xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” กับใจสีเทาๆ เกือบดำ ในวันที่ไม่เห็นอนาคตเรื่องพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐบิดเบือนเรื่องข้อมูลพลังงาน ทิศทางการพัฒนาประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจพลังงานมากเกินไป หนำซ้ำนายทุนยังมีอิทธิพลครอบงำนโยบายของรัฐ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง แนะควรใช้วิธีกลับหัวกลับหาง ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อประเทศไทยจะได้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและประชาชนได้สิทธิพลังงานอย่างแท้จริง

นั่นคือบทสรุปหรือแก่นแกนความคิดของ “อิฐบูรณ์ อ้นวงษา” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกี่ยวกับความจริงเรื่องพลังงาน ซึ่งทำงานและติดตามในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน

แน่นอน ในช่วงสถานการณ์ที่การปฏิรูปพลังงานกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ต้องยอมรับว่าข้อเท็จจริงจากปากของเขา ไม่อาจมองข้ามได้แม้แต่เรื่องเดียว

มีเรื่องไหนที่ไม่ชอบใจในเรื่องการปฏิรูปพลังงานตอนนี้บ้าง

คงเป็นเรื่องของกลุ่มผู้กำหนดทิศทางพลังงานมาแต่ต้น ซึ่งผมคิดมีกลุ่มคนไม่กี่คนที่เขาคิดว่ามีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศได้ คือ เขาอาจมองว่า เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแบบนี้ จำเป็นต้องหาพลังงานมารองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือว่าคุณเจอพลังงานอยู่แล้ว และคุณก็จะต้องหาลูกค้าล็อตใหญ่มาซื้อพลังงานที่คุณเจอ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นว่าตอนนี้ตัวพลังงานเป็นตัวดันเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ใช่ตัวเศรษฐกิจที่เป็นตัวดึงพลังงานให้กลับคืนมา นี่คือสิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่นัก

ยกตัวอย่างเช่น ในยุคสงครามเย็น ทำให้เราต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไรกับประเทศมหาอำนาจที่เข้ามา จึงต้องมีการผลักดันให้มีการแสวงหาพลังงานปิโตรเลียมขึ้นมา อำนาจอิทธิพลทางการเมืองทำให้เราเลือกใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งอาจจะเหมาะสมในยุคช่วงที่เรายังไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีอะไรเลย แล้วทีนี้พอเราเจอก๊าซขึ้นมาช่วงปี 2523 เราก็ไม่รู้ว่ามีเท่าไร แต่ฝรั่งคนที่สัมปทาน เขารู้ว่ามีเท่าไร พอเขาบอกว่าถ้าจะเอาก๊าซขึ้นมา คุณก็ต้องสร้างสายหลักให้เขา

ทีนี้โมเดลแบบนี้มันเลยเริ่มเกิดขึ้นมาว่าเราอยากจะเจออะไร รัฐก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ กลายเป็นว่าคล้ายๆ แบ่งปัน คนสัมปทานบอกว่าผมมาลงทุน ผมเอาความรู้มาลงให้ แต่คุณต้องลงทุนในเรื่องของการสร้างถนนหนทางให้ ซึ่งระบบก๊าซก็คือระบบท่อส่งก๊าซนี่เอง แล้วคำถามคือคุณเอาก๊าซไปให้ใครใช้ ลองนึกย้อนไปดูปี 2524 มันไม่มี สุดท้ายคุณก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้า แล้วพอสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ใครจะมาใช้ไฟฟ้า ดังนั้นคุณก็ต้องสอนผู้บริโภคให้รู้จักทำตัวเองให้ทันสมัยเหมือนคนอเมริกา เหมือนคนญี่ปุ่น คือบ้านคุณจะต้องมีทีวี บ้านคุณจะต้องมีตู้เย็น บ้านคุณจะต้องมีโน้นมีนั่น สุดท้ายเราก็จะมีโรงงานทำทีวี โรงงานทำตู้เย็น โรงงานทำเครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานทำรถยนต์อะไรต่างๆ นั้นคือที่มา

