xs
xsm
sm
md
lg

เวทีปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนไล่บี้ “ปตท.” คืนท่อก๊าซฯ ในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีการปฏิรูปพลังงานซึ่งจัดโดยชมรมวิศวะ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย ไล่บี้ “ปตท.” คืนท่อก๊าซในทะเลให้รัฐ เหตุสัมปทานอยู่ในเขต ศก.จำเพาะครอบคลุม 200 ไมล์ทะเล ชี้ชัดต้องเป็นของคนไทย พร้อมตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อก๊าซฯ จาก ปตท.มาไว้

นางสิริพร ไศลสูต วิศวกรจุฬาฯ 2507 และอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ การปฏิรูปพลังงานเพื่อประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งจัดโดยชมรมวิศวะ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) วันนี้ (26 ส.ค.) ว่า ข้อเสนอของชมรมวิศวะ จุฬาฯ ต้องการให้ ปตท.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล โดยท่อบนบกควรเรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่วางท่อตามแนวท่อทั้งหมด และท่อในทะเลต้องส่งมอบคืนรัฐ

“ในเมื่อแปลงสัมปทานอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยตามประกาศเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2524 ครอบคลุม 200 ไมล์ทะเล ท่อเป็นอุปกรณ์ที่ต่อจากหลุมควรจะเป็นของใคร เป็นคำถามง่ายๆ มันก็ต้องเป็นของคนไทย ดังนั้น ปตท.ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ต้องโอนทั้งท่อบนบกและทะเล บนบกต้องจ่ายค่าเช่าเพราะวันนี้ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนเพราะได้แปรรูปไปแล้ว วันนั้น ปตท.ใช้อำนาจรัฐ เพราะปิโตรเลียมที่เรามีเป็นทั้งเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นยุทธปัจจัย” นางสิริพรกล่าว

ควรจัดตั้งองค์กรปิโตรเลียมแห่งชาติใหม่รัฐถือหุ้น 100% รับโอนท่อก๊าซจาก ปตท.ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถร่วมใช้ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐ รวมทั้ง ปตท.เองก็ต้องจ่ายด้วยตามอัตราที่รัฐกำหนด และขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงฯ เปิดเผยสัญญาสัมปทานทั้งหมด พร้อมขอให้ยุติการออกสัมปทานในรอบใหม่จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบสัมปทานให้เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่สัมปทานไทยแลนด์ I กำลังจะหมดอายุและมีแหล่งสำรองปิโตรเลียมสูงต้องให้เปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างผลิตเพื่อความมั่นคง

“แปลงสัมปทานที่จะหมดสัมปทานปี 2558-2562 คือแหล่งเอราวัณ และบงกช ให้เปลี่ยนเป็นสัมปทานรับจ้างผลิต เพราะที่ผ่านมาเขาผลิตมานานมากเรียกว่าคุ้มทุนที่เหลือคือกำไรแล้วผลประโยชน์ควรตกที่รัฐ และควรที่จะจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระสำรวจปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงอีกด้านว่าสำรองปิโตรเลียมของไทยมีเท่าใดจริงกันแน่ ไม่ใช่รอข้อมูลจากผู้รับสัมปทานที่อาจไม่ได้แจ้งจริงก็ได้” น.ส.ศิริพรกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตปิโตรเลียมในไทยแบ่งเป็น Thailand I เป็นระบบสัมปทาน Thailand II เป็นระบบสัมปทาน และแหล่งพัฒนาพื้นที่ไทยมาเลเซีย หรือ JDA ซึ่งเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC และหากมองประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้เปลี่ยนเป็นระบบ PSC หมดแล้วเพราะได้รับประโยชน์มากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น