xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม” ทนไม่ไหว ทำจดหมายร้อง “คสช.” ระบุกลุ่มทุนพลังงานเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ เสนอให้เปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นระบบ “จ้างผลิต” และ “แบ่งปันผลผลิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์: “สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม” หวั่นกลุ่มทุนพลังงานเป็นภัยต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ และครอบงำมาถึงการบริหารกิจการพลังงานของรัฐในปัจจุบัน ทำให้ขาดการบริหารอย่างมีคุณธรรม จึงตัดสินใจยื่นจดหมายถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมเสนอข้อพิจารณาเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิต โดยชี้ว่าการเสนอการขับเคลื่อนการปฎิรูป เปรียบเหมือนทำศึกกับ “ศัตรู” ที่เป็น “กลุ่มทุนพลังงาน” เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “เอกราชของชาติและอธิปไตยของชาติ” เนื่องจากต้องการก้อบกู้เอกราชการบริหารกิจการปิโตรเลียมคืนมาจากกลุ่มทุนพลังงานที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน โดยระบุว่าพลังงานจากปิโตรเลียมเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการพัฒนาประเทศ อธิบไตยเหนือผลผลิตปิโตรเลียมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้จดหมายที่สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ทำยื่นเสนอต่อ คสช. นั้น เบื้องต้นได้มีการส่งจดหมายไปถึงมือคสช . เรียบร้อยแล้ว โดยในจดหมายมีเนื้อหาใจความ ดังนี้

สำนักงานคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม
๖๔ ถนนวิภาวดีรังสิต
ดินแดง กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘

เรื่อง ภัยคุกคามเอกราชชาติไทยจากการให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม
กราบเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เอกสารที่อ้างถึง

๑. หนังสือของคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ที่ ๒๘๓/๕๕ ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ขอให้
ระงับชั่วคราวการเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑
๒. หนังสือของคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ที่ ๖๐/๕๗ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เรื่อง “ขอให้
ยุติการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔”
๓. หนังสือของคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ที่ ๖๓/๕๗ เรื่องแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากร
ปิโตรเลียมของชาติอย่างเป็นธรรม ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๔. หนังสือของคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ที่ ๗๒/๕๗ เรื่อง ขอให้ยุติการให้สัมปทานปิโตรเลียมและ
การบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗

สิ่งที่ส่งมาด้วย รายงานการศึกษาของคลังสมอง วปอ.ฯ เรื่อง “การตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม
ของรัฐบาล”

คลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)เพื่อสังคม ได้ติดตามข้อมูล ข้อสนเทศ และข่าวสาร จากหลาย
กลุ่มบุคคล ทั้งทางตรงและทางอ้อม เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการบริหารจัดการ
ทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐบาล และได้วิเคราะห์ข้อมูล ข่าวสาร และข้อสนเทศที่ได้รับด้วยความรอบคอบและ
ระมัดระวัง และด้วยความห่วงใย และพิจารณาการบริหารจัดการดังกล่าวในแนวของการพัฒนาที่มั่นคง สมดุลย์ และ
ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๑ ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นอย่างหนักแน่นและมีปณิธานอย่างแน่วแน่ในการดำเนินการ คลังสมอง วปอ.ฯ สนับสนุนให้ คสช. ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวและจะร่วมกับประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลให้ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงให้ลุล่วงไปได้

การดำเนินการของคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ดังกล่าวพบว่ากลุ่มทุนพลังงานในอดีตและปัจจุบันเป็นภัยคุกคาม
ต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหมายถึงประเทศไทย “ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจาก
ปิโตรเลียม และภัยคุกคามดังกล่าวได้ครอบงำการบริหารกิจการพลังงานของรัฐในปัจจุบัน ทำให้ขาดการบริหารอย่างมี
คุณธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ คลังสมอง วปอ.ฯ จึงได้ศึกษาและจัดทำรายงานเรื่อง “การตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐบาล” ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย เพื่อตรวจสอบสถานะของการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐบาล ซึ่งสรุปได้เป็นข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะ ดังนี้