ประเด็นเรื่องนี้คือ ทิศทางในการพัฒนาประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธุรกิจพลังงานเกินไป ทั้งที่ถ้าเรากำหนดทิศทางแต่แรกว่าเราจะพาประเทศไปทางไหน เช่น เราจะเป็นแบบอุตสาหกรรมกรีน เราจะเป็นแบบไม่บริโภคฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าไหม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราออกแบบทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้โครงสร้างของสัญญาปิโตรเลียม เช่น ปีแรกรับเท่านี้ ปีต่อไปรับเพิ่มขึ้นๆ จึงกลายเป็นว่าการเขียนแผนพัฒนาประเทศ ไม่ได้เขียนมาจากความต้องการของประชาชน แต่เป็นการเขียนจากความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ต้องการขายเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการคืนทุน และเกิดกำไรโดยรวดเร็ว

ดูเหมือนต้องการบอกว่าที่ผ่านมา เราใช้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมากเกินไป ถ้าอย่างนั้นเราควรจะดำเนินอย่างไรจึงจะเหมาะสม

ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญปี 50 ด้านนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ บอกว่ารัฐต้องคิดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ มันไม่เคยถูกปฏิบัติในเชิงรูปธรรม คือพอคุณเติมพลังงานมา คุณก็หาระบบพลังงานมารองรับ เพื่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และคุณก็ดันเขาไปเรื่อยๆ แต่ถามว่า คุณเคยขีดเส้นไหมว่าวันไหนถึงจะพอ เคยขีดเส้นไหมว่าไทยจะรับภารกิจในการจัดหาพลังงานสำหรับรองรับอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจอื่นๆ ไว้เพียงเท่านี้ และประกาศให้กับผู้ลงทุนทั่วโลกให้ทราบเลยว่ารัฐจะทำหน้าที่จัดหาพลังงานเท่านี้นะ

แต่ปัญหาตอนนี้ เขาขออะไรมา เราแบให้เขาหมด โดยไม่ดูว่าทรัพยากรเราพอไหม พื้นที่เราพอไหม กำลังประชาชนเราพอไหม ถ้าเราเห็นการเขียนกราฟการใช้พลังงานของประเทศไทย จะพบว่ามันเป็นสันเขาหิมาลัย แต่เราไม่เคยมีบอกว่า เราจะให้เป็นเส้นแบบนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นจุดอันตรายของประเทศเรา

ผมคิดว่าตอนนี้รัฐควรต้องมองแล้วว่าเส้นนี้พอแล้ว ไม่ใช่ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เราควรตระหนกกับเส้นดังกล่าวว่าประเทศเล็กอย่างเรามันไม่ไหว คุณจะต้องยับยั้งไอ้เส้นที่มันขึ้นเป็นสันเขาหิมาลัยแบบนั้นให้หยุด ณ จุดใดจุดหนึ่ง แล้วบอกว่าประเทศไทยเราจะมีพลังงานแค่นี้แหละ โรงไฟฟ้าใหม่ของจะมีเฉพาะทดแทนโรงไฟฟ้าเก่า ไม่ใช่ว่าเก่าก็มี ใหม่ก็มี กลายเป็นไม่มีขีดจำกัด พอใส่เข้ามา มันก็เกิดปัญหาวิกฤตพลังงาน แต่วิกฤตพลังงานไม่ได้เกิดจากในมุมมองที่เขาชอบกล่าวอ้างคือ เกิดจากความฟุ้งเฟ้อของประชาชน ผมมองว่าคำพูดดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อประชาชน

ช่วยขยายความให้ฟังหน่อยว่า เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมต่อประชาชนอย่างไร

