หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะการดำเนินการเกี่ยวกับท่อก๊าซ ควรหาข้อยุติในข้อกฎหมาย เมื่อโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาแล้ว ให้รัฐซื้อสาธารณูปโภคผูกขาดที่เหลือ ออกมาจาก ปตท. ตามมูลค่าทรัพย์สิน และให้องค์การของรัฐเป็นผู้บริหารกำหนดกติกาอย่างเสมอภาค
วันนี้ (26 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ เพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าสู่การปฏิรูปด้วยความมั่นคงนั้น ขณะนี้เริ่มมีปัญหาบางเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากละเลยไปจะเกิดความขัดแย้งที่อาจขยายตัวเป็นวงกว้างได้ เช่น เรื่องพลังงาน เรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร โดยประเด็นร้อนที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการดำเนินการเกี่ยวกับท่อก๊าซ ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะชะลอการแยกบริษัทท่อก๊าซตามข้อเสนอของ ปตท. เพราะศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษา ในปี 2550 ให้แยกระบบท่อก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง แต่จนถึงบัดนี้ ปตท. กลับยังคงถือกรรมสิทธิ์อยู่
“การที่ ปตท. เสนอให้แยกบริษัทท่อก๊าซออกมาก่อน ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะทำให้ระบบท่อก๊าซกลับมาเป็นของรัฐ แต่ความจริงแล้วอาจไม่เกิดความเป็นธรรมในระบบพลังงาน เพราะ ปตท. เป็นผู้ประกอบการที่ใช้ท่อเป็นรายหลัก หากให้ ปตท. เป็นผู้กำหนดกติกาการใช้ ก็จะสามารถอาศัยอำนาจเหนือตลาดที่ตนเองมีอยู่เก็บค่าบริการสูง และสามารถใช้เทคนิคการโอนราคา เพื่อลดต้นทุนในส่วนอื่นได้ ซึ่งจะเป็นการทำให้มูลค่าของบริษัทท่อ สูงจากการอาศัยอำนาจการผูกขาด ในที่สุดกระทรวงการคลังต้องเข้ามาซื้อหุ้นในราคาแพง ซึ่งเป็นภาระของประชาชนทั้งประเทศ แต่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ปตท.” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่า ขั้นตอนที่น่าจะดำเนินการควรจะเป็น ได้แก่ 1. หาข้อยุติในข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของระบบท่อทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีที่ยังมีการโต้แย้งอยู่ว่า มีระบบท่อส่วนใดที่เป็นสาธารณสมบัติแต่ยังไม่ได้มีการโอนกลับคืนมา 2. เมื่อโอนทรัพย์สินถูกต้องครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ให้รัฐดำเนินการซื้อทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคผูกขาดที่เหลือ ออกมาจาก ปตท. โดยควรซื้อตามมูลค่าทรัพย์สิน มิใช่การซื้อหุ้น โดยประเมินราคาจากความสามารถในการทำรายได้ของท่อที่มีการผูกขาด เพราะ ปตท. มีสิทธิเฉพาะในทรัพย์สิน แต่ไม่มีสิทธิใช้อำนาจการผูกขาดในการหารายได้ 3. เมื่อท่อกลับคืนมาเป็นของรัฐแล้ว ให้องค์การของรัฐเป็นผู้บริหาร กำหนดกติกาเกี่ยวกับการใช้ท่อสำหรับทุกรายอย่างเสมอภาค รวมทั้งเป็นธรรมกับประชาชนในฐานะผู้ใช้ก๊าซด้วย เชื่อว่า หากทุกฝ่ายพิจารณาตามหลักการนี้ น่าจะลดช่องว่าง หรือความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ รัฐบาลควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้การดำเนินการไปตามหลักการนี้เป็นไปได้ยากขึ้น