ข้อพิจารณา

พลังงานจากทรัพยากรปิโตรเลียม เป็นปัจจัยที่ ๕ และเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการพัฒนาประเทศในอดีต ใน
ปัจจุบัน และในอนาคต เป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่ประชาชน
มีความสุข มั่นคง และยั่งยืน จากการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยในการเสนอการขับเคลื่อนการปฏิรูป
การบริหารกิจการพลังงานจากปิโตรเลียมเปรียบได้กับการทำศึกที่ประเทศต้องต่อสู้กับศัตรู (กลุ่มทุนพลังงาน) เพื่อ
รักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติและอธิปไตยของชาติที่มีเดิมพันสูงสุดในการรักษาไว้ซึ่งศักยภาพ ศักศรี และวิถีชีวิตของคนไทยทุกคน การต่อสู้ครั้งนี้มีประชาชนสนับสนุนอยู่จำนวนมาก เพราะทุกคนตระหนักว่าการศึกครั้งนี้ คือ การกอบกู้เอกราชการบริหารกิจการปิโตรเลียมกลับคืนมาจากกลุ่มทุนพลังงานที่ครอบงำสังคมไทยมานาน (อย่างน้อย ๓๒ ปีแล้ว)
อธิปไตยเหนือผลผลิตปิโตรเลียมมีความสำคัญมากต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ในภาวะปกติและภาวะ
ฉุกเฉินระหว่างประเทศ เช่น เมื่อเกิดภาวะภัยพิบัติหรือภาวะความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทะเลจีนใต้หรือใกล้บริเวณอ่าว
ไทยอันเป็นผลให้การขนส่งปิโตรเลียมจากต่างประเทศไม่สามารถทำได้ รัฐจะตกอยู่ในฐานะขาดอำนาจต่อรองใดๆ ใน
การเจรจาขอใช้พลังงานปิโตรเลียมจากผู้รับสัมปทาน ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งอาจพัฒนาเป็นการต่อรองความเป็น
เอกราชของชาติได้ในที่สุด เฉกเช่นวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในอดีต

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยและสังคมโลกเปลี่ยนไปจากปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มาก และการเชื่อมโยงของ
ระบบการศึกษาไทยกับระบบการศึกษาสากลได้ผลิตนักวิชาชีพไทยด้านต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์
ด้านบริหารธุรกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีความรู้ ความสามารถระดับสากลไว้เป็นจำนวนมากพอสมควร ซึ่งเขา
เหล่านั้นพร้อมที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลรับโอนกิจการปิโตรเลียมมาดำเนินการเองแบบครบวงจร (ผลิต แปรรูป และ
จำหน่าย) ถ้าได้รับโอกาสจากรัฐบาลและประชาชน และโอกาสดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาวิชาชีพของเยาวชนรุ่นต่อไปให้มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบต่อไป โดยพิจารณาเปลี่ยนระบบการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมจาก
ระบบสัมปทานมาเป็นระบบ ระบบ “จ้างผลิต” และ “แบ่งปันผลผลิต”

จากการวิเคราะห์การบริหารสัญญาสัมปทานของกระทรวงพลังงานพบว่า รัฐมีพื้นที่สงวนสิทธิที่ผู้รับสัมปทาน
สามารถผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมอีกประมาณร้อยละ ๙.๑๔ ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด และพื้นที่ที่ค้างดำเนินการสำรวจอีกร้อยละ ๗๖.๖๔ รวมเป็นร้อยละ ๘๕.๗๘ ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด คิดจำนวนรวมเป็นพื้นที่ค้างสำรวจอยู่ประมาณ๑๐๙,๗๙๔ ตารางกิโลเมตร ซึ่งแสดงว่ารัฐไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่สัมปทานเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบเปิดพื้นที่แปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑

ข้อเสนอแนะ

ด้วยอำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม เสนอว่า

คสช. ควรพิจารณากำหนดให้รัฐ
(๑) มีการบริหารจัดการกิจการทรัพยากรปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับหลัก

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ
(๒) พิจารณารับโอนกิจการปิโตรเลียมจากผู้รับสัมปทานมาดำเนินการเอง

(๓) ยกเลิกประกาศ ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เรื่อง เขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทย ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดผู้รับสัมปทานให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่คงเหลือที่ได้รับสัมปทานไปแล้วจำนวนประมาณ ๑๐๙,๗๙๔ ตารางกิโลเมตร
(๔) ยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม บางมาตราทันที
เพื่อยุติการต่ออายุสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกแปลงที่จะหมดอายุสัมปทาน และกำหนดแผนงานในการถ่ายโอนกรรมสิทธิการขุดเจาะในแปลงเหล่านั้นมาเป็นของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแปลงสัมปทานในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ในอ่าวไทย เพื่อให้รัฐเข้าดำเนินการควบคุมการผลิตเอง พร้อมทั้ง
(๕) ทบทวนพื้นที่ทับซ้อน
ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย เพื่อป้องกันการเสียดินแดนของราชอาณาจักรไทย และ
(๖) มอบหมายให้กระทรวงพลังงานกำหนดแผนงานการปรับปรุงระบบบริหารกิจการพลังงาน ให้รองรับการดำเนินการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมโดย “ระบบจ้างผลิต” หรือ “ระบบแบ่งปันผลผลิต”

จึงกราบเรียนมาเพื่อกรุณาพิจารณาข้อเสนอข้างต้นตามความเหมาะสมต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

พลเอกจรัล กุลละวณิชย์

นายกสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระราชูปถัมภ์และ
ประธานมูลนิธิคลังสมองวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อสังคม

คลิกอ่านจดหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น