คือ ยกตัวอย่างการใช้ไฟฟ้าภาคประชาชน ความจริงภาคครัวเรือนใช้ไฟแค่ 20% อีก 40% ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมใช้ แต่ทีนี้ผู้มีอำนาจก็จะอ้างว่าอุตสาหกรรมทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้กับประชาชนทั้งประเทศ คำถามก็คือมันไม่มีใครมาเคาะต่อว่าจริงไหม แล้วมันยังย้อนคืนกลับมาเป็นภาระแก่ประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่แบกเอาไว้ ทั้งในเรื่องของโรงไฟฟ้า การเสียพื้นที่อะไรต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรที่กลายไปเบียดเบียนกลุ่มอาชีพอื่นๆ อย่างเช่น พื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ

ตอนนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่า ทิศทางพลังงานที่มีอยู่ในขณะนี้ มันอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนมากเกินไป และกลุ่มทุนมีอิทธิพลครอบงำนโยบายของรัฐ ถ้าเอา ณ ปัจจุบัน ที่กำลังถกเรื่องของปฏิรูป ประชาชนนั่งมองหน้าคนที่ คสช.เลือกเข้ามาปฏิรูป ทุกคนล้วนเกี่ยวพันหรือมีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งกับบริษัทนายทุน จริงอยู่ว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่ทำให้สังคมไม่อาจเชื่อได้ว่าเขามาด้วยเจตนาดูแลผลประโยชน์ของสังคมไทยจริงๆ เพราะมันให้น้ำหนักไปในทิศทางว่า ไปดูแลผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่า แล้วคำถามก็คือ นโยบายต่างๆ ที่เกิดมาจะรองรับเพื่อใคร แล้วชุดคำอธิบายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เขาอธิบายเพื่อใคร และสร้างความชอบธรรมให้กับใคร พูดอย่างนี้อาจทำให้เห็นภาพข้อเท็จจริงได้บ้าง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ นโยบายของภาคการเมืองที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเรื่องพลังงาน เพราะเรายังไม่เคยเห็นนโยบายภาคการเมืองที่กล้าหาญประกาศเปรี้ยงว่า เราจะขีดเส้นเรื่องของการใช้พลังงานปิโตรเลียมเท่านั้นเท่านี้ เราไม่เคยเห็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ขีดเส้นว่าเราจะดันเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ดันเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ให้เข้าไปทับเส้นของพลังงานปิโตรเลียมได้อย่างอาจหาญอย่างไร ทั้งๆ ที่ในกระแสของโลก พลังงานหมุนเวียนเป็นกระแสทางออกของพลังงานและความมั่นคงอย่างแท้จริง ฉะนั้นเราจะเห็นว่านักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาจากการเลือกตั้งก็ดี หรือจะมาจากการรัฐประหารก็ดี ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเลย นี่คือสิ่งที่เราเห็นจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ถ้าอย่างนั้นการปฏิรูปแบบไหนที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง

คือวิธี “กลับหัวกลับหาง กลับด้าน” เนื่องจากปัญหาตอนนี้คือ เราเริ่มส่งเสริมเรื่องของพลังงานปิโตรเลียม หรือพลังงานสายฟอสซิล บอกถ้าไม่เอาแก๊ส ก็เอาแอลพีจีเข้ามา ถ้าไม่เอาแอลพีจี คุณก็เอาถ่านหินเข้ามา ทางเลือกของประชาชนอยู่เท่านี้ บอกถ้าไม่เอาถ่านหินก็มีตัวล่อเป้าไว้ให้ประชาชนถล่มก็คือ นิวเคลียร์ สุดท้ายพอประชาชนไม่เอานิวเคลียร์ ทางออกก็จะเหลือแค่ถ่านหินกับแก๊สเท่านั้นเอง คำถามคือว่าอันนี้คือทางเลือกคุณหรือเปล่า ทำไมคุณไม่ให้น้ำหนัก กับทางเลือกอีกทางหนึ่ง บ้าง ซึ่งก็คือ “กลุ่มพลังงานหมุนเวียน”

