตกลงรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่บาดหมางกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ
อย่างไรก็ตาม คาสโตรแสดงท่าทีอย่างระมัดระวังในประเด็นของมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า ซึ่งเขาเรียกมันว่าการปิดกั้น โดยระบุยังจำเป็นต้องหาทางออก ส่วนในวอชิงตัน โอบามา ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ล้มเหลว และบอกว่าจะทาบทามสภาคองเกรสให้พิจารณายกเลิก พร้อมๆ กับเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางการทูตและเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว
โอบามา แถลงถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันว่า การโดดเดี่ยวคิวบามานานกว่า50ปีนั้นไม่เป็นประโยชน์ และสหรัฐฯ มีแผนกลับมาเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงฮาวานาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามแม้สหรัฐจะฟื้นความสัมพันธ์ให้กลับมาเป็นปกติ แต่รัฐบาลวอชิงตันยังคงส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของชาวคิวบาเช่นเดิม
นอกจากนี้แล้ว โอบามายังกล่าวยกย่องโป๊ปฟรานซิส พระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกาและโบสถ์คาทอลิก ในฐานะคนกลางที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่เป็นปกปักษ์กันมาอย่างช้านาน ขณะที่โป๊ปฟรานซิส แสดงความยินดีกับทั้งสหรัฐฯและคิวบาที่ตัดสินใจสร้างสัมพันธ์ทางการทูต และบอกว่าวาติกันพร้อมสนับสนุนเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองฝ่ายให้แข็งแกร่งขึ้น
การฝ่าทางตันครั้งนี้มีขึ้นหลังจากคิวบายอมปล่อยนายอลัน กลอสส์ ผู้รับเหมาชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวนาน 5 ปีและชาวคิวบาอีกคนที่เป็นสายลับแก่วอชิงตัน ซึ่งถูกควบคุมตัวมานานกว่า 20 ปีและเคยได้รับการเรียกขานจากประธานาธิบดีโอบามา ว่าเป็นหนึ่งในสายลับที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯในคิวบา
นายอลัน กรอสส์ ถูกจับกุมในเดือนธันวาคมปี 2009 และถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ในความผิดฐานกระทำการขัดต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของคิวบา กรณีแจกจ่ายอุปกรณ์สื่อสารแก่สมาชิกในชุมชนยิวของคิวบาระหว่างปฏิบัติงานในฐานะผู้รับเหมาขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ยอมปล่อยนักโทษคิวบาจำนวน3คนที่ถูกคุมขังข้อหาสอดแนมข้อมูลของประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวนายกรอสส์ ขณะที่โอบามา เผยว่าเขาได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯตรวจสอบทบทวนการขึ้นบัญชีดำคิวบาในฐานะรัฐที่ให้การสนับสนุนก่อการร้ายเสียใหม่
“เราจะยุติแนวทางที่ล้าสมัยซึ่งหลายทศวรรษมาแล้วล้มเหลวเพิ่มพูนผลประโยชน์ของเรา และเราจะเริ่มต้นความสัมพันธ์อันเป็นปกติระหว่างสองประเทศแทน” โอบามากล่าว “ผ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ เรามีความตั้งใจจะเพิ่มโอกาสแก่ประชาชนชาวอเมริกาและคิวบา และเริ่มปฐมบทใหม่ในหมู่ประเทศแถบอเมริกา”
สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อคิวบา คู่อริสงครามเย็นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งของประเทศมากที่สุด มาตั้งแต่ปี 1960 และสองชาติไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 1961 โดยระหว่างนั้นก็เกิดเหตุกระทบกระทั่งต่างๆ ที่มีทีท่าจะฉุดเข้าสู่ภาวะร้อนระอุแห่งสงครามเย็น
ในนั้นอาทิวิกฤตขีปนาวุธปี 1962 ที่สหรัฐฯ ส่งกองเรือปิดกั้นคิวบา เพื่อขัดขวางการส่งมอบขีปนาวุธพิสัยปานกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย และเหตุการณ์บุกอ่าวหมู(Bay of Pigs) ซึ่งเป็นกรณีที่อเมริกาหนุนหลังผู้ลี้ภัยชาวคิวบาราว 1,500 คน ยกพลขึ้นบกที่ บาเฮีย เดอ โคชิโนส ในฝั่งทะเลทางใต้ของคิวบา แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่และถูกทหารของนายพลฟิเดล คาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา ณ ขณะนั้น ปราบปรามอย่างรวดเร็ว
แม้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของคิวบา แต่มันล้มเหลวในการเขี่ยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสองพี่น้องคาสโตรลงจากอำนาจ ขณะที่ โอบามา ที่เวลานี้เหลือวาระดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี และฟิเดล คาสโตร วัย 88 ปีกับราอูล คาสโตร วัย 83 ปี ต่างก็เผชิญแรงกดดันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย
นายดิค เดอร์บิน ส.ส.ระดับอาวุโสของพรรคเดโมแครต หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภา ยกย่องความเคลื่อนไหวครั้งนี้ “การเปิดประตูสำหรับการค้า การท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ กับคิวบา จะสร้างพลังสำหรับเปลี่ยนแปลงในทางบวกในคิวบา ในขณะที่นโยบายกีดกันปัจจุบันของเราที่มีมานานกว่า 50 ปีไม่สามารถทำได้“”
อย่างไรก็ตาม มาร์โก รูบิโอ ส.ว.อเมริกันเชื้อสายคิวบาจากรีพับลิกัน แกนนำของประชาคมต่อต้านคาสโตรในฟลอริดา ประณามข้อตกลงนี้ว่า “ทำเนียบขาวยอมเขาทุกอย่าง แต่ได้คืนมาแค่เล็กน้อย” เขากล่าว “ทุกอย่างล้วนเอื้อประโยชน์แห่งระบอบคาสโตร ซึ่งควบคุมทุกแง่มุมของวิถีชีวิตชาวคิวบา”
ด้านนายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตำหนิการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อคิวบาของประธานาธิบดีโอบามาอย่างดุเดือด ถึงขั้นเรียกมันว่าเป็นการยอมอ่อนข้อต่อผู้นำจอมเผด็จการที่โหดร้ายอย่างไร้เหตุผล “ไม่ควรรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับระบอบคาสโตร ความสัมพันธ์ควรคืนสู่ภาวะปกติก็ต่อเมื่อประชาชนชาวคิวบาได้สัมผัสกับอิสรเสรี ซึ่งมันคงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้”