xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ย้ำต้องทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม หนทางเดียวคนไทยจะได้ใช้น้ำมันถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” ชมคำสั่งงดการส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราว ถือเป็นความพยายามแก้ปัญหาพื้นฐานที่ดี แต่ไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืน ย้ำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เน้นเอื้อผู้รับสัมปทาน ต้นตอน้ำมันแพง ยันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนไทยจะได้ใช้น้ำมันถูก หากไม่แก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวชนิดทบทวนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn หัวข้อ “เร่งทบทวนระบบสัมปทานเถิดท่านนายกฯตู่” ตามข้อความดังนี้

“ไม่แน่ใจว่าการเปิดเผยของรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ว่าหัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี ขอให้งดส่งออกปิโตรเลียมเป็นการชั่วคราว มีสาระรายละเอียดที่เป็นทางการอย่างไร

จะเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 61 หรือไม่

“ในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ หรือเพื่อให้มีปิโตรเลียมเพียงพอกับความต้องการใช้ในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามส่งปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ทั้งหมด หรือบางส่วนออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามส่งไป ณ ที่ใดเป็นการชั่วคราวได้”

น่าจะยังเป็นเพียงการหารือและขอร้องเฉยๆ ก่อน

แต่ก็เหมาะสมกับการเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้ของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันนี้ เพราะถือเป็นความพยายามแก้ปัญหาพื้นฐานที่ดี

คงเป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง หากเป็นการใช้ปิโตรเลียมที่ผลิตในประเทศทั้งหมด

แต่ก็ต้องบอกว่าจะยังมีข้อติดขัดอยู่ดี

เพราะระบบสัมปทานปิโตรเลี่ยมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2514 โดยใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 24 เมษายน 2514 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้มีโอกาสใช้ในประเทศในราคาถูก เพราะบัญญัติไว้ในมาตรา 64 (2) ว่า

“ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร”

นอกจากให้สิทธิผู้รับสัมปทานส่งออกปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดแล้ว พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ยังระบุไว้ว่าหากจะขายภายในราชอาณาจักรให้คิดราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในมาตรา 57(1) และ (2) และมาตรา 58(1) ตามราคาตลาดโลก ดังนี้

“ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร” - มาตรา 57(1)

“ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนปฏิทินที่แล้วมา...” - มาตรา 57(2)

“ในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักร ให้ผู้รับสัมปทานขายในราคาดังต่อไปนี้ (1) ราคาที่ตกลงกับคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี แต่ราคาที่ตกลงกันนั้นต้องไม่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของคุณภาพและค่าขนส่งด้วย” - มาตรา 58(1)

กฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออก เพราะถึงจะให้ขายในราชอาณาจักรได้ก็ให้ขายในราคาตลาดโลก

คำว่า “ไม่เกิน” และ “ไม่สูงกว่า” ในทั้ง 3 อนุมาตราที่ยกมา คุ้มครองผู้บริโภคในราชอาณาจักรเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมแต่เดิมเพียงไม่ให้ต้องบริโภคทรัพยากรของตัวเอง แต่เดิมในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกเท่านั้น

อาจเกิดคำถามขึ้นมาตรงนี่ว่าทรัพยากรขุดได้ในราชอาณาจักรแท้ๆ ทำไมยังต้องซื้อขายกันในราคาตลาดโลก แล้วเราจะมีทรัพยากรไว้ทำอะไร

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เมื่อเราให้สัมปทานไปก็เท่ากับยกกรรมสิทธิ์ให้ผู้รับสัมปทานไปตลอดอายุสัมปทาน หาใช่กรรมสิทธิ์ของเราไม่ กฎหมายก็ต้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์

นี่แหละคือปัญหาของระบบสัมปทานที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้ทบทวน

จะมีกรณีเดียวที่การขายปิโตรเลียมในราชอาณาจักรจะถูกลงกว่าราคาตลาดโลก ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(3) ในกรณีของน้ำมันดิบ และมาตรา 58(2) ในกรณีของก๊าซธรรมชาติเท่านั้น

“ในกรณีที่น้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั่วราชอาณาจักรมีปริมาณถึงสิบเท่าขึ้นไปของความต้องการใช้ในราชอาณาจักร ให้ขายในราคาที่มีกำไรตามสมควร โดยคำนึงถึงข้อตกลงที่เทียบเคียงกันได้ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่” - มาตรา 57(3)

“ในกรณีที่ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั่วราชอาณาจักรมีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ภายในราชอาณาจักร ให้ขายในราคาที่มีกำไรตามสมควร โดยคำนึงถึงกรณีแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งมวล และข้อตกลงที่เทียบเคียงกันได้ในประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่”

เงื่อนไขทั้งสองไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะโดยข้อเท็จจริงเราผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้ไม่พอใช้ในประเทศ

จะเห็นได้ชัดเจนว่าในกรณีของน้ำมันดิบนั้นกฎหมายเขียนไว้โหดมาก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนไทยจะได้ใช้น้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก

ถึงจะให้งดการส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราว ก็ยากที่จะให้ราคาน้ำมันภายในประเทศถูกลงได้หากไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ชนิดทบทวนใหม่หมด

และก่อนจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระบบสัมปทานตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น