ยกตัวอย่างเช่น พอพูดถึงพลังงานแสงอาทิตย์ เขาจะยกข้อมูลมาดิสเครดิต คือเอาข้อมูลของ กฟผ.ที่ทำโครงการเซลล์แสงอาทิตย์มาบอกว่าต้นทุนสูงมาก คำถามก็คือว่า ต้นทุนสูง ใช่เกิดจากเรื่องที่ดินราคาแพงหรือเปล่า ใช่เรื่องของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันหรือเปล่า แล้วพัฒนาการของเซลล์แสงอาทิตย์ ณ ปัจจุบัน กับอดีตที่คุณอ้างมันเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนแล้ว

ถ้าเราไปดูข้อมูลของกรมอนุรักษ์พลังงานทดแทนฯ เขาจะมีข้อมูลที่ดีๆ น่าสนใจเยอะ เช่นบอกว่า แสงอาทิตย์ในบ้านเรา เป็นแสงอาทิตย์ระดับความเข้มเหมาะสมกับการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ประเด็นคือว่ามักมีการดิสเครดิตว่าพลังงานแสงอาทิตย์มีจุดอ่อน ทำงานได้เฉพาะกลางวัน กลางคืนผลิตไฟไม่ได้

ผมเลยสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นทำไมคุณไม่ส่งเสริมให้เซลล์แสงอาทิตย์ทำงานกลางวัน ส่วนช่วงอื่นๆ เช่นตอนกลางคืนคุณก็สามารถปันใช้แก๊สได้ ใช้ถ่านหินได้ หมายความว่าแทนที่เราจะต้องนำเข้าพลังงานทั้งวันถึง 100% เต็ม เราก็สามารถลดการนำเข้าได้เกือบครึ่งหนึ่ง โดยการหันมาใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์

แล้วถ้าไปดูต่างประเทศ การขยายธุรกิจในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เขาจะเปิดให้เป็นเรื่องของการแข่งขัน แต่ว่ารัฐมีการวางนโยบายชัดเจนว่า รัฐจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างไรบ้าง แต่ของเรา พอบอกว่ารัฐจะสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนแต่กลับไม่มีใบผ่านอะไรเลย ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ ไม่มีใครกล้าลงทุน ฉะนั้นทางออกที่ดีคือ รัฐต้องมีความชัดเจนว่าจะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมและทำให้เกิดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างไรได้บ้าง

ที่ผ่านมาก็เกือบทำได้ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน แต่ปัญหาคือเราไปลิมิตมัน ไปมีโควตามัน ถามว่าเราเคยบดบังแสงอาทิตย์ได้ไหม แสงอาทิตย์ไม่มีโควตา แต่ประเทศไทยสามารถทำให้แสงอาทิตย์มีโควตาได้ โดยบอกว่ารับซื้อเท่านั้นเท่านี้ เช่นไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ สำหรับในกรุงเทพฯ ส่วนอีก 3 - 6 พันเมกะวัตต์ก็เอาฟอสซิลมา ฉะนั้นโครงการนี้เลยเป็นโครงการไม้ประดับอยู่ ดังนั้นหลักการกลับหัวกลับหางที่เรานำเสนอคือ ควรรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นลำดับแรก จากนั้น ฟอสซิลค่อยตามหลัง นอกจากนั้นควรมีการปฏิรูปเป็นหลักการเลย เพื่อส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียน นักลงทุนจะได้มั่นใจ ธนาคารจะได้กล้าปล่อยกู้ และรัฐควรส่งเสริมให้เป็นสัญญาระยะยาวด้วย เพื่อจะได้ให้เห็นอนาคตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนได้

