“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” เผยราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันแหล่งสงขลาแจ้งหยุดผลิตเพิ่มอีก 1 แท่น จากเดิมหยุดไปแล้ว 2 แท่น ส่วนรายอื่นๆ ยังไม่มีแจ้ง คาดบอร์ด กพช.เดือน พ.ค.นี้เตรียมพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ 2 แหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกชที่จะหมดอายุช่วงปี 65-66 ว่าจะใช้แนวทางใด
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ตกต่ำขณะนี้ส่งผลให้มีการหยุดผลิตแล้วของแหล่งน้ำมันสงขลา ซึ่งมีบริษัท CEC อินเตอร์เนชั่นนอล จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน โดยก่อนหน้านี้ได้หยุดดำเนินการชั่วคราวไปแล้ว 2 แท่นผลิตจากทั้งหมด 5 แท่นที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 1.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และล่าสุดได้แจ้งที่จะหยุดเพิ่มอีกแท่นที่ 3 ในเร็วๆ นี้ ทำให้กระทบต่อปริมาณน้ำมันหายไปเกือบ 2,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้เหลือปริมาณน้ำมันที่ผลิตเพียง 6,000 บาร์เรลต่อวัน โดยส่วนหนึ่งปริมาณสำรองได้ลดลงด้วย ส่วนการเจาะหลุมผลิตเพิ่มขึ้นคงจะมีลดลงซึ่งจุดนี้อาจจะกระทบต่อปริมาณสำรองปิโตรเลียมในปี 2561 ให้ลดต่ำได้ โดยขณะนี้ประเมินว่าปิมาณสำรองก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะใช้ได้ต่ออีกเพียง 5 ปีเท่านั้น
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือน พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการเสนอแนวทางการดำเนินงาน 2 แหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุสัมปทานช่วงปี 2565-66 คือ แหล่งเอราวัณ ซึ่งมีบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ซึ่งมี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เป็นผู้รับสัมปทานเพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ยังคงมีอยู่หลังหมดอายุสัมปทานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
“ทาง กพช.คงจะต้องให้นโยบายมาก่อน กรมฯ จึงจะไปดำเนินงานในขั้นปฏิบัติได้ซึ่งภายใต้กฎหมายที่มีการหารือก็จะมีระบบที่มาจัดการ 3 รูปแบบ คือ ระบบสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC) และรับจ้างผลิต ซึ่งการเสนอก็จะมีการชี้ให้เห็นว่าแต่ละระบบมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เช่น PSC จะต้องมีการเจรจาให้ชัดเจนถึงผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนให้ชัดเจนก่อนที่จะลงทุน แต่ระบบสัมปทานจะเขียนกำหนดไว้เลยเอกชนจะตัดสินใจได้ง่ายกว่า เป็นต้น” นายวีระศักดิ์กล่าว
สำหรับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดต่ำกรมฯเห็นว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเปิดสำรวจฯภายในปีนี้ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวงพลังงานเนื่องจากค่าเช่าชุดขุดเจาะถูกลงค่อนข้างมากจากเคยสูงถึง 1.2 แสนเหรียญสหรัฐต่อวัน เหลือเพียง 6-7 หมื่นเหรียญฯ ต่อวัน ขณะที่กว่าจะสำรวจเจอและผลิตได้ใช้เวลา 4-5 ปีราคาน้ำมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจ กรมฯ คงจะกำหนดแต่ละแหล่งไปเลยว่าควรจะใช้ระบบใดระหว่างสัมปทาน PSC และรับจ้างผลิต