xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายข้อ 6.9

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

นายกรัฐมนตรีคนใหม่สร้างประวัติศาสตร์การแถลงนโยบายที่ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีคนใดก่อนหน้าด้วยลีลาอันแพรวพราวไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา นโยบายที่น่าอภิปรายมากที่สุดแต่ดูเหมือนจะไม่มีการอภิปรายกันเลยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติคือนโยบายรัฐบาลข้อ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อ 6.9 ที่อยู่ในหน้า 10 ของเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี

"ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงการดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก และดำเนินการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งจากการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงและจากพลังงานทดแทนทุกชนิด ด้วยวิธีการเปิดเผย โปร่งใส และเป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม พร้อมกับร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาพลังงาน"

ขออนุญาตขีดเส้นใต้เพื่อเน้นตรงประโยคสำคัญที่สุด

"...รวมถึงดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก"

หมายถึงการจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ชะงักมาตั้งแต่ประมาณ 2 ปีก่อนใช่หรือไม่ ?

แม้ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้อรรถาธิบาย โดยในการอ่านนโยบายข้อนี้ท่านก็ไม่ได้เน้นในประเด็นที่ผมขีดเส้นใต้ ดูเหมือนจะพูดรวม ๆ แล้วข้ามประโยคสำคัญนี้ไปด้วยซ้ำ แต่ในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาในวันเดียวกันของดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพูดตรง ๆ ชัดเจนเลยครับว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จภายในอายุรัฐบาลชุดนี้

“สิ่งแรกที่จะดำเนินการให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการต่ออายุสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงในอีก 5-6 ปีข้างหน้าของแหล่งเอราวัณ และบงกช ในอ่าวไทย...”

ผมพูดและเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วตั้งแต่ปี 2555 และล่าสุด ณ ที่นี้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนี่เอง วันนี้ยังขอยืนยันความเห็นเดิม

ขอความกรุณาทบทวนให้รอบคอบก่อน !

เพราะถ้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ไปตามกฎเกณฑ์ “ระบบสัมปทาน” เดิม ๆ ตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่เรียกว่า THAILAND 3 มันจะผูกพันประเทศไปอีก 20 (+ 10) ปี คืออายุสัมปทานผลิต 20 ปี ได้สิทธิต่ออายุสัมปทาน 1 ครั้งอีก 10 ปี และก่อนหน้ายังมีอายุสัมปทานสำรวจอยู่ 6 ปี รวมจริง ๆ แล้วก็ 36 ปี ยาวนานมากทีเดียว

หากผลประโยชน์ที่จะตกแก่แผ่นดินมันน้อยกว่า “ระบบแบ่งปันผลผลิต” ที่ภาคประชาชนเสนอให้นำมาใช้แทน ไม่ว่าจะปีละกี่พันกี่หมื่นหรือถึงหลักแสนล้านบาทก็ตาม เมื่อนำมาคูณด้วยตัวเลขจำนวนปีในย่อหน้าก่อน ไม่ว่าจะเป็น 20 หรือ 30 หรือ 36 แล้วแต่กรณี มันจะมีผลลัพธ์มากมายมหาศาลมาก

เรื่องผลประโยชน์นี้ถกเถียงกันมานาน ภาคประชาชนบอกว่าผลตอบแทนจากระบบสัมปทานเดิม ๆ ที่รัฐได้นั้นน้อยเกินไป แต่ภาครัฐบอกว่าได้พอดีๆ แล้ว หากลงรายละเอียดไปจะพบว่ามีตัวเลขที่แต่ละฝ่ายเสนอมาไม่เหมือนกัน ภาคประชาชนบอกว่ารัฐได้แค่ 29 % มีเศษทศนิยมนิด ๆ คือ 29.9 % เอาเป็นว่ากลม ๆ คือไม่ถึง 30% แต่ภาครัฐบอกว่านั่นเป็นตัวเลขที่เข้าใจผิดเพราะไม่ได้หักต้นทุนการผลิตของผู้รับสัมปทาน ตัวเลขที่รัฐได้รับจริง ๆ คือ 55 – 59% ซึ่งสูงกว่าที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้เสียอีก ถือว่าเหมาะสมแล้ว

ตัวเลขที่ภาคประชาชนกับภาครัฐแสดงออกมามันต่างกันเยอะมาก

ถ้าตัวเลขของภาคประชาชนถูกต้อง ประเทศไทยก็ได้ผลประโยชน์น้อย โดยเฉพาะเมื่อนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมอื่น ๆ ในโลกนี้เขาได้รับในปัจจุบัน

ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อ 2 ปีก่อนได้เคยศึกษาเรื่องนี้ พบว่าตัวเลขของภาคประชาชนกับภาครัฐที่เสนอออกมาและแตกต่างกันมากนักถูกต้องทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดผิด เพราะเป็นตัวเลขที่คิดกันคนละอย่าง