แล้วที่สำคัญคือการกระจายสิทธิในการเป็นผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ควรจะเป็นของประชาชนด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะเจ้าสัว ไม่ใช่มองเฉพาะแปลงใหญ่ๆ อย่ามองแค่ว่าเซลล์แสงอาทิตย์ต้องไปเกาะอยู่กับดิน หรือการใช้พื้นที่ เช่น เปิดโอกาสให้หลังคาบ้าน หรือหลังคาอาคารได้ติดเซลล์แสงอาทิตย์บ้าง หรือถ้าเราเห็นหลังคาโรงจอดรถ หรือลานจอดรถของห้างกลางแดด เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาเป็นผู้ผลิตและขายด้วย เพราะก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขาลดค่าใช้จ่าย และทำให้เกิดรายได้

มีที่ไหนที่คุณเห็นว่ามีการใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์แล้วได้ผลบ้างไหม

เท่าที่ผมฟังมาจากอาจารย์ประสาท มีแต้ม ท่านมักจะยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายเลยว่าจะไม่เอานิวเคลียร์ แต่อาจยังคงถ่านหิน หรือคงเรื่องฟอสซิลอื่นๆ แต่เขาไม่เอานิวเคลียร์ เขาบอกว่าเราจะเอาพลังงานหมุนเวียน เราจะเอาเซลล์แสงอาทิตย์ จากนั้นก็ขีดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่า ปีนี้เท่าไร ปีต่อไปเท่าไร เอาเข้ารัฐกี่เปอร์เซ็นต์อย่างนี้ ทำให้ธุรกิจจับทิศจับทางได้ นักธุรกิจก็จะไปลงทุนกัน

ประเด็นคือ เยอรมนีความเข้มของแสงอาทิตย์อ่อนกว่าประเทศไทย แต่รัฐบาลเขากล้าบอกว่าจะเอาเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งผมเห็นว่าประเทศไทยควรจะเอาอย่างเขา นอกจากนั้นจะเห็นว่า ประเทศเยอรมนี ถึงแม้จะเป็นโรงไฟฟ้าระดับชุมชน มีวิศวกรระดับชุมชนคุมโรงไฟฟ้า แต่ทรัพยากรวัตถุเชื้อเพลิงมาจากท้องถิ่น และก็ป้อนคืนสู่ระดับชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคง

ต่างจากของไทยเรา พอเกิดฟ้าผ่าทีที่ภาคใต้ ก็ทำให้ไฟฟ้าทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ดับ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อเพลิงเลย และเขายังบอกว่านี่คือความมั่นคง ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ ผมมองว่าความมั่นคงก็คือ กระจายสิทธิให้ชุมชนเขาเป็นผู้ผลิต ในขณะที่รัฐอยากจะสนับสนุนอุตสาหกรรมมากกว่า นี่แหละคือปัญหา

แล้วตอนนี้มีเรื่องไหนที่อยากท้วงติงรัฐบาลอีก

ผมอยากบอกว่าตอนนี้ความรู้สึกของประชาชนขณะนี้ ใจมันสีเทาๆ มาก จนเกือบจะเป็นสีดำด้วยซ้ำไป เพราะเราไม่เห็นไอเดียอะไรที่จะทำให้ประชาชนเห็นอนาคตในเรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะมุมมองที่เรียกว่าปฏิรูปได้เลย เพราะเนื้อหาที่ออกมาอยู่ในขณะนี้ก็ดูเหมือนเดินตามทิศทางของกลุ่มสายฟอสซิลเขานำเสนอ เราพยายามที่จะรักษาพื้นที่ของเขาไว้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา เราพยายามที่ดึงได้บางอย่าง แต่ก็ไม่มีความมั่นคงแน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น สายฟอสซิลเขาเสนอเรื่องแยกท่อก๊าซ เพื่อที่จะให้เข้าถึงระบบของแอลเอ็นจีของเขาที่กำลังนำเข้ามา และแหล่งสัมปทานที่กำลังจะเปิดใหม่ และให้เอกชนเข้าถึงก็คือกลุ่มของเขา เราทำได้เพียงแค่ทักท้วงว่าไม่ควรแยกท่อก๊าซเป็นของเอกชน

เราทักท้วงว่าท่อก๊าซในทางกฎหมาย เราเห็นว่ามันควรเป็นรัฐ แต่ว่ากลับถูก ปตท.ยึดครองไป ถูก ปตท.ครอบครองเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เราก็บอกว่ารัฐควรจะเอาท่อก๊าซกลับมาเป็นของรัฐ เพราะมันเป็นของรัฐอยู่แล้ว และก็จัดรูปแบบบริหารใหม่ ถ้ากลัวว่ารูปแบบรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ก็หันมาใช้รูปแบบบริษัทก็ได้ แต่ว่าท่อก๊าซตรงนั้นต้องเป็นของรัฐ 100%

อีกประเด็นในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ อะไรที่เป็นระบบผูกขาดโดยเอกชน ไม่ใช่เรื่องดี เพราะเอกชนเขาจะคิดกำไรทุกๆ ส่วน ไอ้นั้นก็เอากำไร ไอ้นี่ก็กำไร เพราะฉะนั้นมันก็คิดเป็นกำไรทอดๆ ไป จะเห็นว่าบริษัทพลังงานของเรา มันหลายบริษัทมาก และมันก็กินกำไรเป็นทอดๆ โดยธรรมชาติของมัน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานของเราสูงขึ้น หรือราคาพลังงานแพงขึ้น

แล้วมีข้อมูลอะไรที่ไม่เห็นด้วยและอยากชี้แจงต่อประชาชนบ้าง

เรื่องที่นักวิชาการบางคนมองการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนโดยอคติ คือ เขามองว่าประชาชนออกมาเคลื่อนไหวด้วยความไม่รู้ หรือเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อน โดยอาศัยความสลับซับซ้อนของข้อมูลมาปกปิด ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ติดตามข้อมูล คิดว่าภาคประชาชนไม่มีความรู้อะไรเลย และออกมาเคลื่อนไหว

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่พวกเราวางประเด็นไว้ว่า พลังงานของประเทศไทยมีเยอะมาก ดังนั้นราคาพลังงานควรจะถูกกว่านี้ ประเด็นที่เราพยายามบอกกับสังคมตลอดเวลา คือ ประเทศไทยมีพลังงาน มีปิโตรเลียม เพราะเราพบว่ามีประชาชนจำนวนมากยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้จากแหล่งผลิตของตัวเอง สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติในลักษณะที่พึ่งพาได้ โดยสามารถนำเข้าเพียงแค่ 20% ได้ เราพยายามนำเสนออย่างนี้ไป เพียงแต่ว่าพอเราพูดถึงจำนวนบาร์เรล ชาวบ้านไม่เข้าใจเราก็เลยต้องแปลงปริมาณจากบาร์เรลมาเป็นลิตร พอแปลงเป็นลิตร เขาก็โจมตีว่าพวกนี้จงใจให้ดูว่ามีปริมาณมาก ทั้งที่มันก็คือจริง ผมสงสัยว่าทำไมเขากลัวกับข้อมูลลิตร อาจเป็นเพราะบาร์เรลมันทำให้ดูน้อย แต่พอเป็นลิตรมันเยอะขึ้นมาทันที

แล้วไม่นานนี้ กระทรวงพลังงานฯ ได้ซื้อพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีการลงข้อความโฆษณาว่าประเทศไทยจัดหาพลังงานของตัวเองในประเทศ รวมแก๊ส รวมน้ำมันอะไรต่างๆ ได้ราวๆ 8 แสนบาร์เรล แต่คนไทยใช้พลังงานมากถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งข้อมูลอันนี้ผิด ผิดเพราะจำนวน 2 ล้านบาร์เรลนี้เป็นตัวเลขของการจัดหาพลังงานปิโตรเลียม ซึ่งหมายความว่ามีการใช้เพื่อการส่งออกด้วย ไม่ได้หมายถึงจำนวนการบริโภคอย่างเดียว ถ้าไปย่อยดูข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเห็นว่าเป็นปริมาณของการบริโภคภายในประเทศ และเรื่องของการส่งออก แต่เขาดันนำมาตีรวมกัน