ภาคประชาชนไม่พลาดหรืออคติต่อรัฐขนาดคิดตัวเลขผิดหรอก ผลประโยชน์ที่ชาติได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมรวมกันแล้วประมาณนี้แหละ “29 - 30 เปอร์เซ็นต์...” แต่ที่ภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโต้แย้งมาตลอดก็คือชาติเราได้ถึงประมาณ “55 - 59 เปอร์เซ็นต์...” ก็ไม่พลาดถึงขนาดยกเมฆตัวเลข แต่จงใจหยิบยกตัวเลขที่มาจากฐานคิดที่ต่างกัน

ตัวเลขของภาคประชาชนนั้นคำเต็มๆ คือ “29 - 30 เปอร์เซ็นต์...ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาผลิตและขายไป” แต่ของภาครัฐคำเต็มๆ คือ “55 - 65 เปอร์เซ็นต์...เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับที่ผู้รับสัมปทานได้กำไรไปจริง” ถูกทั้งคู่ เพียงแต่ว่าเราควรจะใช้ฐานคิดไหน

ตัวเลขที่รัฐแสดงนี้ก็เพื่อเปรียบเทียบด้วยว่าผู้รับสัมปทานได้ไป “เพียง” 35 - 45เปอร์เซ็นต์ “เท่านั้น” นี่คือแทคติคที่ทำให้เห็นว่าผู้รับสัมปทานได้น้อยกว่าจริง ๆ

แต่แท้จริง ตัวเลขที่ผู้รับสัมปทานได้น้อยกว่ารัฐนั้นก็เพราะรัฐหัก “ต้นทุนการผลิตทั้งหมด” ให้ผู้รับสัมปทาน

ซึ่งฟังผ่าน ๆ ก็ดูเป็นธรรมดา เป็นเกณฑ์ทั่วไป ก่อนจะคำนวณภาษีก็ต้องหักต้นทุนหักค่าใช้จ่ายก่อน แต่ที่มันไม่ธรรมดาก็เพราะจะมีคำถาม 2 คำถาม ที่ทำให้เรายิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากลใน “ระบบคิด” ของรัฐไทยที่เป็นรัฐทุนไม่ใช่รัฐประชาชน

คำถามที่ 1 เป็นคำถามเชิงรายละเอียดธรรมดาว่ามีวิธีคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร เวอร์ไปหรือเปล่า ประเด็นนี้ไม่ได้รับคำตอบ เพราะเปิดเผยไม่ได้ (ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กฎหมายคู่กับพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก...)

คำถามที่ 2 เป็นคำถามเชิงปรัชญาที่เกิดขึ้นในการประชุมของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ว่า รัฐไทยปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ด้านหนึ่งให้ความเป็นธรรมตามเกณฑ์ทั่วไปให้กับผู้รับสัมปทานซึ่งถือเป็นผู้ “ลงทุน” หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนมาคำนวณภาษี แต่อีกด้านหนึ่งไฉนไร้ความเป็นธรรมแก่ชาติแก่แผ่นดิน ทำไมไม่ตีราคาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้แผ่นดินภายใต้อาณาเขตสยามประเทศที่บรรพบุรุษรักษามาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตเป็น “ต้นทุน” ด้วยล่ะ ชาติไทยไม่ใช่ได้ผลประโยชน์มาฟรี ๆ แต่เราต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ถ้าเก็บไว้มันก็ไม่เน่าไม่เสียนี่ไม่คิดเป็นค่าตีราคาเป็นรูปแบบของการ “ลงทุน” ด้วยหรือ

ถ้าคิดค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทานอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่เวอร์ และคิดทรัพยากรปิโตรเลียมเป็น “ต้นทุน” ของประเทศไทยด้วย ตัวเลขสัดส่วนผลประโยชน์ที่เราได้จะไม่ใช่ 55 – 59 % อย่างที่รัฐแสดงแน่ ตัวเลขสัดส่วนกับผู้รับสัมปทานก็จะไม่ใช่ 55 - 59 : 41 - 45 แน่ อาจจะกลับข้างกันด้วยซ้ำ

นี่เป็นเพียงอย่างที่แสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็น “...ในทะเล” ที่หากเป็นไปด้วยการเดินหน้าตามแนวเอ็มโอยู 2544 คือให้ค่ากับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาขีดละเมิดอธิปไตยทะเลอาณาเขตเกาะกูดโดยไม่มีพื้นฐานวิชาการและกฎหมายรองรับเท่าที่ควรเมื่อปี 2515 มันจะเป็นผลให้มี “พื้นที่ทับซ้อน” ที่ต้อง “แบ่ง” ผลประโยชน์กันมากเกินความเป็นจริง

ก่อนตัดสินใจ ต้องตอบทุกคำถามให้ได้ชัดเจนก่อน !
กำลังโหลดความคิดเห็น