ดังนั้น เราต้องการบอกว่า ถ้ารัฐจะสื่อสารอะไร ก็ต้องสื่อสารให้ถูกต้องครบถ้วน คุณต้องแฟร์กับประชาชน แต่พอคุณบอกว่าคนไทยใช้พลังงานถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรล มันจะรู้สึกว่าคุณกดดันมาก กลายเป็นว่าประชาชนใช้พลังงานเยอะ เป็นต้นเหตุทำให้พลังงานของประเทศต้องนำเข้ามา และเกิดความไม่มั่นคง ความจริงรัฐต้องบอกข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องของการใช้ช่องทางกฎหมายไปดำเนินการและจัดการในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการพลเรือนต่อไป

วางแผนจะเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

คิดว่าจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไปแน่นอน เพราะภาครัฐด่าชาวบ้านว่าชาวบ้านไม่ได้เรื่อง โดยไม่มองความจริง เจตนาที่เราสื่อสาร คือเพื่อบอกให้ประชาชนรู้ว่า หนึ่ง. เรามีพลังงานของตัวเอง เราจัดหาพลังงานของตัวเองได้ระดับหนึ่ง สอง.พลังงานที่จัดหามันเป็นของประชาชนทุกคน ฉะนั้นระบบอะไรที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้ว่ามันเป็นของประชาชน มันต้องไม่ใช่ระบบสัมปทานแน่นอน ผมคิดว่าระบบแบ่งปันผลผลิต จะทำให้พลังงานเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ถ้าคุณไปดูประเทศอื่น จะเห็นว่าเขาเจ็บปวดมามากแล้วกับระบบสัมปทาน เพราะบริษัทฝรั่งมีอิทธิพลเหนือรัฐ บอกว่าจะกำหนดอย่างนี้ ถ้าไม่เอาก็ไม่ขุดนะ สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐรู้สึกเจ็บปวดและมีโจทย์เดียวกันคือว่าจะทำอย่างไรให้คงความเป็นเจ้าของพลังงานได้ ประเทศมาเลเซียเลยส่งรัฐมนตรีของตัวเองไปเรียนรู้งานที่อินโดนีเซีย และก็ได้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาประยุกต์ใช้กับประเทศตัวเอง โดยเขามองว่ามันแฟร์กันทั้งสองฝ่าย

เราเลยนำเสนอให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาใช้เป็นระบบแบ่งปัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ และถูกเขาดูหมิ่นว่า ไอ้พวกนี้ไม่รู้จริง เจตนาของเราบอกว่า คุณส่งคนไปศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ หรือไปถามมาเลเซียก็ได้ว่าเขาว่าอย่างไร

ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามสื่อสารคือ ประชาชนต้องรู้ว่า เรากำลังเจออะไรอยู่ มีใครทำให้เกิดวังวนแบบนี้เกิดขึ้น สิ่งที่เราพยายามผลักดันข้อเสนอ เราก็ยอมรับว่า มันอาจจะไม่ใช่ข้อสรุป แต่ว่าเราจะต้องมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม อย่างเช่นเรา

เสนอในเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม การใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้เกิดการศึกษา และเกิดการสื่อสารให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นว่า มันเป็นทางออกที่เหมาะสมกับประเทศหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก

ผมเชื่อว่าถ้าประชาชนจะมีทางเลือกมากขึ้น เขาก็จะกล้าเดินหน้าปฏิรูปต่อไป แม้อาจจะไม่ใช่วงใหญ่มาก แต่คิดว่าถ้ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีการขยายตัว มันก็จะพากันให้เกิดวงที่กว้างขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์




กำลังโหลดความคิดเห็น